“ทักษะ” กับ “ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

“ทักษะ” กับ “ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

หลายคนอาจรู้สึกว่า ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดย World Economic Forum

 ในปีนี้ ตกจากอันดับ 38 เป็น 40 แต่เมื่อดูลึกลงไปถึง 12 เสาหลักที่เป็นรายละเอียดของการประเมิน จะพบว่าใน “ข่าวร้าย” นี้ยังมีทั้ง “ข่าวดี” และ “ข่าวร้ายกว่า” อยู่ด้วย

ข่าวดี คือแม้อันดับโดยรวมของไทยจะลดต่ำลง 2 อันดับ แต่คะแนนโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านสุขภาพโดยรวมของคนทั้งประเทศ ด้านเทคโนโลยีไอซีที ด้านพลวัตรทางธุรกิจ และด้านความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ทั้ง 4 เสาหลักนี้ ประเทศไทยมีคะแนนที่สูงขึ้น และมีอันดับที่ดีขึ้นทั้งสิ้น

ส่วนข่าวร้ายที่ร้ายกว่าอันดับที่ลดลง มีหลายเรื่องที่ควรดูให้ลึกลงไป กล่าวคือ มี 2 เสาหลักที่ไทยมี “คะแนนสูงขึ้น” แต่กลับมี “อันดับเท่าเดิม หรือลดต่ำลง” เช่น มูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยแม้จะดีขึ้น แต่กลับมีอันดับเท่าเดิม ซึ่งแปลว่ามูลค่าเศรษฐกิจเติบโตขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นคะแนนที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้สะท้อนความสามารถในทางเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มขึ้นเหนือประเทศอื่น ๆ อีกเรื่องคือ ตลาดเงินตลาดทุน ที่แม้ไทยจะมีคะแนนดีขึ้น แต่อันดับกลับตกลงไปถึง 2 อันดับ คือจาก 14 เป็น 16 ซึ่งสะท้อนว่าไทยยังต้องเร่งอัตราการพัฒนาในด้านนี้ให้มากขึ้นไปอีกเพื่อให้แข่งขันกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มชั้นนำของโลกได้ เพราะอันดับที่ลดลงในเรื่องนี้ ทำให้ไทยตกจาก “10% แรก” ของโลก ซึ่งเสาหลักนี้เป็นสิ่งที่ไทยเคยทำได้ดีอยู่แล้ว และจำเป็นต้องรักษาอันดับในกลุ่มนี้ไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน

ข่าวร้ายกว่าอีกเรื่องซึ่งถือว่าร้ายแรง เพราะส่งผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ คือ “โครงสร้างพื้นฐาน” และ “ทักษะของคน” โดย 2 เสาหลักนี้ ปรากฏว่าประเทศไทยลดลงทั้งคะแนน และอันดับ โดยแม้คะแนนโครงสร้างพื้นฐานจะลดลงเพียง 2 คะแนน แต่อันดับลดลงไปถึง 11 อันดับ ส่วนทักษะของคน แม้คะแนนจะลดลงเพียง 1 คะแนน แต่อันดับกลับลดต่ำลงถึง 7 อันดับเลยทีเดียว

อันที่จริงเสาหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยมีเรื่องดีเด่นติดอันดับต้น ๆ ของโลกถึง 2 เรื่อง คือการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชน กับความสามารถในการเชื่อมต่อของสนามบิน แต่ด้านที่ทำให้คะแนนแย่ลงในปีนี้มี 2 เรื่องหลัก ๆ คือ ประสิทธิภาพในการให้บริการของท่าเรือ กับ ความเชื่อถือได้ของระบบน้ำและประปา ซึ่งแม้ 2 เรื่องนี้จะมีคะแนนลดลงเพียงเล็กน้อย แต่อันดับกลับลดลงไปอย่างมาก แปลว่าประเทศอื่น ๆ มีการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ไปในอัตราที่ก้าวหน้า จึงถือเป็นเรื่องที่ไทยจำเป็นต้องเร่งอัตราการพัฒนาให้เท่าทัน หรือล้ำหน้าไปให้ยิ่งกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก

ส่วนเสาหลักด้านทักษะพบว่า มี 3 เรื่องใหญ่ที่ไทยลดลงอย่างมากทั้งอันดับและคะแนน คือ “ค่าเฉลี่ยจำนวนปีในการศึกษาหาความรู้ของผู้ใหญ่” (คนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป) มีคะแนนลดลงอย่างมาก ส่งผลให้อันดับตกลงไปถึง 8 อันดับจาก 88 เป็น 96 ซึ่งสะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาและส่งเสริมกลไกการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญกลไกเหล่านั้นต้องเปิดให้คนวงกว้างสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป เรื่องถัดมาก็คือ “ชุดทักษะของบัณฑิต” ซึ่งมีอันดับลดลงถึง 18 อันดับ จาก 61 เป็น 79 ซึ่งอาจเรียกว่าถึงขั้น “ร่วง” ก็ว่าได้ ในเรื่องนี้ถือเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อสถาบันอุดมศึกษาให้ถึงขั้นต้อง“รื้อ” หลักสูตรต่าง ๆ ให้มุ่งพัฒนา “ทักษะ” ที่จะติดตัวบัณฑิตไปในการทำงานประกอบอาชีพ มากกว่าที่จะมุ่งให้ “ความรู้” ที่ไม่เพียงแต่ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว 

