เรื่องส่วนตัวแท้ๆ

เรื่องส่วนตัวแท้ๆ

ในสังคมไทยมีเรื่องให้ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย ไล่เรียงไปตั้งแต่ปัญหาสำคัญของบ้านเมือง เรื่องส่วนตัว

 บางคนสนใจเรื่องคนอื่นมากกว่าเรื่องส่วนตัวก็มีไม่น้อย แต่เวลาเกิดปัญหา เป็นเรื่องปกติมากที่คนเรามักควานหาต้นสายปลายเหตุ บางครั้งหาไม่ได้ก็หา "แพะรับบาป" โทษปี่กลองไปสุดแต่จะทำให้เกิดความสบายใจ หรือให้พ้นไปจากความรับผิดชอบของตัว

ถ้าจะขอเริ่มจากการถกเถียงเรื่องใหญ่โตในวันนี้เกี่ยวกับการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ไม่เถียงครับว่าผมเองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ แต่ไม่มีข้อห้ามที่จะไม่ให้พูดไม่ให้แสดงความคิดเห็น จึงขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐานโดยท่านทั้งหลายจะเห็นชอบหรือเห็นต่างย่อมเป็นไปตามความเชื่อของแต่ละบุคคล สำหรับผมเองเห็นว่าคนที่อยากให้เราแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่หลายประเภท

กลุ่มหนึ่งคือต้องการให้มีการแก้ไขเพื่อให้ตัวเองจะได้มีโอกาสมาเขียนรัฐธรรมนูญ ผมพูดความจริงเพราะเมื่อวันที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ผมยังตัดข่าวที่กำลังจะพูดถึงนี้ไว้เตือนใจว่า "ความเกลียดชัง มันฆ่าคนได้จริงๆ" เพราะมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเอาชื่อผมกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านไปวิจารณ์ว่า ถ้า คสช.เลือกผมกับอาจารย์บางท่านเข้าไปแสดงว่า คสช.หาใครไม่ได้แล้ว

สิ่งที่เขาพูดแปลความได้ว่า "นักวิชาการชั้นอ๋องมีเยอะแยะ (เขาหมายถึงตัวเขาเองกับพวก) ทำไมไม่เลือก ไม่เชิญเขา" แถมช่วงที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งแวะเวียนติดต่อมาหาผมหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือมาขอยื่นหนังสือกับผมซึ่งผมเป็นคนไม่ยี่หระกับใคร ใครอยากพบอยากเจอไม่หวงเนื้อหวงตัว ยินดีต้อนรับเสมอ

แต่สิ่งที่เขายื่นมาให้คือ "รัฐธรรมนูญที่เขาร่างกันขึ้นเองทั้งฉบับ" ในขณะที่เรายังร่างไปไม่ถึงครึ่งหนึ่ง นั่นแสดงถึง "มิจฉาทิฐิ" ของคนเป็นนักวิชาการในบ้านเรา ที่มีอยู่ไม่น้อย "อวดเก่ง หลงตัวเองคิดว่ารู้ดีกว่าคนอื่น คิดแต่จะโค่นล้มกันมากกว่าสร้างผลงานวิชาการที่เป็นรูปธรรม" ทำให้ตอบสังคมที่มักตั้งคำถามเสมอว่าเหตุใด พัฒนาการทางการศึกษาของสังคมไทยจึงเป็นเยี่ยงนี้ได้

จึงอยากให้ใครที่ร่ำร้อง ค่อนแคะ กล่าวร้ายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปต่างๆ นานา ให้ทราบว่าขณะนี้ "ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญปี 2560" ฉบับสมบูรณ์ได้มีการเผยแพร่แจกจ่ายให้กับทั้ง ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐหรือภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงกันแล้ว

ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรกรุณาอย่าวู่วาม ใช้มิจฉาทิฐิ หรือความเกลียดชังส่วนตัวมาตัดสิน แต่หากได้อ่านแล้วและได้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน หากเห็นว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร จะนำมาถกเถียงอภิปรายให้เกิดผลในทางที่จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขจะยินดียิ่ง และจะเป็นการดีขึ้นไปอีกหากจะบอกว่าการแก้ไขในแต่ละเรื่องนั้น ประชาชนและสังคมส่วนรวมได้ประโยชน์ประการใดจากการแก้ไขนั้นด้วย

ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์สารคดีของ "เอชบีโอ" เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในสหรัฐ มีชื่อเรื่องแปลเป็นไทยได้ว่า "อันนี้มันเรื่องส่วนตัว (This is Personal)" เนื้อเรื่องเป็นการเรียกร้องต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างน่าชื่นชม ผมดูไปน้ำหูน้ำตาแทบไหลพราก แต่ปรากฏว่าในทุกกรณีของการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิของผู้อพยพ เรื่องของคนผิวสี เรื่องของคนข้ามเพศ ในภาพยนตร์มีการเจาะไปถึงภูมิหลังของแต่ละบุคคลที่เป็นนักเคลื่อนไหว ถ้าจะบอกว่า "ถ้าฉันทำสำเร็จ ฉันได้เต็มๆ ก็ไม่ผิดนัก" เพราะนักเคลื่อนไหวแต่ละคนมี "ผลประโยชน์ทับซ้อน" กับการเคลื่อนไหวในเรื่องนั้นๆ อย่างชัดเจน

ที่หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ผมเห็นชัดเจนว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจ เป็นเรื่องที่ต้องการให้อำนาจการเมืองกลับมามีเหนืออำนาจทั้งปวง และกล้าเขียนชัดๆ ว่าเป็นความพยายาม "สร้างความขัดแย้งทางการเมือง" รอบใหม่ เพราะเมื่อใดที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง เชื่อได้ว่าจะเกิดคลื่นแห่งความแตกแยกระหว่างคนเห็นด้วยกับการแก้ไข กับผู้ที่จะออกมาคัดค้าน ไม่ต่างกับยุคความขัดแย้งในเรื่อง "สีเสื้อ" ที่เคยมีก่อนหน้านี้อย่างไม่ต้องสงสัย

จึงอยากให้เลิกคิดเลิกโทษหรือควานหา "แพะ" ในทุกเรื่อง เพราะใครทำอะไรย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเองว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร เหมือนคนมาตั้งข้อสังเกตเรื่องการพกพาอาวุธหรือแม้แต่วัตถุต้องสงสัยไปในสถานที่ราชการ ต่อให้มีเครื่องตรวจจับดีเพียงใด

แต่ในเมื่อมนุษย์ยังคงเป็นผู้ควบคุม ตัดสินใจ หรือยังมีอคติว่าด้วยความรักชอบ เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัว ความเกรงใจ หรือแม้แต่การยืนยันจะใช้อภิสิทธิ์ของคนที่เห็นประโยชน์ส่วนตนมาก่อน ย่อมแหวกรูเล็กๆ ที่มดเดินผ่าน ให้เป็นช่องโหว่ขนาดช้างลอดได้ในทุกเรื่อง มองเห็นแม้กระทั่งเรื่องที่เป็นประโยชน์กลายเป็นเรื่องร้ายแรงเป็นโทษขึ้นได้