มองข้ามไปปี 2563 หาหุ้น Turnaround

มองข้ามไปปี 2563 หาหุ้น Turnaround

หากการลงนามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนไม่เกิดขึ้นตามคาด อาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยเข้าสู่สถานการณ์ย่ำแย่ในปีหน้า

ปีที่ผ่านมาเป็นปีของหุ้น 'Momentum' หุ้นที่กำไรอ่อนแอ (ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัว) ราคาหุ้นก็ปรับลงเป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend) ส่วนหุ้นที่มีแนวโน้มราคาเป็นขาขึ้น (Uptrend) ส่วนใหญ่ก็เป็นหุ้นกลุ่มที่ผลการดำเนินงานไม่อ่อนไหวไปกับสภาวะเศรษฐกิจ อาทิเช่น หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร เป็นต้น และขณะที่ผมเขียนบทความฉบับนี้ (15 พ.ย.2562) การรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q62 กำไรของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวม (เฉพาะที่ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ ออกบทวิเคราะห์รวม 103 บริษัทฯ) ลดลง -22.9% YoY ซึ่งดัชนี SET index ก็ได้ปรับตัวสะท้อนภาพรวมของกำไรฯ ที่อ่อนแอไปตลอดทั้งปีแล้ว 

แม้ว่าธนาคารกลางหลายประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลในทำให้ระดับ Valuation ของตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยอยู่ในระดับที่พรีเมี่ยมกว่าในอดีต (PE สูงกว่าในอดีต) แต่ด้วยผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้ที่อ่อนแอนั้นทำให้ ระดับดัชนี SET index เคลื่อนไหวในรูปแบบ Sideway Down ไม่ปรับขึ้นตาม Valuation ที่พรีเมี่ยมขึ้น (ดัชนี SET index ลง แต่ PE ก็ยังสูง เพราะกำไรลดลงนั่นเอง) และจะเห็นได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นแต่ละประเทศในปีนี้เคลื่อนตัวแยกออกจากกันชัดเจน (Decouple) ระหว่างดัชนีตลาดหุ้นที่มีผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งกับอ่อนแอ

สำหรับปี 2563 นั้น สมมติฐานหลักคือ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน สามารถลงนามข้อตกลงการค้ากันได้ อย่างน้อยในเฟสแรก ซึ่งจะทำให้ลดแรงกดดันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทย เนื่องจากเราประเมินว่าการใช้มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆนั้นเป็นการกระตุ้นด้าน Aggregate Demand แต่ปัญหาสงครามการค้าในปัจจุบันเป็นปัญหาด้าน Aggregate Supply ซึ่งมาตรการการเงินไม่สามารถแก้ไขได้ กล่าวคือ แม้จะมีความต้องการซื้อสินค้า แต่ผู้ผลิตและห่วงโซ่อุปทานประสบปัญหากีดกันทางการค้า ผลสุดท้ายหากไม่สามารถปลดล๊อกสงครามการค้าได้ 

อาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Recession ได้ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุค ค.ศ.1970 ที่เฟดลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้น แต่ท้ายสุดกลับก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและ Recession ตามมา เพราะการลดดอกเบี้ยเป็นการกระตุ้นฝั่ง Demand แต่ไม่ได้ช่วยฝั่ง Supply (Oil price shocks = Supply shocks) (อ้างอิงบทความของ John H. Cochrane, 'The Fed can't fight a trade war: Central banks can stimulate demand, not supply', November 12, 2019) ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่เบื่อการติดตามข่าวการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนนั้น ผมแนะนำว่ายังควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยในปีหน้า กลับมาที่ภาพการลงทุนในปี 2563 หากสมมติฐหลักของเราเป็นจริง (มีการลงนามการค้าเฟสแรก) จะทำให้หุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมากในปีที่ผ่านมา อย่างหุ้นกลุ่มส่งออกและอิเล็กทรอนิกส์, หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์, หุ้นกลุ่มพลังงาน (โรงกลั่น) มีโอกาสที่ผลการดำเนินงานจะพลิกฟื้นได้ 

นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่ ดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ส่งผลให้ระดับ PE ratio ของตลาดหุ้นตามทฤษฎีแล้วควรที่จะยืนสูงกว่าระดับปกติในอดีต ดังนั้นหาก กำไรของบริษทจดทะเบียนที่เป็นตัวคูณในสมการ การหาราคาเหมาะสมของหุ้น ฟื้นตัวขึ้นมา เท่ากับว่าจะมีแรงส่งให้ราคาหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะ Turnaround เหล่านี้ ปรับขึ้นได้อย่างน่าสนใจในปีหน้า หุ้นเด่นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าฟื้นตัวในปีหน้าได้แก่ DELTA และ HANA, หุ้นเด่นในกลุ่มโรงกลั่นที่ฝ่ายวิจัยฯชอบได้แก่ ESSO และ SPRC, ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เลือก 4 ธนาคารใหญ่ ที่ Valuation ถูก ได้แก่ KBANK, BBL, SCB, KTB 

ในทางกลับกัน หากการลงนามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนไม่เกิดขึ้นตามคาด อาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยเข้าสู่สถานการณ์ย่ำแย่ในปีหน้าเช่นกัน และหุ้นกลุ่มที่คาดหวังการ Turnaround ข้างต้นก็จะยังถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และกลับเข้าสู่โหมดการลงทุนแบบเดิมๆที่เกิดขึ้นในปีนี้ ก็คือเม็ดเงินลงทุนหมุนเข้าสู่หุ้น Defensive, หุ้นปันผล, หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า เช่นเคย เพราะนักลงทุนไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าในสถานการณ์ที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากมาตรการการเงิน