บาทแข็ง:วิกฤตการส่งออกข้าวไทย

บาทแข็ง:วิกฤตการส่งออกข้าวไทย

ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2523 ติดต่อกันมาตลอด จนถึงปี 2554

โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าตลาด ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อภาวะ การผลิต การค้า การส่งออกข้าวไทย เป็นภาวะวิกฤติของการค้าการส่งออกข้าวไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อต้นทุนข้าวสูงขึ้น ข้าวไปอยู่ในสต๊อกของรัฐเกือบหมด ผู้ส่งออกหาข้าวส่งมอบให้ผู้ซื้อไม่ได้ และปัญหาคุณภาพข้าวบางส่วนที่ด้อยลง ผู้ซื้อในต่างประเทศจึงหันไปซื้อข้าวจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นมากขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลง คือ ปี2555 ไทยส่งออกได้ 6.97 ล้านตัน ตกลงมาเป็นอันดับ 3 อินเดียส่งออกได้10.65 ล้านตัน เป็นอันดับ 1  เวียดนามส่งออกได้ 7.73 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 ปี2556 ไทยส่งออกได้7.05ล้านตัน เป็นอันดับ2  เวียดนามที่ส่งออกได้6.75 ล้านตันเป็นอันดับ 3  อินเดียส่งออกได้10.57ล้านตันเป็นอันดับ 1 

ปี2557 เมื่อรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ในเดือน ก.ค. 2557 ก็เริ่มบริหารจัดการระบายข้าวข้าวในสต๊อกจากโครงการรับจำนำที่มีประมาณ 17 ล้านตันเศษ และเจรจาหรือเข้าประมูลขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐบาลหลายประเทศ การค้าข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดเกือบปกติ ผู้ส่งออกกล้าเจรจาเสนอขายข้าวให้ลูกค้าเดิม เพราะมั่นใจว่า สามารถจัดหาข้าวส่งมอบให้ผู้ซื้อได้

ปี 2557 - 2561 การส่งออกข้าวของไทยเข้าสู่ภาวะเกือบปกติปกติ ปี 2557 ไทยส่งออกได้ 10.96 ล้านตัน ปี 2558 ส่งออกได้ 9.79 ล้านตัน ปี 2559 ส่งออกได้ 9.90 ล้านตัน ปี2560 ส่งออกได้ 11.67 ล้านตัน ปี 2561 ส่งออกได้ 11.08 ล้านตัน

แต่ในปี 2562 มีสัญญาณบ่งชี้ว่าว่า การส่งออกข้าวไทยคงมีปัญหาอีกแล้ว ปริมาณการส่งออกในแต่ละเดือนตั้งแต่ตนปีลดลงตลอด คาดว่า สิ้นปี จะส่งออกได้ประมาณ 8. 5 ล้านตันไม่ถึงเป้าหมาย 10 ล้านตัน เนื่องจากปรากฏว่า ประเทศส่งออกข้าวหลายประเทศส่งออกข้าวมากได้มากขึ้น โดยเฉพาะอินเดียที่มีผลผลิตมากส่งออกข้าวนึ่งในราคาถูกกว่าข้าวไทยได้มากขึ้น

สาเหตุอีกประการ 1  คือราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ปกติราคาข้าวไทยก็มีราคาสูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้วโดยเฉพาะเวียดนามคู่แข่งหลัก เช่นข้าวขาว 5%์ ตามตัวเลขของ FAO ในปี 2560 ข้าวขาว 5% ข้าวไทยราคาfob เฉลี่ยตันละ 398 ดอลลาร์ ข้าวขาว5% เวียดนามราคาfob เฉลี่ยตันละ 372  ดอลลาร์ข้าวไทยแพงกว่าข้าวเวียดนามตันละ 26 ดอลลาร์ ในปี 2562 เดือน ม.ค. ข้าวขาว 5% ข้าวไทยตันละ 410 ดอลลาร์ ข้าวเวียดนามตันละ 354 ดอลลาร์ ข้าวไทยแพงกว่าข้าวเวียดนามตันละ 56 ดอลลาร์ เดือน ต.ค.ข้าวขาวไทย 5% ตันละ 424 ดอลลาร์ ข้าวเวียดนาม ตันละ 338 ดอลลาร์ ข้าวไทยแพงตันละ 86 ดอลลาร์ นอกจากข้าวขาวแล้ว ปัจจุบันเวียดนามหันมาส่งออกข้าวหอมและข้าวนุ่มมากขึ้น แม้ข้าวหอม ความหอมจะสู้ข้าวหอมของไทยไม่ได้ แต่ราคาถูกตันละประมาณ 700 ดอลลาร์ ส่วนข้าวพันธ์ุนุ่ม ราคาตันละประมาณ 500 ดอลลาร์ ขณะที่ข้าวหอมไทยราคาตันละ 1,000 - 1,100 ดอลลาร์

