30 ปีหลังเบอร์ลินไม่มีกำแพง

30 ปีหลังเบอร์ลินไม่มีกำแพง

เมื่อเสาร์ที่ผ่านมา เยอรมนีทำพิธีรำลึกครบรอบ 30 ปีของการเปิดประตูกำแพงที่ปิดกั้นการไปมาหาสู่กันระหว่างชาวเยอรมันในเบอร์ลินตะวันออก-ตะวันตก

กำแพงนั้นสร้างขึ้นโดยเยอรมนีตะวันออกซึ่งปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติและโลกตกอยู่ในภาวะ “สงครามเย็น” ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายที่ไม่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์นำโดยสหรัฐ การเปิดประตูกำแพงนั้นเป็นสัญญาณของการยอมรับว่าระบบคอมมิวนิสต์ใช้ไม่ได้จึงพ่ายแพ้

ความพ่ายแพ้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำให้มีผู้คิดว่าปัญหาของโลกจะลดลง ตรงข้าม เหตุการณ์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามองได้ว่าปัญหาร้ายแรงขึ้นสหรัฐมีอำนาจสูงสุด แต่แทนที่จะนำโลกพัฒนากลับสร้างปัญหาเสียเอง ชาวอเมริกันชั้นเศรษฐีมีอำนาจล้นฟ้าจนสามารถบิดเบือนระบอบประชาธิปไตยและระบบตลาดเสรีที่สหรัฐใช้ได้มากขึ้น นโยบายทั้งภายในและภายนอกจึงมักออกแบบเพื่อประโยชน์ของชนกลุ่มนี้ส่งผลให้ความเหลื่มล้ำในสังคมอเมริกันเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำสร้างความแตกแยกภายในซึ่งมีปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปจนสังคมตกอยู่ในสภาพเปราะบาง

ด้านภายนอก สหรัฐส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศอื่นแต่ปาก ประเทศที่มีน้ำมันปิโตรเลียมมหาศาลมักได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐแม้จะปกครองด้วยระบบเผด็จการก็ตาม บริษัทน้ำมันซึ่งควบคุมโดยชนชั้นเศรษฐีมีอิทธิพลชี้นำนโยบายและได้รับประโยชน์สูงมากจากการสนับสนุนให้สหรัฐส่งทหารเข้าไปในย่านตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ผลของแนวคิดทางเศรษฐกิจและนโยบายการค้าเสรีที่ชนชั้นเศรษฐีมักชี้นำอาจไม่เป็นไปตามที่พวกเขาคาดคิด ในขณะนี้จึงมีการปิดกั้น หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับหลายประเทศ

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ประเทศต่าง ๆ ได้ประโยชน์มหาศาลจากการส่งสินค้าเข้าไปขายในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการบริโภคแบบไม่หยุดยั้งขับเคลื่อนให้ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง การค้าเสรีมีผลพวงหลากหลาย ในเบื้องแรก เนื่องจากสหรัฐไม่สามารถแข่งขันได้ในหลายด้านทำให้การค้าขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เขาแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาจ่าย ณ วันนี้ โลกจึงมีเงินดอลลาร์ท่วมท้นส่งผลให้การใช้นโยบายการเงินบริหารเศรษฐกิจเป็นหมัน ในขณะเดียวกัน การกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวก็สร้างภาระหนี้สินหนักขึ้นจนนโยบายอื่นๆ ก็ใกล้เป็นหมันแล้ว

นอกจากนั้น การค้าเสรีช่วยให้หลายประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จีนกลายเป็นมหาอำนาจภายในเวลาอันสั้นและสามารถแข่งขันกับสหรัฐได้ทุกด้าน จีนใช้แนวคิดเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสหรัฐ นั่นคือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงสุดต่อไปแบบไม่หยุดยั้งแม้กระทั่งด้วยการก่อภาระหนี้สินภายใน จีนออกไปแสวงหาอาณานิคมเพื่อนำทรัพยากรกลับมาป้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สงครามการค้าซึ่งเป็นผลของการแข่งขันกันระหว่างจีนกับสหรัฐนับวันจะยิ่งเข้มข้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีค่ายของตนประกอบด้วยประเทศต่างๆ ที่เดินตาม

หลังจากประตูกำแพงเบอร์ลินเปิดมา 30 ปีโลกจึงตกอยู่ในภาวะสงครามเย็นอีกครั้ง แต่สงครามเย็นครั้งนี้มิได้มีเฉพาะ 2 ค่ายเท่านั้นที่จะต่อสู้กันอย่างเข้มข้นต่อไป หากมีค่ายที่ 3 ในนามของระบบนิเวศเข้าร่วมวง การที่สหรัฐลาออกจากข้อตกลง ณ นครปารีสว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและลดมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมมาหลายปีแสดงว่าสหรัฐประกาศสงครามกับระบบนิเวศด้วย ส่วนจีนมิได้แสดงทีท่าออกมาอย่างแจ้งชัดเช่นเดียวกับสหรัฐ แต่ก็มิได้แสดงอะไรอย่างมีนัยสำคัญออกมาว่าตนนับระบบนิเวศเป็นพันธมิตร ในขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐและจีนบริหารยากขึ้น ส่วนด้านสังคมตกอยู่ในสภาพเปราะบางด้วยภาวะต่างๆ รวมทั้งความเหลื่อมล้ำและภาระหนี้สิน

สงคราม 3 ฝ่ายดังกล่าวจะมีแต่ผู้แพ้เท่านั้น ดังโบราณว่า เมื่อช้างชนกัน หญ้าแพรกย่อมแหลกลาญ ในขณะนี้ ผลเริ่มมีปรากฏแล้วไม่ว่าจะเป็นในรูปของไฟป่าในทวีปออสเตรเลียและอเมริกา หรือการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศโดยต่างชาติ ชาวไทยจึงควรพยายามเพิ่มภูมิคุ้มกันอย่างเร่งด่วน การหวังพึ่งรัฐบาลรังแต่จะผิดหวังเพราะ ณ วันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าบรรดาผู้นำจะเข้าใจในภาวะของโลกอย่างถ่องแท้ หรือเข้าใจ แต่ยังมุ่งเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องของตน พวกเขาทำแม้กระทั่งการเปิดประตูกว้างรับผู้ล่าอาณานิคม