โลกคือโรงละครโรงใหญ่

โลกคือโรงละครโรงใหญ่

เดือนก่อนได้อ่านข่าว อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ออกมาขู่แล้วขู่อีก

 ถ้าโรงพยาบาลไม่รายงานราคายาและเวชภัณฑ์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย แล้วเกิดถูกผู้ป่วยกล่าวหามีความผิด โรงพยาบาลและผู้บริหารอาจต้องรับโทษทั้งจำทั้งปรับ แค่สามหมื่นกว่ารายการเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่า ถ้าโรงพยาบาลคิดค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าที่ควรจะเป็น จะได้เงินทดแทนหรือไม่ และได้จากใคร เพราะตอนนี้ หลายโรงพยาบาลเอกชนบอกว่าไม่อยากรับคนไข้ฉุกเฉิน ได้ค่าตอบแทนจากสำนักงานแพทย์ฉุกเฉินรายละ 3,000 บาท แต่จ่ายจริงมากกว่านั้นเยอะมาก แล้วตั้งเบิกเอากับใครไม่ได้

ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่รับเด็กเพิ่งคลอดที่มีปัญหา (NICU) ต้องอยู่ในตู้อบและดูแลทุกอย่างเพราะพ่อแม่ไม่มีเงิน และได้เงินจากกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบ้าง เท่าที่พ่อแม่เด็กมีสวัสดิการอะไร แต่ก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูแลตามมนุษยธรรมและจริยธรรม ค่าใช้จ่ายที่เกินไปมากมายและโรงพยาบาลเอกชนต้องแบกรับนี้ รัฐบาลจะช่วยอย่างไร ยังไม่มีใครพูด

คราวนี้ มาพูดถึงโรงพยาบาลรัฐบ้าง ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากเกินกว่าที่สามารถเบิกจ่ายได้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่พอให้บริการรักษาพยาบาลไปแล้ว เบิกไม่ได้ทั้งหมด อย่างนี้ใครจะช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนเกินให้บ้าง โรงพยาบาลไม่ได้อยากเอาเงินนี้แจกโบนัสอะไรให้ใครที่โรงพยาบาล แต่ทำไมต้องให้โรงพยาบาลควักเนื้อ

อีกเรื่องคือการทำงานล่วงเวลา ข้าราชการแพทย์ทำการผ่าตัดคนไข้บางครั้งยาวนานเป็น 6-8 ชั่วโมง ถึงเวลาเลิกงานสี่โมงครึ่งจะเลิกผ่าตัดกลับบ้านเหมือนข้าราชการอื่นๆไม่ได้ ต้องทำงานให้เสร็จเพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ ถ้าเป็นพนักงานลูกจ้างเอกชนก็ต้องมีค่าล่วงเวลามหาศาล แต่ สปสช.ไม่เคยจ่าย ไม่ทราบว่าทำไมไม่จ่ายเหมือนภาคเอกชนที่ทำงานล่วงเวลา แต่เวลาแพทย์พยาบาลบุคคลากรทางการแพทย์ถูกร้องเรียนจากผู้รับบริการกลับได้รับค่าเยียวยา ทั้งๆที่ตอนผ่าตัด ตายหรือไม่ตาย อยู่ในกำมือแพทย์พยาบาล

ตอนนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐที่กำหนดเพดานสูงสุดไม่เกินที่ประกาศ มีรายละเอียดในทุกการรักษาทั้งโดยแพทย์ ทันตแพทย์ เทคนิกการแพทย์ กายภาพบำบัด จิตเวชบำบัด วิชาชีพทางการแพทย์อื่นๆ รวมถึงแพทย์แผนโบราณ แพทย์แผนไทย กว่า 1,000 รายการ ประกาศมีความหนาเกือบ 300 หน้า และให้อำนาจโรงพยาบาลกำหนดต่ำกว่าที่ประกาศได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งน่าจะใช้เป็นมาตรฐานในการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี

สงสัยว่า เมื่ออัตราค่ารักษาพยาบาลต้องเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ โรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการประชาชนตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวนจากสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้เต็มจำนวนหรือไม่ หรือจะยังบิดพริ้วไม่จ่ายจนโรงพยาบาลรัฐต้องอยู่ในสภาวะขาดทุนดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คิดไปคิดมาแล้วก็คิดไม่ออกว่า ที่อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พยายามควบคุมโรงพยาบาลเอกชน และ/หรือ สปสช. ที่ควบคุมโรงพยาบาลรัฐ กำลังทำอยู่นี้เหมือนการเต้นละครบนเวที เพราะ มันมีหลายเรื่องที่หน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายๆกันจะต้องคิด แต่ทำไมทำไม่เหมือนกัน หรือว่า โลกนี้คือโรงละครโรงใหญ่เท่านั้นเอง