ในสภาวะปกติผู้ส่งออกข้าวไทย จะเสนอขายข้าวในราคาตลาดโลก โดยพยายามรักษาระดับราคาไม่ให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าข้าวเวียดนามมากเกินไป แต่ เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่ามาตลอด จากเดิมในปี 2558 หนึ่งดอลลาร์เท่ากับ 35 บาท ในปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก 1 ดอลลาร์เท่ากับ 30 บาท การแข็งค่าของเงินบาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถลดราคาข้าวเพื่อสู้กับเวียดนามหรือคู่แข่งอื่นได้ แม้ราคาข้าวของประเทศคู่แข่งจะลดลงจากเดิมก็ตาม ดังเหตุผลและข้อเท็จจริงตามตัวอย่างต่อไปนี้ คือ

ใน ปี 2560 ข้าวขาว5% ของไทย ราคาตันละ 398 ดอลลาร์ เมื่อส่งออกไป 1 พันตัน จะได้ค่าข้าว 398,000 ดอลลาร์ ส่งออกเดือน ม.ค.2560 เ อัตราแลกเปลี่ยน(ธนาคารกรุงเทพฯ ณ 11 ม.ค.2560) 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ34.44 บาท จะได้เป็นเงินบาท เท่ากับ 13,707,120 บาท ในปี 2562 ผู้ส่งออกยืนราคาส่งออกข้าวขาว5% เท่าราคาในปี 2560 ส่งออกไป 1 พันตัน จะได้เงินค่าข้าว 398,000 ดอลลาร์ เท่าเดิม ถ้าเป็นการส่งออกในเดือนม.ค. 2562 อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 ม.ค.2562 เงิน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 30.73 จะได้เป็นเงินบาท 12,230,540.0 บาท ทั้งที่ราคาส่งออกที่ขายเป็นดอลลาร์ เท่ากับปี 2560 แต่จะได้ค่าข้าวเป็นเงินบาทน้อยลง 1,476,580 บาท ถ้าเป็นการส่งออกในเดือน ต.ค. 2562 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 29.26 บาท จะได้ค่าข้าวเป็นเงินบาท 11,645,480.0 บาท น้อยลงกว่าเดิมถึง 2,061,640 บาท หนีการขาดทุนไม่พ้น หากลดราคาส่งออกลง จะยิ่งขาดทุนมากขึ้น

จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจะทำให้ผู้ส่งออกได้ราคาข้าวเป็นเงินบาทน้อยลง ตามสัดส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นดังตัวอย่างข้างต้น เพื่อไม่ให้ส่งออกแล้วขาดทุน นอกจากไม่อาจลดราคาส่งออกให้ใกล้เคียงกับคู่แข่งแล้ว อาจต้องขึ้นราคาส่งออกอีกด้วย ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจึงเป็นตัวการที่ทำให้ข้าวไทยแพงกว่าข้าวคู่แข่งขึ้นไปอีก จึงทำให้ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงจากที่ประมาณการไว้ เป็นวิกฤตของการส่งออกข้าวไทยอีกครั้งหนึ่งจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาก

หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งมากเกินไปโดยเร็ว จะส่งผลกระทบต่อการค้าส่งออกข้าวของไทยในระยะยาวที่ยากจะแก้ไขเยียวยาได้ เมื่อข้าวไทยยังมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ผู้ซื้อก็จะหันไปซื้อจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่าแม้คุณภาพจะสู้ข้าวไทยไม่ได้ และถ้าผู้บริโภคได้บริโภคข้าวจากประเทศอื่นมากขึ้นบ่อยขึ้น จนชินในรสชาติ ก็อาจจะไม่หวนกลับมาซื้อและบริโภคข้าวไทยที่มีราคาแพงก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่า การปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งมาก เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการส่งออกข้าวไทย ต่อชาวนาไทยอย่างมหันต์