No Stress vs. Stressed Out

No Stress vs. Stressed Out

“…….” เสียงอันไม่พึงประสงค์ดังลอดออกมาจากห้องน้ำ ลูกชายวัย 10 ขวบของผมนั่งก้มหน้าอยู่ที่ชักโครก

“เป็นอีกละ” ภรรยาวัย...เอ้อ... คนสวยของผมเดินส่ายหน้าผ่านไป

คุณผู้อ่านที่มีลูกอาจเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาบ้าง นั่นคืออาการตื่นเต้นตอนเช้า โดยเฉพาะเช้าวันไปโรงเรียน อาการ Anxiety ที่ว่ามาได้หลายแบบ ปวดหัว อึดอัด ผะอืดผะอม ปวดท้อง ไปจนถึงอาเจียน ซึ่งเจ้าธีร์เป็นครบถ้วน และลักษณะที่ว่ามากับช่วงเวลาล้วน ๆ นั่นคือพอตกเย็นกลับบ้านช่างเริงร่า ไม่มีวี่แววของเด็กป่วย กินเยอะ เล่นได้ เต้นพลางแหกปากร้องเพลงพลาง ดูสุขภาพดีเกินไปด้วยซ้ำ

หากพอเช้าตื่นมาปุ๊บ เดินหน้าเซียวออกมาจากห้องนอนเลย แค่เห็นหน้า พ่อกับแม่ก็รู้แล้วว่าอะไรจะตามมา แต่จะว่าผมไม่เข้าใจอาการนี้เสียเลยก็ไม่ถูก เพราะตัวเองตอนเด็ก ๆ ก็เป็น อ้วกแล้วอ้วกอีกตอนเช้า กินข้าวไม่ได้ ปวดท้องจนกระเพาะเป็นแผล รักษาตัวอยู่เป็นปี

เล่าให้คุณย่าของธีร์ฟัง แม่ผมหัวเราะหึ ๆ แล้วบอกว่า มันเป็น Genetic จากพ่อ

เล่าให้แม่ของธีร์ฟัง เมียผมร้องโวยวายแล้วบอกว่า ทำไมส่งกรรมพันธุ์ให้ลูกแต่ละอย่างดี ๆ ทั้งนั้น

157320325832

ผมเอามาเล่าสู่กันฟังวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องอาการของลูก แต่มันคือ "วิธี" ที่ครูดีลกับนายธีร์ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ผมเคยประสบ และน่าจะเป็นข้อคิดไม่มากก็น้อยในการทำงานกับคน

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

Stress is real ผมกับเพชรนำเรื่องนี้ไปปรึกษา Counsellor ที่โรงเรียน Ms. Lynn ยิ้มแล้วบอกว่าไม่ต้องกังวล เธอเห็นเคสแบบนี้มามากมาย มันเป็นเฟส ๆ หนึ่งของเด็กในวัยนี้ เหมือนสมองกำลังปรับตัวกับการเป็นผู้ใหญ่ ส่วนที่เป็นอารมณ์มันพัฒนาไวกว่าส่วนที่เป็นเหตุผล เลยเกิดอาการดังกล่าว

สำคัญที่สุดคือ เราอย่าคิดว่าเด็กแกล้ง ความเครียดและความกังวลเป็นสภาวะจริงๆ ทางร่างกาย มันอาจจะเกิดจากสมองก่อน แต่ระบบ Gut-Brain Axis ในท้องเรามี "เซลล์สมอง" กว่า 500 ล้านเซลล์ ความคิดของเราจึงส่งผลโดยตรงต่ออาการทางร่างกาย การทดลองพบว่า สัตว์ที่เผชิญความเครียด เกิดอาการปวดท้องอาเจียนเหมือนเจ้าธีร์ไม่มีผิด

พ่อฟังครูพูดแล้วทึ่ง เพราะตอนเด็ก ๆ ผู้ใหญ่แค่บอกผมให้เลิก "มารยาไม่อยากไปโรงเรียน"

Don’t add more stress สิ่งที่ผมทึ่งยิ่งกว่าคำแนะนำคือการกระทำของครู เธอไม่เคยแสดงความคุกคามหรือความไม่พอใจให้ลูกชายผมรู้สึก กระทั่งคำถามที่ใช้ ก็ไม่มีคำถามเชิงลบ เช่น What’s the problem? Why don’t you want to come to school? มีแต่คำถามปลายเปิด เช่น How do you feel? Why do you think you are feeling this way? ซึ่งธีร์ก็สามารถอธิบายอาการของตัวเองได้ทุกอย่าง รู้แม้ว่าต้องทำอย่างไรให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ฉะนั้นอาการนี้ไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ แต่เกิดจากสมองของเด็กซึ่งกำลังเรียนรู้วิธีควบคุมตัวเอง

และไม่เพียง Counsellor เท่านั้นที่ปฏิบัติต่อธีร์เช่นนี้ ครูทุกคนก็ทำแบบเดียวกัน บางเช้าเจ้าตัวไปโรงเรียนสายเพราะขึ้นรถบัสไม่ไหว ผมเดินเป็นเพื่อนพบครูหลายคนระหว่างทางไปห้อง ต่อให้สายเป็นชั่วโมงก็ไม่มีครูคนไหนตั้งเป็นประเด็น ไม่มีใครถามกระทั่งว่า Why are you late? มีแต่ทักทาย Hi Tee! Good to see you today ^^ ครูบอกว่าแค่ดีลกับปัญหาในหัวของตัวเองเด็กก็เครียดมากอยู่แล้ว ผู้ใหญ่ไม่ต้องไปเพิ่ม stress ให้อีก

พ่อเห็นแล้วประทับใจยิ่งนัก เพราะจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ หากเดินเข้าโรงเรียนสาย ไม่ถูกตีก็ถูกด่า

Too little stress or Too much stress ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ ผู้นำสมองใคร ๆ ก็เป็นได้ ตอน "อยากคิดอย่าเครียด" นั่นคือ performance ของคนขึ้นอยู่กับระดับความเครียดของเรา หากไม่เครียดเลยงานก็ไม่เสร็จ แต่ถ้าเครียดมากไปงานก็ไม่เสร็จเหมือนกัน กราฟนี้เรียกว่า Inverted-U ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า หรือพ่อแม่ เมื่อเห็นลูก (น้อง) ไม่ได้ดั่งใจ กรุณาพิจารณก่อนว่าเขากำลังอยู่ในสภาวะไหน หากเขาเฉื่อย การเพิ่มเป้าหมายหรือเรียกไปจิก คงจะช่วยให้ความกระฉับกระเฉงกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเขากำลังเครียดเกิน หรือที่เรียกว่า stressed out การเพิ่มความเครียดโดยหัวหน้า แทนที่จะช่วยกลับจะทำให้ช้ำหนักเข้าไปอีก หาวิธีลดความเครียดให้เขาแล้ว performance จะกลับมาเอง

จริงไหม? เอาเป็นว่าจากที่พ่อของธีร์ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะหาย เพียงไม่ถึงเดือนให้หลัง ตอนนี้นายธีร์วิ่งปร๋อไปโรงเรียนทุกเช้าแล้วครับ!