ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพ (3)

ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพ (3)

ครั้งที่แล้วผมนำเอาตัวเลขการเข้ารับการรักษาโรคของคนไทยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในส่วนของโรคที่คนไทยกำลังป่วยเป็นจำนวนมาก

และมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2013-2017 มานำเสนอ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคไตวาย ซึ่งมีผู้ป่วยรวมกัน 2.25 ล้านคนในปี 2013 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.97 ล้านคนในปี 2017 (ซึ่งหากมีตัวเลขของปี 2019 ก็น่าจะสูงกว่า 3 ล้านคนหรือเกือบ 5% ของประชากรของประเทศไทย) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ก็อาจสรุปได้ว่ามีต้นตอมาจากความเสื่อมถอยและบกพร่ององเส้นเลือดและระบบการไหลเวียนของเลือด ซึ่งหากทอดเวลาออกไปอีกก็จะต้องนำมาซึ่งโรคอื่นๆ ที่เป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพคือโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน เป็นต้น

คนส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงตัวผมเองนั้น ปกติเมื่อนึกถึงเรื่องสุขภาพก็จะคิดว่าการกินอะไรที่จะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง กล่าวคือให้ความสำคัญกับอาหารว่าเป็นเชื้อเพลิงหลักของร่างกาย แต่หากมาประเมินอย่างจริงจังแล้วก็ต้องยอมรับจากข้อเท็จจริงพื้นฐานว่า หากไม่ได้กินอาหาร 2-3 สัปดาห์ แต่มีเพียงน้ำดื่มก็ยังจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ (เช่นกรณีทีมหมู่ป่าที่ติดอยู่ในถ้ำที่ถูกน้ำท่วม) แต่ที่จะทำให้ร่างกายเสียชีวิตเกือบจะโดยทันทีก็คือเมื่อระบบไหลเวียนของเลือดไม่ทำงาน ทั้งนี้เพราะทุกส่วนของร่างกายจะต้องอาศัยเลือดแดง (เลือดดีที่มีคุณค่าทางพลังงาน) มาขับเคลื่อนการทำงานของร่างกายและเมื่อใช้พลังงานไปหมดแล้วและจะต้องกำจัดของเสียที่เกิดจากการทำงานของร่างกาย ก็จะต้องส่งเอา “เลือดดำ” ดังกล่าวกลับไปให้ปอดนำเอาอากาศมาฟอกให้เป็นเลือดแดงและถูกนำไปไหลเวียนกลับมาใช้ใหม่ (ผสมกับคุณประโยชน์จากอาหารที่ระบบสำไส้ย่อยออกมาผสมไปกับเลือด) ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลก็จะพบว่าระบบไหลเวียนของเลือดนั้นทำงานหนักมากและทำงานตลอดเวลา กล่าวโดยสรุปคือ

  • หัวใจมนุษย์สูบฉีดเลือด 7,000 ลิตรต่อวัน
  • หัวใจมีน้ำหนักเท่ากับ 1% ของน้ำหนักตัว แต่ต้องใช้พลังงานถึง 10% ของพลังงานทั้งหมดของร่างกาย
  • สมองมีน้ำหนักเท่ากับ 2% ของน้ำหนักตัว แต่ต้องใช้พลังงานถึง 20% ของพลังงานทั้งหมดของร่างกาย
  • หลอดเลือดและเส้นเลือดฝอยของมนุษย์รวมกันทั้งหมดมีความยาว 100,000 กิโลเมตรหรือมีความยาวเท่ากับโลกของเรา 2.5 รอบ
  • มนุษย์มีเลือดในตัวเพียง 5 ลิตร ดังนั้นหัวใจจึงต้องสูบฉีดให้เลือดไหลเวียนในร่างกายวันละ 1,500 ครั้ง

