ปัญหานอมินี(ทางอ้อม):กรณี ล้งจีน

ปัญหานอมินี(ทางอ้อม):กรณี ล้งจีน

ด้วยประชากรของจีนนั้น น่าจะถือเป็นแต้มต่อทางเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย จนมีหนังสือของต่างชาตินำไปประพันธ์ในชื่อที่ว่า “When China rules the world"

ที่อาจสะท้อนได้เป็น 2 มิติ จากความล้นเหลือทางประชากรคือมิติแรก กำลังคนที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจีนได้เป็นอย่างดี ส่วนมิติที่สองคือการบริโภคจำนวนมากจนอาจส่งผลให้การผลิตภายในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด 

ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจจีนบางกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะผลิตสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ (แทนการผลิตภายในประเทศ) แล้วส่งกลับมายังจีนแผ่นดินใหญ่ หากมองแบบนักธุรกิจ คือเมื่อทราบความต้องการของตลาดอย่างแน่ชัด การค้นหาวิธีการผลิตจึงเป็นการบ้านที่ต้องหาคำตอบ และคำว่า “การซื้อขายระหว่างประเทศ” จึงน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ของการตอบโจทย์นั้น

ทว่ากลุ่มนักธุรกิจอาจมองว่าการปล่อยให้ผู้อื่นเป็นตัวกลางคงสู้ไม่ได้กับการลงมือทำเอง ที่น่าจะสร้างรายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกกว่า ส่งผลให้เกิดรูปแบบธุรกิจของชาวจีนที่เรียกว่า ล้งจีน ที่อาศัยว่าความมีทุนค่อนข้างหนาเข้าประกอบการธุรกิจด้วยการเข้าไปติดต่อกับเกษตรกรในไทยโดยตรง เพื่อว่าจ้างเกษตรกรไทยปลูกผัก/ผลไม้ตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ ในจำนวนและราคาที่กำหนด แต่เนื่องด้วยคนต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเกษตรกรรมในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจต่างชาติ พ.ศ.2542 จึงต้องหยิบยืมมือเกษตรกรไทย (ที่มีความรู้ความสามารถ) ช่วยปลูกแทนตน แล้วส่งขายไปยังประเทศปลายทาง 

ธุรกรรมแบบนี้พอมองออกเป็น win-win situation (มีแต่ได้กับได้) เกษตรกรได้เงิน ต่างชาติได้สินค้า แต่ประเทศเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม-ทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญที่สุดตัวเกษตรกรเองก็เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายในฐานะเป็นนอมินีทางอ้อมด้วย ดังที่จะกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 36 ที่สรุปเนื้อหาคร่าวๆ ได้ว่า บุคคลคนธรรมดาหรือนิติบุคคลใดให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวให้สามารถประกอบธุรกิจ (ที่ต้องห้ามโดยกฎหมายฉบับนี้) ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจถือว่าการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 36 ที่ว่า หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”-โทษทางอาญา!

ขณะเดียวกันอาจมีผู้สงสัยว่าการกระทำอย่างไรในกรณีล้งจีนที่จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ เนื่องด้วย “การส่งออก” แม้จะไม่ระบุห้ามตามกฎหมายอย่างเด่นชัด แต่อาจอยู่ภายใต้บัญชี 3 (13) ที่ว่า “การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมืองที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ยกเว้นการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย โดยไม่มีการส่งมอบ หรือรับมอบสินค้าเกษตรภายในประเทศ” (อ้างอิงตามกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ http://www.aseanthai.net/mobile_detail.php?cid=4&nid=5973) ประกอบหลักทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่อง “นิติกรรมอำพราง” ที่อาจกล่าวอย่างสั้นๆ คือ ให้บังคับนิติกรรมที่ถูกอำพราง

เท่ากับว่าหากเกษตรได้รับการว่าจ้างจากนักกลงทุนจีนให้ปลูกพืช ผลไม้พื้นเมืองเพื่อส่งออก นิติกรรมหลักคือ การว่าจ้าง อำพราง นิติกรรมรับจ้างปลูกผลไม้เพื่อส่งออกกลับไปยังจีนแผ่นใหญ่ ดังนี้ นิติกรรมแรกย่อมไม่มีผลบังคับ แต่ในขณะเดียวกันนิติกรรมหลัง (ที่ถูกอำพราง) กลับมีผลบังคับ ซึ่งนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นอาจถูกมองว่าตกอยู่ภายใต้ มาตรา 36 แห่งกฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่มีเอี่ยวกับล้งจีนต้องรับโทษตามกฎหมายฉบับนี้

ในความเห็น (ส่วนตัว) ของผู้เขียน “เกษตรกรอาจสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดข้อกฎหมายฉบับนี้อีกกรณี คือโปรดสังเกตบัญชีหนึ่ง (2) การทำนา ทำไร่ ทำสวน (ที่ถือเป็นกิจการห้ามเด็ดขาด) ที่เกษตรกรยอมโค่นต้นไม้เดิมและหันมาปลูกผลไม้ที่ชาวจีนต้องการเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ตัวเองได้รับ พร้อมโอกาสที่จะละเมิดกฎหมายโดยไม่ทราบข้อกฎหมายข้อนี้ ส่งผลให้เท้า/ขาก้าวเข้าไปอยู่ในคุกหนึ่งข้างแล้ว 

ส่วนทรัพย์สินอะไรก็ตามที่ได้ให้ไว้อันเนื่องมาจากการกระทำความผิด ก็ไม่อาจเรียกคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่อง “ลาภมิควรได้” ...ท้ายนี้ผู้เขียนขอให้ถือบทความฉบับนี้เป็นหนังสือแจ้งเตือนท่านๆ แล้วนะครับ หวังว่า “อย่างน้อยจะได้ทำให้ท่านฉุกคิดได้ไม่มากก็น้อย เดี๋ยวจะกลายเป็นเสียน้อยเสียมาก เสียยากเสียง่าย แล้วจะหาว่าไม่เตือน”

อนึ่ง ย้ำอีกครั้งว่ามาตรา 36 นั้น ประสงค์ลงโทษผู้ให้ความช่วยเหลือนะครับ หาใช่คนจีนไม่!

หากบทความนี้ได้รับความเมตตาจากทางกรุงเทพธุรกิจอีกครั้ง ผู้เขียนสัญญาว่าจะมาอธิบาย "ทางออกที่ชอบด้วยกฎหมาย" ให้ฟังในครั้งหน้า

สุดท้ายฝากไว้ให้คิด (กัน) นะครับ การลงทุนมีความเสี่ยงฉันใด การกระทำที่มีโอกาสละเมิดกฎหมายก็ย่อมมีความเสี่ยงฉันนั้น อย่าทำเลย (มันจะได้ไม่คุ้มเสียนะครับ) #เตือนแล้วนะ

โดย... นิติภัทร หอมละออ