ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ข่าวดีก่อนสิ้นปีด้านท่องเที่ยวของไทยก็คือ ในปี 2562

WEF (World Economic Forum) ซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนีว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว จากทั้งหมด 140 ประเทศ ได้ประกาศผลการจัดลำดับการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งขยับมาอยู่ในตำแหน่งที่ 31 จากเดิมอยู่ในลำดับที่ 34 เมื่อปี 2560 นับเป็นความก้าวหน้าที่น่ายินดี

ดัชนีนี้ประกอบด้วยตัวชี้วัด 14 กลุ่มย่อยซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่สูงกว่าลำดับที่ 70 จาก 140 ประเทศถึง 10 กลุ่ม มีเพียง 4 กลุ่มเท่านั้นที่เรายังทำได้ไม่ดี แต่ทั้ง 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สำคัญมาก ได้แก่

1.กลุ่มสุขภาพและสุขอนามัย เราได้ตำแหน่งที่ 88 ของโลกจาก 140 ประเทศ ทั้งๆ ที่เราคาดหวังว่าจะเป็นเมดิคัล ฮับ อย่างน้อยที่สุดก็ในกลุ่มเอเชีย สำหรับดัชนีในกลุ่มนี้ประเทศผู้นำในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 16 ของโลก เหตุที่เราได้ลำดับต่ำในกลุ่มนี้ก็เพราะว่า เราติดปัญหาจำนวนแพทย์ต่อประชากร และมีจำนวนเตียงต่อคนป่วยค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโรคระบาดในประเทศ ได้แก่ โรคเอดส์และโรคมาเลเรีย 

2.ด้านความปลอดภัยและความมั่นคง เราได้ตำแหน่งที่ 111 จากทั้งหมด 140 ประเทศ ในกลุ่มนี้ไทยอยู่ลำดับต่ำกว่า 70 ในทุกหมวดย่อยของกลุ่ม เช่น ต้นทุนทางธุรกิจอันเกิดจากอาชญากรรมและความรุนแรง เราได้ตำแหน่ง 87 ความเชื่อถือได้ของระบบตำรวจ และบริการตำรวจไทยเราตกลงจากลำดับ 60 ไปเป็นลำดับที่ 107 นับเป็นการร่วงหล่นอย่างรุนแรงมากต้นทุนทางธุรกิจว่าด้วยการก่อการร้าย เราอยู่ในตำแหน่งที่ 115 และดัชนีว่าด้วยการก่อการร้ายเราอยู่ในตำแหน่งที่ 133 ตกลงไปจากตำแหน่งที่ 126 เมื่อสองปีที่แล้ว (ปี 2560) 

3.กลุ่มดัชนีที่เรามีปัญหามากที่สุด ได้แก่ กลุ่มความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเราได้ลำดับที่ 130 ตกลงมาจากลำดับที่ 122 เมื่อสองปีก่อน ในกลุ่มนี้ตัวที่มีปัญหามากที่สุดสามารถคาดเดาได้คือเรื่องมลพิษจากฝุ่นขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งเราอยู่ในลำดับที่ 131 ตกลงมาจากลำดับที่ 126 ตัวที่มีปัญหารองลงมาได้แก่ การคุกคามต่อชีวิตของพืชและสัตว์ ซึ่งเราได้ลำดับที่ 111 และความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งเราได้ลำดับที่ 104 ตกลงมาจากลำดับที่ 100 เมื่อสองปีที่แล้ว ที่จริงแล้วตัวชี้วัดในกลุ่มนี้เป็นหัวใจของการขายการท่องเที่ยว แสดงว่า ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าเรายังไม่สามารถแก้ไขหรือหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังในเร็ววัน ก็อาจจะถึงวันที่เราขายสินค้าท่องเที่ยวไม่ได้ในที่สุด ในกลุ่มนี้ประเทศที่ได้หนึ่งก็คือ นิวซีแลนด์ซึ่งใช้คำโฆษณาประเทศว่า นิวซีแลนด์เพียว (Pure) ซึ่งนับว่าเหมาะสมกับสมญานามอย่างยิ่ง

