อนาคต Brexit บนหนทางของความไม่แน่นอน

อนาคต Brexit บนหนทางของความไม่แน่นอน

อนาคตของ Brexit ที่พอเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หลังจากที่สหภาพยุโรป(อียู) เห็นชอบการขอขยายเวลาจากสหราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 31 ม.ค. ปีหน้า

ในทางปฏิบัติยังถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันของความไม่แน่นอนจากรัฐสภาสหราชอาณาจักรที่มีกำหนดจัดการเลือกตั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้าในวันที่ 12 ธ.ค. 2562 ทำให้ขณะนี้พรรคการเมืองน้อยใหญ่ในสหราชอาณาจักรเร่งรณรงค์หาเสียงและนำเสนอนโยบายที่ตนคิดว่าดีที่สุด เพื่อหาทางให้ประเทศออกจากสถานการณ์ Brexit ที่คาราคาซังมาหลายปี โดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษจากพรรคอนุรักษนิยมแสดงความมั่นใจว่าเขาจะชนะการเลือกตั้งและจะนำประเทศออกจากอียูให้เร็วที่สุดภายในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดี ขั้วการเมืองอื่นที่นำเสนอนโยบายแตกต่างไปก็ยังคงได้รับความสนใจไม่น้อยจากประชาชน ดังนั้น เรายังคงต้องจับตามองกันต่อไปว่า การเลือกตั้งจะผ่าทางตันของ Brexit หรือสลายวัฏจักรของความไม่คืบหน้าของ Brexit ได้หรือไม่ 

ภายใต้ร่างความตกลงถอนตัวฉบับปัจจุบัน ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (transition period) หลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียูแล้วแต่ยังมีสถานะเหมือนเป็นสมาชิกเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีเวลาปรับตัว จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ซึ่งตรงกับการสิ้นสุดกรอบงบประมาณ 7 ปีของอียู โดยทั้งสองฝ่ายสามารถขยายเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านได้ไม่เกิน 2 ปี แต่ต้องลงมติเห็นชอบภายใน 1 ก.ค. 2563 ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียูและพันธกรณีต่างๆ ของอียูภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่อียูเป็นภาคี รวมถึงความตกลงขององค์การการค้าโลก และความตกลงทวิภาคีระหว่างอียูกับประเทศที่สาม

ในขณะเดียวกัน สหราชอาณาจักรสามารถเริ่มเจรจาความตกลงการค้าใหม่ๆ กับประเทศที่สามได้ แต่ความตกลงจะไม่สามารถมีผลบังคับใช้จนกว่าระยะเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลงยกเว้นได้รับความเห็นชอบจากอียู ทั้งนี้ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าสหราชอาณาจักรได้เริ่มเจรจาความตกลงการค้ากับสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งในอดีตสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น เนื้อไก่ล้างคลอรีน (chlorine-washed chicken) และเนื้อวัวที่ขุนด้วยฮอร์โมน (hormone-fed beef) ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดร่วมอียูเนื่องจากมาตรฐานสุขอนามัยพืชและสัตว์ของอียูที่เคร่งครัด โดยอียูเองก็แสดงความกังวลต่อการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรในอนาคตโดยเกรงว่าสหราชอาณาจักรจะผ่อนคลายกฎระเบียบของตนและเป็นช่องทางให้สินค้าที่มีมาตรฐานต่ำสามารถผ่านเข้าสู่อียูได้ ซึ่งนายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าฝ่ายค้านจากพรรคแรงงาน ก็ได้ใช้ประเด็นดังกล่าวโจมตีนายจอห์นสัน โดยระบุว่านี่คือ “Trump-deal Brexit” อย่างไรก็ดี โฆษกของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร และชนบทของสหราชอาณาจักร (Department of Environment, Food, and Rural Affairs หรือ DEFRA) ได้ออกมารับรองว่าสหราชอาณาจักรจะพัฒนามาตรฐานสุขอนามัยของพืชและสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นเมื่อถอนตัวออกจากอียูในฐานะผู้นำด้านการค้าประเทศหนึ่งของโลก

นอกจากการเจรจาความตกลงการค้าฉบับใหม่ ประเทศที่สามที่เกี่ยวข้องยังอาจใช้ประเด็นผลกระทบของ Brexit ต่อพันธกรณีด้านการค้าระหว่างประเทศของอียูเพื่อขอเจรจาต่อรองกับอียูและสหราชอาณาจักร โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ได้พยายามเรียกร้องต่ออียูเพื่อเจรจาแก้ไขความตกลงการค้าที่มีระหว่างเกาหลีใต้กับอียู อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินใจแน่วแน่โดยย้ำว่าหากมาตราใดของความตกลงที่อียูมีกับประเทศที่สามเกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักรโดยตรงก็จะยอมรับการแก้ไขในเชิงเทคนิคได้ แต่จะไม่ยอมรับการเจรจาต่อรองใหม่ในสาระสำคัญ

ในระหว่างที่โลกคอยติดตามสถานการณ์การเมืองภายในของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิดและตั้งตารอคอยผลการเลือกตั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้า ทุกฝ่ายต่างเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อให้กระบวนการการถอนตัวของ สหราชอาณาจักรเป็นไปอย่างราบรื่นและส่งผลกระทบต่อประเทศตนน้อยที่สุด โดยในส่วนของอียูได้จัดตั้ง U.K. Task Force โดยมีหัวหน้าทีมเจรจาคนสำคัญอย่างนาย Michel Barnier ซึ่งคาดว่าน่าจะรับตำแหน่งหัวหน้าทีมเจรจาด้านความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างอียูและสหราชอาณาจักร รวมถึงความตกลงทางการค้าภายหลังสหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียู โดยนาย Barnier ตอกย้ำความสำคัญของประเด็นต่างๆ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ความเท่าเทียมกันด้านการแข่งขัน มาตรฐานเกี่ยวกับการจ้างงานและสังคม สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และการจัดเก็บภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ดี ความตกลงทางการค้าระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรอาจจะไม่แล้วเสร็จภายในปี 2563 เนื่องจากความตกลงอาจมีลักษณะของ “mixed agreement” ที่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาของประเทศสมาชิกและสภาท้องถิ่นในยุโรปรวมกว่า 40 สภา นอกเหนือจากสภายุโรป

ส่วนในประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการค้า อาทิ ความตกลงทางการบิน และความตกลงด้านการประมง รัฐบาลของสหราชอาณาจักรได้เริ่มหาความตกลงที่จะเข้ามาแทนที่หลังจากความตกลงที่สหราชอาณาจักรมีกับประเทศที่สามในฐานะประเทศสมาชิกอียูสิ้นสุดลง โดยปัจจุบันสหราชอาณาจักรมีความตกลงทางการบินกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอีก 8 ประเทศ มีความตกลงด้านการประมงกับหลายประเทศ และมีความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์กับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและแคนาดา เป็นต้น

นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมของทั้งสองฝ่ายให้ Brexit เกิดขึ้นอย่างเรียบร้อย สถานการณ์ No-deal Brexit ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้น้อยที่สุดในขณะนี้ก็ยังคงละเลยไปไม่ได้ การที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลงนั้นจะส่งผลให้ความตกลงทางการค้าต่างๆ ที่สหราชอาณาจักรมีในฐานะประเทศสมาชิกอียูสิ้นสุดลงทันทีโดยไม่มีระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรได้ทำความตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ อาทิ ประเทศแถบเทือกเขาแอนดีส หมู่เกาะแฟโร ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ เป็นต้น ที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ออกจากอียูแล้ว สำหรับประเทศที่สามที่ยังไม่มีความตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักร รวมถึงไทยนั้น สินค้ากว่า 87% ที่ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรจะเสียภาษีศุลกากรชั่วคราวตามหลักการ MFN (Most Favoured Nation) เป็นเวลา 1 ปีภายใต้ข้อผูกพันใน WTO ซึ่งหมายถึงสินค้าจากประเทศที่สามที่ไม่มีความตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรทุกประเทศ รวมถึง 27 ประเทศสมาชิกอียูและประเทศที่มีความตกลงทางการค้ากับอียู จะต้องเสียภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกัน ทำให้มีความเท่าเทียมในการแข่งขันและเป็นโอกาสของประเทศนอกอียูที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของประเทศสมาชิกอียูเดิม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทยเพราะสินค้าของไทยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เช่น อัญมณี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น จากเดิมที่ไทยอาจเคยเสียเปรียบประเทศอื่นๆ เพราะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) หรืออัตราภาษีพิเศษภายใต้ความตกลงทางการค้ากับอียู นอกจากนี้ ยังคาดว่าหลังจาก Brexit สหราชอาณาจักรจะปรับกฎระเบียบการค้าและการลงทุนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและสร้างความต่อเนื่องให้ภาคการผลิตและการค้าภายในประเทศ รวมทั้งสหราชอาณาจักรจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping) ที่อียูเรียกเก็บกับสินค้าไทย 4 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ตาข่ายใยแก้ว รถลากพาเล็ท และข้อต่อท่อเหล็กอบเหนียวสลักเกลียว ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 18 ของไทย และอันดับที่ 3 ในอียู การค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรคิดเป็นมูลค่ารวม 3,829 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ ไก่แปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เป็นต้น นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ชี้ว่าอุตสาหกรรมไทยที่อาจมีความอ่อนไหวและต้องเตรียมความพร้อมต่อการถอนตัวของสหราชอาณาจักร ได้แก่ ยา เครื่องมือแพทย์ และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากกระบวนการและกฎระเบียบด้านศุลกากรและการตรวจสอบมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรจะมีความเข้มงวดมากขึ้นและคาดว่าจะมีกฎระเบียบใหม่ออกมาบังคับใช้กับการส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู

กรมเจรจาฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับอียูและสหราชอาณาจักรเรื่องการปรับโควตาภาษีใหม่ภายใต้ข้อผูกพัน WTO เพื่อให้ไทยได้รับการจัดสรรโควตาของอียูและสหราชอาณาจักรภายหลัง Brexit รวมกันไม่น้อยกว่าที่ไทยได้จากอียูในปัจจุบัน และสะท้อนปริมาณการค้าขายจริง โดยไทยได้ยื่นขอสิทธิในการเจรจาขอรับการจัดสรรโควตาใหม่จากอียูภายใต้กรอบ WTO เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 และอียูได้ตอบรับให้ไทยมีสิทธิในการเจรจาเรื่องการจัดสรรโควตาซึ่งครอบคลุมสินค้าเกษตร 31 รายการประกอบด้วยสัตว์ปีก 9 รายการ ข้าว 9 รายการ มันหวาน มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังรวม 4 รายการ ปลาและกุ้งแปรรูป 6 รายการ อาหารสำเร็จรูป พาสต้า และบิสกิต 3 รายการ และเมื่อเดือน มี.ค. 2562 ไทยได้ยื่นขอสิทธิในการเจรจาขอรับการจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรจากสหราชอาณาจักรภายใต้กรอบ WTO โดยครอบคลุมสินค้าเกษตร 30 รายการ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก 10 รายการ ข้าว 7 รายการ มันหวาน มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์รวม 3 รายการ ปลาและกุ้งแปรรูป 6 รายการ อาหารสำเร็จรูป น้ำส้ม พาสต้า และบิสกิต 4 รายการ ซึ่งไทยกำลังเร่งรัดติดตามให้สหราชอาณาจักรตอบรับสิทธิในการเจรจาของไทย นอกจากนั้น ไทยยังมีแผนที่จะเจรจาความตกลงทางการค้ากับทั้งอียูและสหราชอาณาจักร

ดังนั้น การเตรียมพร้อมที่รัฐบาลและภาคธุรกิจไทยสามารถทำได้ระหว่างรอผลการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรในเดือนหน้า คือ การติดตามความเสี่ยงที่จะตามมาพร้อม Brexit อย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมืออย่างต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองภายในสหราชอาณาจักร โดยมีการคาดการณ์ผลลัพธ์ของ Brexit ภายหลังการเลือกตั้งหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 1) สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียูภายใน 31 ม.ค. 2563 หากพรรคอนุรักษ์นิยมของนายจอห์นสันได้รับเสียงข้างมากในสภา 2) การขอขยายเวลาและการขอเจรจาร่างความตกลงถอนตัวฉบับใหม่หากพรรคแรงงานของนายคอร์บินได้จัดตั้งรัฐบาล 3) การขอขยายเวลาเพื่อการลงประชามติครั้งที่ 2 ว่าประชาชนยังสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียูอยู่หรือไม่ หรือ 4) การสนับสนุนเอกราชของสก็อตแลนด์ ซึ่งทีมงาน Thaieurope.net จะคอยอัพเดทข่าวสารให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Brexit อย่างทันเหตุการณ์ โดยท่านสามารถติดตามผ่านช่องทางเว็บไซต์ Thaieurope.net หรือ Facebook Page: Thaieurope.net