CRISPR ความหวังหรือฝันร้าย

CRISPR ความหวังหรือฝันร้าย

ความพยายามของมนุษย์ในการเข้าใจธรรมชาติและภาวะแวดล้อมเพื่อหาคำตอบสำหรับปัญหาสำคัญในการดำรงชีพและการสืบสายพันธุ์

ได้ผลักดันให้นักวิจัยและนักพัฒนาต่างเร่งค้นคว้านวัตกรรมในหลากสาขาไม่ว่าจะเป็น AI, Clean Energy, NeuroScience, Space Exploration รวมทั้งความรู้ด้านพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยการตัดต่อพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งมนุษย์ จนเกิดกระแสนวัตกรรมที่ถูกกล่าวขวัญอย่างมากเช่น “ครีสเปอร์ (CRISPR)”

นวัตกรรมด้านพันธุวิศวกรรมหรือ DNA Hacking กำลังถูกค้นคว้าเพื่อหาหนทางในการพัฒนาสิ่งมีชีวิตให้มีความสามารถทางกายภาพหรือทางสติปัญญาให้ดีขึ้น โดยนักวิจัยกำลังเร่งพัฒนาเพื่อใช้ CRISPR ในการรักษาโรคทางพันธุกรรม พลังงานทดแทน การพัฒนาด้านอาหารและการรักษาโรคมะเร็ง ตลอดจนพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ให้ทนกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยประมาณว่านวัตกรรม Genetic Engineering ที่เรียกว่า CRISPR/Cas9 อาจสร้างรายได้กว่า 53,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025

เครื่องมืออันทรงพลัง

ครีสเปอร์ (CRISPR) หรือ Clustered Regularly Interspaced Palindromic Repeats เป็นเครื่องมือด้านชีววิทยา (Biology) เพื่อใช้ในการตัดต่อพันธุกรรม (DNA) ของสิ่งมีชีวิตที่มีความแม่นยำ ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีอื่น

จากปี 2005 เมื่อนักจุลชีววิทยาได้ค้นพบว่า แบคทีเรียสามารถจัดการกับไวรัสที่มาทำร้ายด้วยการปล่อยโมเลกุล Crispr ออกมา โดยต่อมาพบว่าเมื่อถูกโจมตีแบคทีเรียจะสร้างโปรตีนหรือเอ็นไซม์ที่ทำงานเสมือนกรรไกรในการตัดยีนของไวรัสหรือยีนที่ไม่ต้องการออก โดยการทำงานร่วมกับ “Guide RNA” ที่ช่วยระบุตำแหน่งยีนเป้าหมายในสาย DNA ที่ต้องการตัดต่อ

ในปี 2012 นักชีววิทยานำโดย Jennifer Doudna และ Emmanuelle Charpentier ได้ค้นพบเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมที่เรียกว่า CRISPR-Cas9 ที่ใช้เอ็นไซม์ที่ชื่อว่า “Cas9” ที่เป็นเสมือนกรรไกรในการตัดต่อ DNA จนสามารถตัดเอายีนที่ไม่ต้องการออกหรือต่อเอายีนตัวใหม่กลับเข้าไปในสายพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เปรียบเทียบได้กับโปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์ที่สามารถลบหรือแก้ตัวหนังสือในประโยคได้นั่นเอง นับว่า CRISPR เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยให้ Genetic Engineering รุดหน้าอย่างรวดเร็ว

การตัดต่อพันธุกรรมด้วย CRISPR ได้กลายเป็นกระแสที่บริษัทวิจัยด้าน BioTech ผู้พัฒนาด้านเกษตรกรรมตลอดจนการแพทย์และบริษัทผู้ผลิตยาต่างเร่งงานค้นคว้า จนเกิดความต้องการ RNA เพื่อใช้ในการบอกตำแหน่งของยีน (Guide RNA) ที่ควรถูกตัดออกจากสายพันธุกรรม ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมนานหลายเดือน จนได้เกิดบริษัทสตาร์อัพประเภท Genome Engineering อย่าง “Synthego” ที่นำเอาทักษะด้าน Software Engineering ประกอบกับ Hardware Automation มาใช้ในการผลิต Synthetic Guide RNA ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ช่วยให้การตัดต่อพันธุกรรมเกิดขึ้นเร็วราวกับการเขียนซอฟต์แวร์

 

เหนือธรรมชาติ

การที่มนุษย์สามารถตัดยีนที่ไม่ต้องการออกหรือต่อยีนใหม่เข้าในสายพันธุกรรม นับเป็นการกระทำที่เหนือธรรมชาติซึ่งอาจเป็นผลดีหรือส่งผลร้ายใหญ่หลวงต่อธรรมชาติและสั่งคม โดยในปัจจุบันการตัดต่อยีนจัดเป็นการทดลองที่ทำได้ไม่ยากจนเกินไปและไม่ต้องอาศัยห้องทดลองระดับมาตรฐาน จึงสร้างความกังวลให้กับชุมชนสังคมและภาครัฐที่ต้องหาทางรับมือกับนวัตกรรม Genetic Engineering โดยการออกกฎหมายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความผิดพลาดและการกระทำที่ผิดจริยธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาของนวัตกรรมเช่นกัน

 

คำนึงถึงจริยธรรม

เหตุการณ์ที่นักวิจัยชาวจีนทดลองการตัดต่อยีนกับทารกคู่แรกที่คลอดในปี 2018 นับเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรม และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่รุดหน้าเร็วเกินกว่าที่กฎหมายและสังคมจะพร้อมรับมือ จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของนักวิจัยและนักพัฒนาทุกคนที่ต้องมีจริยธรรมและยึดมั่นในศีลธรรม โดยการทดลองหรือการพัฒนาใดๆ ที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีการหารือและได้รับการยินยอมจากคนในชุมชนและสังคมเสียก่อน