4.ปัญหาด้านการเดินทางภายในประเทศ เราอยู่ในลำดับที่ 72 และตัวชี้วัดที่มีปัญหาที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ ตัวชี้วัดด้านการเดินทางภาคพื้นดินซึ่งเราอยู่ในลำดับที่ 89 ในเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองเพราะการเชื่อมต่อระหว่างรถสาธารณะและรถไฟของเราไม่สะดวกอย่างยิ่ง เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางไปถึงแต่ละจังหวัดแล้วก็ไปต่อไม่ถูก ถ้าไม่เช่ารถตู้

แผนผังแสดงความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวของประเทศไทย พ.ศ. 2562

157413835918

ที่มา: World Economic Forum (2019). The Travel and Tourism Competitiveness Report 2019. Geneva: World Economic Forum.

สำหรับกลุ่มตัวชี้วัดที่เราทำได้ดีมากก็จะเป็นกลุ่มที่ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราอยู่ในลำดับ 10 แต่ก็ตกมาจากลำดับ 7 ประเทศที่เป็นที่หนึ่งในกลุ่มนี้ได้แก่ ประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นที่ 3 ของโลกอีกด้วย กลุ่มถัดมาที่ไทยอยู่ในลำดับสูงคือ การเดินทางโดยอากาศยาน เราอยู่ในลำดับที่ 22 เราได้คะแนนค่อนข้างสูงในด้านของจำนวนอากาศยานที่ใช้งานอยู่ รวมทั้งจำนวนที่นั่งต่อกิโลเมตรของสายการบินภายในและต่างประเทศ แต่ที่น่าสนใจในกลุ่มนี้คือ เวียดนาม เป็นประเทศที่มีการพัฒนาตัวเองสูงสุดในด้านการเดินทางโดยอากาศยานภายในประเทศถัดมาก็คือความสามารถในการแข่งขันด้านราคาซึ่งเราอยู่ในลำดับที่ 25 ตกจากลำดับที่ 18 เนื่องจากราคาโรงแรมของเราสูงขึ้น อาจเป็นเพราะค่าเงินบาทเราแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกสองกลุ่มคือกลุ่มตัวชี้วัดที่เราทำได้ค่อนข้างดีคือ กลุ่มตัวชี้วัดว่าด้วยทรัพยากรมนุษย์ ตลาดแรงงาน และกลุ่มตัวชี้วัดด้านการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทาง ซึ่งเราได้ตำแหน่งที่ 27 ทั้งคู่สำหรับกลุ่มทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงานนั้นประเทศที่เป็นที่ 1 คือสิงคโปร์ ส่วนในด้านการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นประเทศที่ได้คะแนนและลำดับสูงสุดก็คือ สิงคโปร์เช่นกัน แต่ที่เราได้คะแนนค่อนข้างสูงก็เพราะว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากโดยเฉพาะมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องของการทำแบรนด์ประเทศนี้ น่าสนใจตรงที่ว่าเราได้คะแนนอยู่ในลำดับที่ 72 ตกลงจากลำดับที่ 68 ทั้งๆ ที่ค่าคะแนนเราสูงขึ้น แต่ลำดับเราลดลง ซึ่งหมายความว่ามีประเทศอื่นที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้และทุ่มเทมากกว่าเรา

การค้าขายด้านการท่องเที่ยวก็เหมือนกับการขายสินค้าที่ต้องมีการแข่งขัน ดังนั้น การรู้เขารู้เราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อเราได้รู้เขาและรู้เราจากดัชนีพวกนี้แล้ว สิ่งที่เราจะต้องปรับปรุงก็เป็นเรื่องที่ตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขอนามัย

ไม่มีสินค้าอะไรที่เราจะขายได้โดยไม่มีต้นทุนหรอกค่ะ อีกทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และเรื่องความปลอดภัย เมื่อรัฐบาลลงทุนแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์ก่อนก็คือคนไทยด้วยกันนะคะ รัฐจึงควรเอารายได้จากการท่องเที่ยวมาพัฒนาสาธารณูปโภค พัฒนาเมือง และขยายกำลังรองรับนักท่องเที่ยว อย่าปล่อยให้นักท่องเที่ยวมาแย่งใช้ทรัพยากรที่จำกัดอยู่แล้ว เพราะจะทำให้การท่องเที่ยวของเราไม่สมประโยชน์และไม่มีความยั่งยืน