ก้าวย่างสำคัญ ขนส่งดิจิทัลไทย 4.0

ก้าวย่างสำคัญ ขนส่งดิจิทัลไทย 4.0

ในยุคปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลได้ทวีบทบาทสำคัญต่อประชาคมโลกและมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับล่าสุด (e-Conomy SEA 2019 Report) โดยกูเกิล เทมาเส็ก และเบนแอนด์คอมพานี ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าทะลุหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ครั้งแรกในปีนี้ สำหรับในประเทศไทยเอง มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิตัลในปัจจุบันเติบโตสูงขึ้นถึง 29% นับตั้งแต่ปี 2558 ทั้งนี้ จากการที่กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีนโยบายผลักดันให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันหรือธุรกิจ Ride-hailing ดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมายภายในเดือนมีนาคม 2563 นั้นเรียกได้ว่ามาถูกที่ถูกเวลา การส่งเสริมธุรกิจบริการดังกล่าวในประเทศไทยครั้งนี้สะท้อน ให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมในปัจจุบัน

157370695328

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปริมาณความต้องการใช้บริการ Ride-hailing ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนนั้นเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวนผู้ใช้งานที่มีเพียง ล้านคนในปี 2558 พุ่งสูงขึ้นถึง เท่าจนในวันนี้มีผู้ใช้รวมกว่า 40 ล้านคน และในขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการกำหนดแนวทางในการกำกับดูแล การดำเนินงานของบริการ Ride-hailing นั้น แต่ยังมีหลายประเด็นที่ควรต้องเฝ้าจับตามองอย่างระมัดระวัง แม้ว่าบริการ Ride-hailing จะได้รับความนิยมจากประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยว เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้ทั้งด้านความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และราคาที่เข้าถึงได้ แต่ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรศึกษาตัวอย่างที่ดี (Best Practice) ของอุตสาหกรรม Ride-hailing ในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างการกำกับดูแลของภาครัฐที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นให้กับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางธุรกิจและการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นแรก รัฐบาลควรมุ่งเน้นการพัฒนาและกำหนดนโยบายที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในด้านความปลอดภัย ยกตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับต้นๆ เพื่อใช้กำหนดกรอบการกำกับดูแลอุตสาหกรรม Ride-hailing นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ Ride-hailing ในหลายประเทศทั่วโลกก็ได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ อาทิ การมีปุ่ม SOS สำหรับขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน การมีระบบ GPS ที่สามารถแชร์ตำแหน่งของการเดินทางได้แบบเรียลไทม์ หรือการใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนของคนขับหรือผู้โดยสารด้วยภาพถ่ายซึ่งช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ นวัตกรรมเหล่านี้มีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในด้านการเดินทางในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นให้กับประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยที่มีอยู่แล้วในแอปพลิเคชันของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ และสามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้บริการกับผู้โดยสารทุกคนได้ 

ประการที่สอง รัฐบาลควรพิจารณาส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมของทั้งผู้ประกอบการแท็กซี่ในระบบดั้งเดิมและผู้ให้บริการ Ride-hailing ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้กับคนขับของทั้งสองระบบในการสร้างรายได้จากเทคโนโลยี ผมได้เคยแสดงทรรศนะไปก่อนหน้านี้ว่า บริการ Ride-hailing นั้นกำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นและช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการในภาคการขนส่ง แต่ประเด็นสำคัญที่เราไม่ควรมองข้ามคือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจดังกล่าวและแท็กซี่แบบดั้งเดิมยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะแท็กซี่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะของทุกประเทศและยังคงตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่คุ้นชินและสะดวกที่จะโบกเรียกรถตามท้องถนนมากกว่า การมองว่าจะต้อง “เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง” ระหว่างบริการ Ride-hailing หรือแท็กซี่แบบดั้งเดิมถือเป็นการปิดกั้นโอกาสเกินไป สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณามากกว่าคือ ทำอย่างไรที่จะให้ทั้งสองระบบสามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้โดยตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้บริการ และทำอย่างไรให้คนขับแท็กซี่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้ประโยชน์ของบริการ Ride-hailing นอกเหนือไปจากการขับรถเพื่อให้บริการในรูปแบบเดิมๆ ผมเชื่อว่าการมีแนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้การกำหนดกฎหมายและข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรม Ride-hailing สนับสนุนให้ทั้งสองระบบอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง และยังคงให้บริการการเดินทางกับผู้คน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

157370700427

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจทั้งสองระบบเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยบริษัท Comfort DelGro ผู้ให้บริการแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดได้พยายามพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับตัวเอง โดยพัฒนาแอปพลิเคชันที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ในขณะเดียวกันก็ช่วยคนขับแท็กซี่ให้สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังได้ใช้การกำหนดราคาค่าโดยสารตามกลไกตลาดที่สะท้อนปริมาณความต้องการและจำนวนรถที่ให้บริการ หรือที่เรียกว่า “Dynamic Pricing” เพื่อให้คนขับมีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นผ่านระบบ Ride-hailing หรือบริษัท Blue Bird ผู้ให้บริการแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซียก็ได้พยายามปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยการนำยานพาหนะไฟฟ้ามาใช้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากระบบ Ride-hailing เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการและลดต้นทุนการดำเนินงานการปรับตัวเพื่อให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ช่วยให้ผู้ให้บริการแท็กซี่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้ และสามารถอยู่ร่วมกับบริการ Ride-hailing ได้อย่างราบรื่น โดยยังคงมีบทบาทในระบบขนส่งสาธารณะและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เช่นกัน

ประการสุดท้ายคือ ภาครัฐควรประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลในระบบแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ภาคการคมนาคมขนส่งของไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ภาครัฐควรทำงานร่วมกับผู้ให้บริการ Ride-hailing โดยนำข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้บริการ (แบบไม่ระบุตัวตน) จากระบบ GPS มาใช้วิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเมือง ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาของเมืองใหญ่ๆ ที่มีการจราจรหนาแน่นและมีมลพิษทางอากาศอย่างกรุงเทพฯ ลงได้ โดยข้อมูลที่ผู้ให้บริการ Ride-hailing จัดเก็บและรายงานให้ภาครัฐ ตามกฎระเบียบการกำกับดูแลจะต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม และนำไปใช้ในการวางแผนระบบคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยลดปัญหาจราจร และมลภาวะทางอากาศได้

ทั้งนี้ รัฐบาลถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและสร้างความสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนควบคู่ไปกับการส่งเสริมนวัตกรรม การกำหนดกฎหมายและข้อบังคับที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชน และภาคการศึกษาจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดผลประโยชน์ก็จะตกกลับสู่ประเทศชาติ โดยช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมสากลประเทศ และส่งเสริมให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ในเชิงนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์แก่คนไทยทุกคนอีกด้วย โดย พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้นโยบายหลักของรัฐบาลประการหนึ่งคือ การเพิ่มขีดความสามารถในเชิงดิจิทัลและผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ เศรษฐกิจกระแสใหม่หรือ New Economy ซึ่งจะถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้คนไทยทุกคนก้าวทันยุคดิจิทัลโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่อนาคตตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการเปิดรับนวัตกรรมและธุรกิจดิจิตัล การผลักดันให้บริการ Ride-hailing ถูกกฎหมายนั้นนับเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลตระหนักถึงถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และกำลังผลักดันประเทศไทยไปในทิศทางที่สอดรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคดิจิตัล

ผมคิดว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วขึ้นในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ให้สามารถทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ การส่งเสริมและผลักดันให้บริการ Ride-hailing ถูกกฎหมายถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปในทิศทางดังกล่าว เพราะไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

โดย... 

รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ 

รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย