กุนซือบนเก้าอี้เถ้าแก่

กุนซือบนเก้าอี้เถ้าแก่

ผู้บริหารกำหนดเป้าหมายอนาคตที่เป็นไปได้อย่างชัดเจน สามารถสื่อสารเข้าใจได้ เดินหน้าไปหาเป้าหมายกันได้ทุกคน

นักวิชาการกำหนดเป้าหมายที่อาจจะเป็นไปได้ในอนาคต เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อบุกเบิกไปสู่เรื่องใหม่ที่หลุดพ้นไปจากข้อจำกัด หรือปัญหาที่มีอยู่ดั่งเดิม หรือมีหนทางก้าวหน้าไปสู่เรื่องใหม่ๆ ถ้านักวิชาการตั้งเป้าอนาคตแบบเดิมๆ ก็ไม่ต้องมีการค้นคว้าวิจัยหาคำตอบอะไรใหม่ๆ กลายเป็นนักวิชาการที่ไม่ทำวิจัย หมดความสามารถในการบุกเบิกเรื่องใหม่ที่ท้าทายวงการนั้นอยู่

เราจึงพบการทำงานควบคู่กันระหว่างผู้บริหารกับนักวิชาการ คือคนหนึ่งตัดสินใจกำหนดเป้าหมายที่จะไปถึง อีกคนหนึ่งเสนอทางเลือกอนาคตที่น่าจะเป็นไปได้ นักวิชาการเสนอทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ ผู้บริหารตัดสินใจเลือกทางเลือกที่สามารถไปถึงได้ ภายใต้บริบทที่เป็นอยู่ หรือที่พอจะปรับเปลี่ยนได้สำหรับองค์กรนั้น ซึ่งก็มีบ้างที่การตัดสินใจของผู้บริหารอาจจะไม่ถูกใจนักวิชาการ โดยเฉพาะในประเด็นเป้าหมายที่นักวิชาการเห็นว่าน่าจะก้าวกระโดดไปไกลๆ ได้ ซึ่งนักวิชาการเชื่อมั่นตามผลการวิจัยของตน แต่ผู้บริหารเห็นว่าเป้าหมายไกลสุดขั้วเหล่านั้นไม่สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจ และทุ่มเททำงานไปสู่เป้าหมายนั้นได้

ธรรมชาติจึงสร้างความสมดุลย์นี้ไว้ให้ คือคนบางคนเหมาะสมที่จะเป็นกุนซือคิดค้นหาคำตอบใหม่ๆ ในขณะที่คนบางคนเหมาะสมที่จะเป็นเถ้าแก่ ตัดสินใจเลือกคำตอบใดๆ ที่จะนำมาใช้ว่าเหมาะสมกับบริบทที่กำลังบริหารอยู่หรือไม่ องค์กรจึงเดินหน้าไปได้ด้วยดี มีความก้าวหน้าที่ปราศจากความสับสนในการทำงานของผู้คน วงการบริหารงานบุคคลในแทบทุกวงการก็มีการกำหนดเส้นทางก้าวหน้าในการงานแยกสายกันระหว่างสายบริหาร กับสายวิชาการปรากฎให้พบเห็นกันอยู่เสมอ แต่จะมีบ้างที่ยอมให้มีการข้ามไปมาระหว่างสองสายนี้ได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวข้องกับวงการวิชาการเท่านั้น

ความวุ่นวายมักเกิดขึ้นถ้าเรื่องนั้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คือคนที่เกิดมาเป็นนักวิชาการ อยากทำหน้าที่ผู้บริหาร หรือคนที่เกิดมาไม่มีแววเป็นผู้บริหารตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย กลับต้องมาทำหน้าที่ผู้บริหาร ความวุ่นวายที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อกุนซือนั่งเก้าอี้เถ้าแก่ คนที่เกิดมาเป็นกุนซือ ถูกฝึกมาเป็นกุนซือยาวนาน ไม่ว่าจะนั่งเก้าอี้บริหารอะไรก็ตาม ยกเว้นวงการวิชาการ หรือวงการให้คำปรึกษา กุนซือก็ยังมีจริตเป็นนักวิชาการอยู่ดี การกำหนดเป้าหมายของกุนซือก็ยังคงเป็นแค่เป้าหมายที่อาจจะเป็นไปได้ เพื่อให้มีการบุกเบิกทางวิชาการตามผลการวิจัยที่ตนเองคุ้นเคย ซึ่งเราทราบกันดีว่าผลการวิจัยมีขึ้นได้ภายใต้การควบคุมบริบทให้อยู่ในกรอบขอบเขตของการวิจัย ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ในสถานการณ์หนึ่ง แต่อาจเป็นไปไม่ได้ในอีกสถานการณ์หนึ่ง เป้าหมายของกุนซือบนเก้าอี้เถ้าแก่จึงมักไกลเกินจริงในความเข้าใจของบุคลากร ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่นักวิชาการ จึงเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ใจคนทำงาน แต่คนทำงานต้องพูด และต้องทำตามเป้าหมายที่ตนเองไม่เชื่อ

นักวิชาการคุ้นเคยกับการประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ๆ เพื่อให้งานวิจัยของตนเองเป็นที่น่าสนใจ เพราะธรรมเนียมของวงการวิจัยในโลกนี้ คนเก่งคือคนที่เผยแพร่ผลงานวิจัยแล้วผู้คนนำไปอ้างอิงทำต่อกันไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ๆ ผลงานวิจัยก็ไม่น่าสนใจ ดังนั้นการสื่อสารเป้าหมายของกุนซือบนเก้าอี้เถ้าแก่จึงเต็มไปด้วยคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนทำงาน เลยทำงานกันไปตามความเข้าใจที่แตกต่างกัน กุนซือคุ้นเคยกับการสื่อสารในกลุ่มกุนซือ ซึ่งค้นหากันเองได้ว่าอะไรเป็นอะไร วันไหนที่กุนซือนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร วันนั้นองค์กรมีคำใหม่ๆ ให้ได้ยินกันเป็นประจำ ยิ่งเป็นวงการเยินยอนิยม ก็ยิ่งมีผู้บริหารเบอร์สองเบอร์สามที่ไม่ใช่นักวิชาการพากันพูดศัพท์แสงแปลกๆ ตามอย่างเบอร์หนึ่งกันมากมาย จนบางที่เอาบล็อกเชนไปปนกับเอไอกันแล้ว

วงการวิชาการมีการประชุมเพื่อให้ถกเถียงในทางวิชาการว่า ผลการวิจัยนั้นมีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง ตรงไหนตีความอีกอย่างหนึ่งได้เป็นอย่างไร การถกเถียงทำให้ผลการวิจัยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากปราศจากการวิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ ผลงานวิจัยนั้นย่อมด้อยคุณค่าลงไปมากมาย เป้าหมายของกุนซือบนเก้าอี้เถ้าแก่ปราศจากการวิจารณ์จากคนทำงาน เพราะลูกน้องไม่กล้าวิจารณ์ลูกพี่อย่างออกหน้าออกตา หรือจะเถียงก็เถียงสู้ไม่ได้ เพราะไม่คุ้นเคยกับเวทีถกเถียงแบบนักวิชาการ เป้าหมายขององค์กรภายใต้การบริหารโดยกุนซือ จึงเป็นเหมือนผลการวิจัยที่ไม่เคยเสนอประชุมวิชาการ ไปถึงแล้วอาจจะเป็นเส้นชัย หรืออาจเป็นแค่จุดตั้งต้นจุดใหม่เท่านั้น