ประเมินมูลค่าเชิงเปรียบเทียบ

ประเมินมูลค่าเชิงเปรียบเทียบ

หุ้นซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าบัญชีบริษัท แต่ราคาก็สามารถร่วงลงได้อีก

นักลงทุนเคยสงสัยบ้างมั้ยครับว่า นักวิเคราะห์ประเมินอย่างไรว่า ราคาหุ้นบริษัทที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง และคาดว่า ราคาหุ้นน่าจะสะท้อนข่าวด้านลบไปมาก หรือ ราคาหุ้นร่วงลงต่ำมาก ถูกมากเมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทที่หดตัวลดลงแล้ว

ถ้านักลงทุนพอจำได้ ผมเคยคุยเรื่องเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นที่ถูกในเชิงมูลค่า เช่น หุ้นพีอีต่ำมากเพียง 8 เท่า แต่ราคาหุ้นก็สามารถลงได้อีก หรือหุ้นซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าบัญชีบริษัท แต่ราคาก็สามารถร่วงลงได้อีก สิ่งเหล่านี้ในปัจจุบัน เรากำลังปรากฎการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับหุ้น กลุ่มวัฐจักร หรือ เรียกกันว่า Cyclical stocks

หุ้น Cyclical stock คือไร

Cyclical stock = หุ้นที่มียอดรายได้ และกำไรเชื่อมโยงไปกับวัฐจักรเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น หรือมีความสัมพันธ์สูงนั่นเองจากข้อมูลเชิงสถิติ ดังนั้น ราคาหุ้นกลุ่มเหล่านี้จะเคลื่อนตัวขึ้น หรือลง เปลี่ยนแปลงอย่างมากมายไปตามยอดรายได้ และยอดกำไรที่ขยายตัว หรือหดตัวได้มากนั่นเองครับ

แล้วประเภทหุ้นนั้นสำคัญอย่างไร

เราควรเข้าใจในประเภทธุรกิจของหุ้นที่เราลงทุน เพื่อประเมินว่าความเสี่ยง และผลตอบแทนสำหรับการสร้างพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มเหล่านี้เพื่อรอดพ้นจากภัยอันตรายในเวลาที่สถานะการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยนั่นเองล่ะครับ

อย่างงี้ แสดงว่าในช่วงที่นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเติบโตดีก็น่ามีหุ้นเหล่านี้ในพอร์ตของเราซิ นั่นคือ คำตอบที่ถูกต้องแล้วครับ

ราคาหุ้นมักสะท้อนสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังล่วงหน้าเสมอ

ผมคิดว่านักลงทุนคงเข้าใจทฤษฎีลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้แล้วใช่มั้ยครับ แต่ในทางปฎิบัติ นักวิเคราะห์ประเมินสิ่งเหล่านี้กันอย่างไร นักวิเคราะห์ และนักลงทุนสถาบันมักใช้ การประเมินมูลค่าเชิงเปรียบเทียบเข้ามาประกอบช่วยในการตัดสินใจด้วย นอกเหนือจากการประเมินมูลค่าของหุ้นบริษัทเพียงอย่างเดียว ขอให้จำ key word นี้ให้ได้นะครับว่า เราใช้การประเมินมูลค่าเชิงเปรียบเทียบประกอบกับวิธีอื่นๆ

การประเมินมูลค่าเชิงเปรียบเทียบ

การเปรียบเทียบแสดงว่า เราต้องมีตัวเลขมาตรวัดเพื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน เช่น ค่ากำไรต่อหุ้น หรือ P/E หรือค่าราคาต่อมูลค่าบัญชีต่อหุ้น หรือ P/BV หรืออัตราเงินปันผล dividend yield %

แต่อย่างไรก็ดี เรายังสามารถเทียบค่า P/E หรือ P/BV หุ้นบริษัทนั้นกับกลุ่มธุรกิจเดียวกัน หรือ เทียบค่า P/E หรือ P/BV ระหว่างกลุ่มธุรกิจ หรือเทียบกับตลาดโดยรวมได้ด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน

กรณีศึกษาปัจจุบัน นักลงทุนจะลองใช้แนวคิดนี้กับกลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มธนาคาร กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่เราสนใจได้หมดครับ

ข้อสำคัญสำหรับการเลือกลงทุน คือ ทิศทางธุรกิจ และ รายได้ กำไรต้องดูในขาดเสียก่อนว่าเป็นทิศทางขยายตัว หรือ หดตัว จากนั้นเราค่อยใช้การประเมินมูลค่าตัวหุ้นเองเทียบกับรายได้ กำไร หรือมูลค่าเงินปันผล และจบด้วยการใช้กลยุทธ์เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เราสนใจ กับตลาดโดยรวม ก็จะทำให้เรามองได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งก็จะเพิ่มความถูกต้องในการลงทุนได้มากขึ้นจากเดิม