ขอให้ลองนึกภาพดูว่าหัวใจมีขนาดเพียงเท่ากับกำปั้นของเราและมีน้ำหนักเพียงไม่ถึง 1/3 กิโลกรัม แต่ต้องปั้มเลือดวันละ7,000 ลิตร (ผมเดาว่าคนส่วนใหญ่เติมน้ำมันเพื่อใช้รถทั้งปีประมาณ 1,200 ลิตร เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าหัวใจของเราปั้มเลือดใน 1 วันเท่ากับการเติมน้ำมันให้กับรถยนต์เกือบ 6 ปี) ซึ่งหัวใจก็ต้องอาศัยกล้ามเนื้อหัวใจที่แข็งแรงและกล้ามเนื้อก็ต้องพึ่งพาระบบลำเลียงเลือดที่ดีและเส้นเลือดที่แข็งแรงเพื่อรองรับเลือดและการทำงานที่หนักหน่วงดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่รวมถึงอวัยวะทุกอวัยวะ เช่น ตับ ไต ตับอ่อน ฯลฯ ที่ต้องทำงานหนักในการกำจัดของเสียของร่างกายและต้องอาศัยเส้นเลือดและเลือดในการทำงานอย่างเต็มสมรรถภาพ

บางคนอาจไม่ได้นึกถึงต่อไปอีกว่าแม้แต่กระดูกก็จะต้องใช้เลือดและพลังงาน+อาหารที่มากับเลือด เพื่อบำรุงให้กระดูกแข็งแรง (ดังนั้นคนที่เส้นเลือดไม่ดีเป็นโรคหัวใจ ก็จะมีปัญหากระดูกไม่แข็งแรงพร้อมกันไปด้วย) ที่สำคัญคือสมองนั้นแม้จะมีน้ำหนักเพียง 1.5 กิโลกรัม แต่ก็ต้องการใช้เลือดประมาณ 20% ของเลือดทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเส้นเลือดไม่ดี สมองก็ย่อมจะไม่ดีไปด้วย นอกจากนั้นกล้ามเนื้อและยังผิวหนังก็ย่อมจะต้องพึ่งพาเส้นเลือดและเลือดที่ไหลเวียนอย่างทั่วถึงไปหล่อเลี้ยงอีกด้วย กล่าวคือผู้หญิงที่รักสวยรักงามและยอมจ่ายเงินมากมายเพื่อซื้อเครื่องสำอางและยาบำรุงผิวมาใช้นั้น ลองนึกดูว่าการทาครีมบนผิวหนังย่อมจะมีผลเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประโยชน์ต่อกล้ามเนื้อและผิวหนังที่จะได้มาจากการดูแลเส้นเลือดให้มีคุณภาพแข็งแรงและให้เลือดสามารถไหลไปหล่อเลี้ยงผิวพรรณอย่างทั่วถึง กล่าวคือสมัยที่ร่างกายยังอายุน้อยและเส้นเลือดยังอายุน้อย ผิวพรรณก็จะอายุน้อยและดูดีไปด้วย

ผมจึงต้องสรุปว่า หากจะดูแลตัวเองให้สุขภาพดีในทุกมิติแล้ว ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการดูแลระบบไหลเวียนของโลหิตและการดูแลเส้นเลือด 100,000 กิโลเมตรของตัวเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ การจะกินอะไร (มากเกินไป มันเกินไปหรือหวานเกินไป) ก็ควรจะ “เกรงใจ” ระบบไหลเวียนของเลือดของร่างกาย ซึ่งอาจจะแตกต่างจากแนวคิดที่มักจะมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องๆ ไป เช่น การดูแลอวัยวะต่างๆ เป็นรายตัว ไป เพราะปัจจุบันเวลาเราจะไปพบแพทย์ก็มักจะต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางที่จะช่วยดูแลรักษาเป็นโรคๆ ไป ซึ่งร่างกายของเรานั้นทุกอวัยวะต้องอาศัยการไหลเวียนของเลือดเป็นพื้นฐานสำคัญครับ