หากแต่ยังเป็นสิ่งที่สามารถค้นคว้าหาได้ด้วยตัวเองอย่าง่ายดาย เรียกได้ว่า “ความรู้อยู่ที่ปลายนิ้ว” เพราะไม่ว่าจะสนใจหาความรู้เรื่องใด เพียงใช้ปลายนิ้วกดค้นหาจากอุปกรณ์ดิจิตอลแบบพกพาก็สามารถหาเจอได้ทางอินเตอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ สิ่งที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ พึงทำ คือ ต้องยกเครื่องหลักสูตรต่าง ๆ ให้ลดการเรียนในห้องเรียน ไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง ไปสู่การฝึกฝนทักษะของศตวรรษที่ 21 จนเกิดความเชี่ยวชาญ และกลายเป็นคุณลักษณะที่ติดตัวไปใช้ได้จริง เรื่องสุดท้ายคือ “ทักษะดิจิตอลของประชาชน” ซึ่งลดลงถึง 5 อันดับ ถือเป็นปัญหาสำคัญเพราะเป็นทักษะสำคัญในโลกยุคปัจจุบันทั้งการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิต ทั้งการสื่อสาร บันเทิง ช้อปปิ้ง ไปจนถึงการเงิน และการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น ชุดทักษะของบัณฑิต และทักษะดิจิตอลเป็นทักษะที่มีคะแนนลดลงติดต่อกันหลายปี และถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆที่ต้องเร่งจัดการแก้ไขให้ได้โดยเร็ว

ปัญหาเรื่อง “ทักษะ” ก็ต้องจัดการด้วย “ทักษะ” หรือ “TUXSA” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ Skilllane สตาร์อัพชั้นนำด้านการเรียนรู้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เปิดกว้างให้คนทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย เข้าถึงในเวลาใดก็ได้ จากสถานที่ใดก็ได้ จะเรียนเพียงเพื่อรู้ หรือเพื่อพัฒนาทักษะที่ขาดหาย ทักษะที่ล้าสมัย หรือสร้างทักษะสมัยใหม่ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกก็ได้ หรือจะเรียนเพื่อความรู้แล้วสะสมหน่วยกิตไปเพื่อรับปริญญาในอนาคตก็ย่อมได้

ส่วนหลักสูตรในอนาคตต้องเป็นการบูรณาการ “การเรียนในชั้นเรียน” กับ “การเรียนออนไลน์” ที่ต้องประสมกลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก หมายความว่าจะเลือกเรียนวิชาใดแบบในชั้นเรียนก็ได้ วิชาใดแบบออนไลน์ก็ได้ บางเทอมอาจจะเรียนในชั้นเรียนมากหน่อย หรือบางเทอมอาจจะเรียนออนไลน์มากกว่าก็ได้ นอกจากนี้ การเรียนก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเรียนรวดเดียวติดต่อกันจนจบปริญญาตามหลักสูตร นักศึกษาสามารถเบรกออกมาทำอะไรที่สนใจแล้วค่อยกลับมาเรียนต่อ หรือเป็นสตาร์ทอัพไป เรียนออนไลน์ไปด้วยก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หลักสูตรสมัยใหม่ต้องมีความยืดหยุ่นสูงมากพอที่จะอนุญาตให้สามารถนำโปรเจค หรือโครงการต่าง ๆ ที่นักศึกษาไปทำจริงมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตตามหลักสูตรได้อีกด้วย

“หลักสูตรแห่งอนาคต” ที่กล่าวถึงข้างต้นต้องเกิดขึ้นจริง และต้องเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหา “ทักษะ” ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งกว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ล่าช้าไม่ได้โดยเด็ดขาด หน่วยงานแรกที่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็คือหน่วยงานด้านนโยบาย และหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ เพราะหากหน่วยงานเหล่านี้ยังทำงานบนฐานคิดเดิมก็ไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคในการสร้าง และยกระดับทักษะของคนในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังอาจถ่วงการพัฒนา จนถูกประเทศอื่น ๆ ที่ล้าหลังแซงหน้าไปอีกมากมายก็ได้

นอกจากนี้ การสนับสนุนของรัฐบาลยังต้องเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีอิสระดำเนินการได้อย่างคล่องตัว แล้วประเมินกันที่ผลสำเร็จ และความคุ้มค่าในการดำเนินการมากกว่าที่จะไปสร้างกฎระเบียบจุกจิกมาครอบรัดจนมหาวิทยาลัยมิอาจดำเนินการได้ตามแผนงานและเป้าหมาย ทั้งนี้หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ รัฐบาลก็จึงค่อยงด หรือลดการสนับสนุนในปีต่อไป ทำเช่นนี้ก็จะเป็นไปตามหลักความรับผิดรับชอบ (Accountability) และยังลดภาระงานของรัฐบาลลงอีกด้วย ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ขอฝากไปถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลอุดมศึกษาโดยตรงด้วย

โอกาสหน้ามาคุยกันต่อว่าประเทศไทยควรจะเรียนรู้เรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านใดจากเพื่อน สำคัญ 2 คนในอาเซียน คือ “สิงคโปร์” ที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ กับ “เวียดนาม” ที่มีอัตราพัฒนาที่ก้าวหน้าสูงที่สุดในโลกในช่วงปีที่ผ่านมา

โดย... รศ.เกศินี วิฑูรชาติ

อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์