สัญญาณ“ส.ว.”ไม่เอาด้วย สื่อ“รัฐบาล” ไม่หนุนจริง

สัญญาณ“ส.ว.”ไม่เอาด้วย สื่อ“รัฐบาล” ไม่หนุนจริง

ยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน ต่อประเด็นที่ “สภาฯ ” จะยกญัตติที่มี “ส.ส.” จากหลายพรรคเสนอ ให้ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาพิจารณาเมื่อใด

แต่ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ถึง เรื่องของ บุคคล ที่จะแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ

ที่ได้รับการเปิดเผยมาจากฝั่ง “ทำเนียบรัฐบาลว่า จะมีจำนวน 49 คน และ 6 ในนั้น จะเป็นโควต้าของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะจัดสรรและเลือก "สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้ามาทำหน้าที่

เพราะเสียงของส.ว. ที่มีบทบาทต่อการเมือง ทั้งเสรี สุวรรณภานนท์-วันชัย สอนศิริ- พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม-สมชาย แสวงการต่างเห็นในทำนองเดียวกันคือไม่ใช่จังหวะที่จะพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีท่าทีคัดค้านต่อการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงปฏิเสธต่อการเข้าไปเป็นหัวหมู่ทะลวงค้าน ในบทบาทของ"กมธ.วิสามัญ"

ล่าสุด มีเสียงเตือนจากสมชาย แสวงการ ส.ว.ต่อการริเริ่มคิดประเด็นที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นที่พลพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่รณรงค์ผ่านเวทีนอกสภา ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจาก เปิดทางให้กลไกแก้รัฐธรรมนูญทำได้ง่าย คือ แก้ไขมาตราที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรับให้กลไกแก้ไขนั้นมาจากตัวแทนประชาชน 

ที่เรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)คือ กุญแจที่เปิดประตูบ้าน โดยไมีคำนึงว่าจะตั้งต้นที่ประเด็นปัญหาใด และหากแก้ไขประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหา อาจนำไปสู่ชนวนของวิกฤตการเมือง

นั่นหมายความว่า สัญญาณของความไม่พ้องต้องกันของ สมาชิกรัฐสภา ที่เป็นกลไกสำคัญ ของบันไดขั้นแรกที่จะทำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ได้ตามความต้องการของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่อาจเสนอแนวทางใดมาที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญใด โดยที่ขาดการยอมรับได้

ดังนั้น การพิจารณาญัตติเพื่อตั้งกมธ.วิสามัญ​ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ที่ยังไม่กำหนดวันชัดเจนว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ในวันใด และจะนำไปสู่การได้แนวทางที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง รวมถึงถูกใจทุกฝ่ายหรือไม่

ต้องพิจารณาและหาทางเกลี้ยกล่อมกันให้ดี หรือ ใช้เงื่อนไขทางการเมืองต่อรองกันให้ดีๆ ว่าคณะผู้นำประเทศปัจจุบันเขาจะได้ประโยชน์อะไร หรือ ครองอำนาจได้ต่อไปตามระยะเวลาที่ต้องการหรือไม่ หากทำกันให้เข้าทางแล้ว.... เรื่องที่ว่ายาก หรือเป็นไปแทบไม่ได้ อาจจะง่ายเหมือนดีดนิ้ว.

โดย... เทพจร