Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก?

Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก?

เมื่อกล่าวถึง Blockchain บางคนก็ว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลก บางคนก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น Blockchain คือ Bitcoin

ทั้งที่จริงแล้ว Bitcoin เพียงแต่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการทำงานเท่านั้น จากบทความใน Harvard Business Review อธิบายว่า Blockchain คือ บัญชีแยกประเภท (ledger) แบบกระจายและเปิด (distributed ledger) ที่สามารถบันทึกธุรกรรมระหว่างบุคคลหลายกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบที่ยืนยันได้และถาวร

โดยปกติ Blockchain จะทำงานอยู่บนเครือข่าย Peer-to-peer (P2P) ซึ่งร่วมกันใช้ Protocol เดียวกันเพื่อการสื่อสารระหว่าง Node และเพื่อยืนยันความถูกต้องของ Block ใหม่ๆ เมื่อบันทึกแล้ว ข้อมูลใน Block ใดๆ จะไม่สามารถเปลี่ยนย้อนหลังโดยไม่เปลี่ยนข้อมูลใน Block ต่อๆ มาทั้งหมดด้วย ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยืนยันจาก Node ส่วนใหญ่ในเครือข่าย

ดังนั้น หัวใจของ Blockchain คือ การที่ทุกคนแชร์ข้อมูลร่วมกันได้โดยที่ทุกคนถือข้อมูลชุดเดียวกัน และถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลทั้งหมดในมือทุกคนก็จะเปลี่ยนแปลงตามโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ไม่ต้องมีระบบศูนย์กลางใดๆ จึงลดความเสี่ยงที่ระบบจะล่ม เนื่องจากความน่าจะเป็นที่จะเกิดภัยพิบัติที่จะทำลายอุปกรณ์ทุกตัวในระบบนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก จนแทบเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น การใช้งานเทคโนโลยี Blockchain จึงมีความเหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้งานที่ต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและถูกต้องของข้อมูล โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ 1) ด้านการเก็บข้อมูล (Record keeping: Storage of static information) และ 2) ด้านการทำธุรกรรม (Transactions: Registry of tradeable information)

สำหรับการใช้ Blockchain ในการเก็บข้อมูล ที่มีการประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน มีตัวอย่างเช่น ข้อมูลโฉนดที่ดิน ข้อมูลวัตถุดิบ ข้อมูลสิทธิบัตร การเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล และการทำ Smart Contracts เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการเรียกร้องสินไหมทดแทนในการประกัน เป็นต้น ส่วนการใช้ Blockchain ในการทำธุรกรรม มีตัวอย่างเช่น การบริหารห่วงโซ่อุปทาน ระบบการจ่ายเงิน (Payment infrastructure) และการออก ICO (Initial Coin Offering) จากการประมาณการณ์ของ McKinsey อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์สูงสุดจาก Blockchain คือ ภาคการเงิน ภาครัฐบาล และภาค Healthcare โดยเฉพาะภาคการเงินที่มีกิจกรรมหลักทางด้านการตรวจสอบ และถ่ายโอนข้อมูลและทรัพย์สิน ซึ่งตรงกับจุดเด่นที่ Blockchain จะสามารถเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการลดบทบาทของตัวกลางในการดำเนินธุรกรรม (Intermediaries) โดยเฉพาะธุรกรรมข้ามพรมแดน และ Trade Finance ดังจะเห็นได้จากธนาคารในออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐ ต่างเริ่มลงทุนในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้

157318716638

ในส่วนของภาครัฐ การนำ Blockchain มาใช้เก็บข้อมูลแทนฐานข้อมูลแบบไซโลในปัจจุบัน และการใช้ Smart contracts จะช่วยให้การนำข้อมูลมาใช้ระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการทำธุรกรรม เช่น การซื้อขายที่ดิน หรือแม้แต่การลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นไปได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีรัฐบาลกว่า 25 ประเทศที่กำลังร่วมทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพ ในการพัฒนาการใช้งาน Blockchain

ทางด้าน Healthcare การใช้ Blockchain จะช่วยให้เกิดการแชร์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพระหว่าง ผู้ให้บริการ คนไข้ บริษัทประกัน และนักวิจัย ทั้งประวัติการรักษา และข้อมูลอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย และการวิจัย หรือแม้แต่ช่วยให้คนไข้สามารถหาประโยชน์จากการอนุญาตให้บริษัทยานำข้อมูลไปใช้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Blockchain ในการติดตามการขนส่งเวชภัณฑ์ หรือแม้แต่การบริจาคอวัยวะ

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม Blockchain ยังมีแนวโน้มที่จะเป็น Enabler สำหรับแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing economy ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้บุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการแลกเปลี่ยนการบริโภคสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่ยังถูกใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เนื่องจาก Blockchain และ Smart contracts จะลดบทบาทของตัวกลางและค่าธรรมเนียม รวมทั้งสนับสนุนการทำธุรกรรมและการชำระเงินผ่าน Cryptocurrency

อย่างไรก็ตาม Blockchain นั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าฐานข้อมูลแบบดั้งเดิมในทุกกรณี ที่จริงแล้ว Blockchain เป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบเทคโนโลยีด้านฐานข้อมูล โดยแท้จริงยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกรรม หรือกิจกรรมอื่นๆ ด้านข้อมูลได้ แต่อาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าฐานข้อมูลแบบดั้งเดิม เนื่องจาก Blockchain ใช้ทรัพยากรเพื่อประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก (โดยเฉพาะระบบที่ใช้ Proof of work) เช่น ระบบของ Bitcoin ใช้กระแสไฟฟ้ามากกว่าประเทศเดนมาร์ค หรือไอร์แลนด์ ทั้งประเทศ ในขณะที่ขนาดของบัญชี Distributed ledger มีขนาดใหญ่ขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นผู้พัฒนาระบบจึงต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักของระบบที่จะพัฒนา ว่าจะมีความเหมาะสมในการใช้ Blockchain หรือไม่ 

จากเงื่อนไขต่างๆ ข้างต้น ประกอบกับลักษณะการทำงานของเทคโนโลยี Blockchain ที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดด้านทรัพยากร อาจกล่าวได้ว่า นอกไปจากการพัฒนารูปแบบการใช้งานในรูปแบบใหม่ (New-to-the-world) การใช้งาน Blockchain อาจจะแคบกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาระบบว่าต้องการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นจุดแข็งของ Blockchain อย่างเช่น ความน่าเชื่อถือของระบบ หรือความสามารถในการตรวจสอบการใช้งาน มากเพียงใด ถ้าหากประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องรอง การใช้ระบบฐานข้อมูลทั่วไปอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และสามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่าในระยะยาว

โดย... 

พฤทธิพร นครชัย 

ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา 

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์