เตรียมจัดพอร์ตลงทุน รับภาวะ Risk-on Mode

 เตรียมจัดพอร์ตลงทุน รับภาวะ Risk-on Mode

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน เราได้เข้าสู่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีกันแล้วนะคะ

โดยนับตั้งแต่ต้นปี ผลตอบแทนของตลาดหุ้นหลักๆ ส่วนใหญ่ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยตลาดหุ้นจีน (A-Shares) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งเพิ่มขึ้น 33% 24% และ 20% นับตั้งแต่ต้นปี ตามลำดับ ขณะที่ ความผันผวนของตลาดหุ้นฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยประเด็นที่เข้ามาเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนหลักๆ ในปีนี้ ได้แก่ ประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ความกังวลต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ความไม่แน่นอนของการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) และความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับ การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ จนถึงปี 2020 นั้น ดิฉันมีมุมมองการลงทุนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มผ่อนคลายความตึงเครียดลงจากในปี 2019 และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่สหรัฐฯ และจีนจะมีการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างกัน ภายในกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการปูทางสู่การเจรจาการค้าในเฟสต่อๆ ไปตามมา โดยดิฉันมองว่า ทั้งสหรัฐฯและจีน ต่างก็ไม่ต้องการให้สงครามการค้ายืดเยื้อ เพราะจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก
  • โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (recession) ในปี 2020 อยู่ในระดับต่ำ หลังประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเกิดการถดถอยก็ได้ลดลง โดยความกังวลต่อการเกิดภาวะ Inverted Yield Curve ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องบ่งชี้ การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในอดีตปรับลดลงหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น อยู่ในระดับที่มากกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และส่วนต่างของอัตราผลตอบแทน (2-10 Spread) ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +22 นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดภาคการผลิต (ISM Index) เริ่มปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับหดตัวก็ตาม ขณะที่เครื่องบ่งชี้อื่นๆ เช่น การบริโภคภาคเอกชน ตลาดแรงงาน กำไรของบริษัท รวมทั้งปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ยังไม่บ่งชี้ถึงสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยแต่อย่างใด นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เกิด Recession ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Bloomberg ต่อโอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ​ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 26.8% ลดลงจากในช่วงต้นปีซึ่งอยู่สูงถึงเกือบ 50% อย่างไรก็ตามหลายประเทศมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคเนื่องจากสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและจากความไม่แน่นอนในหลายภูมิภาคซึ่งเกิดจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ เช่น เยอรมนี อาเจนตินา และฮ่องกง
  • อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงแต่ข้อจำกัดการดำเนินนโยบายการเงินมีเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกลางบางแห่งได้ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบแล้วขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมากทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปอาจไม่สามารถทำให้ Yield Curve ปรับลดลงได้มากนัก นอกจากนี้ นโยบายการคลังจะถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีความสามารถในการใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายได้มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

การจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ในช่วงที่ภาพรวมตลาดจะเป็นไปในเชิงเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On Mode) นั้น ดิฉันได้ให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2020 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีนี้และตลาดหุ้นจีนที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ส่วนตราสารหนี้ยังคงเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) นอกจากนี้เงินดอลลาร์ สรอ. ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการดำเนินนโยบายเงินผ่อนคลายและการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางหลายแห่งทำให้การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมัน และทองคำยังมีความน่าสนใจ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดหุ้นจะมีความน่าสนใจแต่การที่ดัชนีฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นมามากในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไรโดยเฉพาะในปี 2020 ที่จะมีเหตุการณ์ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับการลงทุนในตลาดหุ้น ได้แก่ การเจรจาเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งประเทศคู่ค้าอื่นๆ การสิ้นสุดเส้นตาย Brexit ในวันที่ 31 ม.ค. และการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย.2020 ดังนั้นการลงทุนจึงควรเน้นการ Selective มากขึ้น และเน้นลงทุนในกองทุนฯ ที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบเชิงรุก (Active Fund) มากกว่าการลงทุนในกองทุนฯ​ ที่มีการอิงตามดัชนีฯ (Passive Fund) และเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ valuation ยังไม่แพงและยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ขณะที่การลงทุนยังควรมีการจัดสรรการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์​ (Asset Allocation) นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในทางเลือกอื่น รูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสและผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป เช่น การลงทุนในตราสารประเภทซับซ้อน (Structure Products) หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัทเอกชนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) เป็นต้น แต่การลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงหรือข้อจำกัดต่างๆ เช่น ระยะเวลาในการลงทุนหรือสภาพคล่อง ดังนั้นนักลงทุนควรพิจารณาเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ด้วยเช่นกัน