การมองอนาคตด้วยวิธี การกวาดสัญญาณเชิงลึก (จบ)

การมองอนาคตด้วยวิธี การกวาดสัญญาณเชิงลึก (จบ)

ในบทความที่ผ่านมา การใช้เครื่องมือ การกวาดสัญญาณเชิงลึก (Deep Horizon Scanning) จะช่วยให้นักอนาคตศาสตร์ทราบได้ว่า ฉากภาพของอนาคตเป้าหมาย

ที่ต้องการ จะเป็นรูปแบบของ อนาคตที่มีโครงสร้างชัดเจน หรือเป็นรูปแบบของ อนาคตที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน ด้วยวิธีการมองอนาคต (Foresight) ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

ขั้นตอนต่อไปในการใช้เครื่องมือ การกวาดสัญญาณเชิงลึก ได้แก่ การสร้าง กรอบอนาคต (Futures Frame) ซึ่งจะเริ่มจากการวิเคราะห์ ระดับความซับซ้อน (Complexity) ของทั้ง อนาคตที่มีโครงสร้างชัดเจน และ อนาคตที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน

การวิเคราะห์ ระดับความซับซ้อน ของภาพอนาคต ทำได้โดยการวิเคราะห็สถานการณ์ตามคำถาม 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ท่านสามารถระบุความสัมพันธ์ระหว่าง “สาเหตุ” (ตัวแปรต้น) และ “ผลที่จะเกิดขึ้น” (ตัวแปรตาม) ต่อฉากภาพอนาคตที่ต้องการได้อย่างชัดเจนหรือไม่? เนื่องจากในบางปรากฏการณ์จะไม่สามารถแยกแยะตัวแปรต้นและตัวแปรตามได้อย่างชัดเจน เช่น อาจเกิด ตัวแปรแทรกซ้อน ตัวแปรส่งผ่าน หรือ ตัวแปรกำกับ ขึ้นได้ในปรากฏการณ์นั้นๆ
  2. ท่านสามารถระบุองค์ความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นใหม่สำหรับฉากภาพอนาคตที่ต้องการ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีองค์ความรู้นั้นอยู่ ได้หรือไม่?
  3. ท่านสามารถระบุได้หรือไม่ว่าฉากภาพอนาคตที่ต้องการสามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในฉากภาพอื่นๆ ที่มีนักอนาคตศาสตร์ได้สร้างขึ้นไว้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาตั้งแต่ในปัจจุบัน?
  4. ท่านสามารถระบุได้หรือไม่ว่าฉากภาพอนาคตที่ต้องการ จะไม่ได้รับอิทธิพลหรือเกิดการหมิ่นเหม่ในประเด็นด้านศีลธรรม จริยธรรม และค่านิยม หรือสามารถแบ่งแยกประเด็นเกี่ยวกับค่านิยมทางสังคมออกจากฉากภาพอนาคตที่ต้องการได้อย่างชัดเจน?
  5. ท่านสามารถระบุระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) และหน่วยวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ของประเด็นหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องในฉากภาพอนาคตที่ต้องการได้อย่างชัดเจนหรือไม่? ระดับของการวิเคราะห์ อาจแบ่งเป็น ระดับบุคคล ระดับองค์กร ระดับชุมชน หรือ ระดับมหภาพ เป็นต้น

การวิเคราะห์ ระดับความซับซ้อน ด้วยการวิเคราะห์และตอบคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ อาจต้องใช้วิธีสอบถามหรือสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเฉพาะด้าน เนื่องจากเป็นประเด็นที่ค่อนข้างลึกซึ้ง หรืออาจใช้วิธีการระดมสมองจากคนกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน ต่อคำถามทั้ง 5 ข้อ ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”

เมื่อได้คำตอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะง่ายขึ้น โดยเมื่อได้คำตอบว่า “ใช่” ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป จะแสดงว่า ฉากภาพอนาคตที่ต้องการ เป็นฉากภาพที่ชัดเจนหรือมีความซับซ้อน ต่ำ แต่หากได้คำตอบว่า “ใช่” น้อยกว่า 3 ข้อ จะแสดงว่า อนาคตที่ต้องการ เป็นอนาคตที่มีความซับซ้อน สูง

นักอนาคตศาสตร์จะมีทางเลือกในการเลือกใช้เครื่องมือการมองอนาคต (Foresight Tools) ที่เหมาะสม โดยการดูความต้องการของหน่วยงานหรือองค์กรว่า ต้องการใช้เทคนิคการมองอนาคตด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการ “ออกแบบอนาคต” ให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือที่ต้องการ หรือ เพื่อการ “วิเคราะห์อนาคต” เพื่อเตรียมการในการรับมือกับอนาคตในฉากภาพต่างๆ

ในกรณีของ อนาคตที่มีความซับซ้อนต่ำ และมีวัตถุประสงค์เพื่อ การวิเคราะห์ อาจเลือกใช้เครื่องมือในกลุ่มของ การคาดการณ์หรือการพยากรณ์อนาคต (Futures Projection)

ในกรณีของ อนาคตที่มีความซับซ้อนต่ำ และมีวัตถุประสงค์เพื่อ การออกแบบ อาจเลือกใช้เครื่องมือในกลุ่มของ การกำหนดทิศทางอนาคต (Futures Formulation)

ในกรณีของ อนาคตที่มีความซับซ้อนสูง และมีวัตถุประสงค์เพื่อ การวิเคราะห์ อาจเลือกใช้เครื่องมือในกลุ่มของ การเปรียบเทียบหรือปรับแต่งอนาคตจากข้อมูลปัจจุบัน (Futures Calibration)

ในกรณีของ อนาคตที่มีความซับซ้อนสูง และมีวัตถุประสงค์เพื่อ การออกแบบ อาจเลือกใช้เครื่องมือในกลุ่มของ การจินตนาการอนาคต (Futures Ideation)

รายละเอียดของเครื่องมือการมองอนาคตในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ อาจหาดูได้จากหนังสือ เครื่องมือการมองอนาคต (Foresight Tools)” ซึ่งจัดทำโดย สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม(IFI) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในบทความนี้