พรบ.อำนวยความสะดวก 2558 กับระบบสาธารณสุข

พรบ.อำนวยความสะดวก 2558 กับระบบสาธารณสุข

เมื่อครั้งเข้าประชุม กมธ.สาธารณสุข อย่างงงๆ เพราะไม่รู้ว่า พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขอย่างไร

 ยิ่งฟังผู้ชี้แจงจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้แทนของ กพร. แล้วก็ยิ่งงงหนัก

เรื่องของเรื่องคือ กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตกับทางหน่วยราชการเวลาที่ต้องการทำธุรกิจอะไรที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับอนุญาต

ที่รัฐดำเนินการตอนนี้แล้วคือการลดขั้นตอนการออกใบอนุญาต เช่นการตั้งศูนย์ One Stop Service อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนยาวหลายเดือนหรือเป็นปี กว่าจะทำธุรกิจได้

ที่รัฐบาลทำตรงนี้ก็เพราะต้องการให้เป็นที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ไม่ต้องเสียเวลามากเกินไปในการจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทย และถ้าทำได้ก็จะได้รับการจัดอันดับให้ดีขึ้น เท่ากับเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นไปในตัว ผลดีก็เกิดขึ้นกับนักธุรกิจไทยด้วย

ส่วนที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขไทย คงไม่ได้ใช้กับสถานพยาบาลรัฐ แต่มีผลกับสถานพยาบาลเอกชนที่กำลังเติบโตผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด

จากข้อมูลกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประเทศไทยมีคลินิก (ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน) มากถึง 25,978 แห่ง และเป็นโรงพยาบาล (รับผู้ป่วยค้างคืน) จำนวน 362 แห่ง สถานพยาบาลเหล่านี้ต้องขออนุญาตกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ก.สาธารณสุข ก่อนถึงจะดำเนินกิจการได้

ปัญหาคือกระบวนงานที่พิจารณากว่าจะออกใบอนุญาตค่อนข้างจะมีหลายขั้นตอน คือมีทั้งหมด 14 กระบวนงาน และถ้าเกี่ยวข้องกับการประกอบโรคศิลปะ ก็จะต้องผ่านถึง 21 กระบวนงานกว่าจะได้รับอนุญาต ตั้งแต่แผนจัดตั้งจนถึงขออนุญาตเปิดให้บริการ ใช้เวลารวมประมาณ 2-5 เดือนกว่าจะแล้วเสร็จให้บริการได้

ถ้ากรมสนับสนุนบริการสุขภาพต้องการออกใบอนุญาตให้เร็วขึ้น ก็คงต้องมีศูนย์ One Stop Service

แต่ปัญหาก็คือการออกใบอนุญาตให้ประกอบการคลีนิกและโรงพยาบาลนี้ต้องมีการตรวจ ไม่ใช่แค่ส่งเอกสาร ต่อคณะกรรมการสถานพยาบาล จึงอาจใช้เวลายาวนานกว่าศูนย์ One Stop Service ของระบบงานอื่นๆ

เท่าที่ฟังคำชี้แจง เรื่องการขออนุญาตเปิดดำเนินการสถานพยาบาลของเอกชนนี้ไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เพราะผู้ขอดำเนินการก็ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างอาคารสถานที่ที่ต้องทำควบคู่กันไป เช่น ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องผ่าตัดใหญ่ คลีนิกเฉพาะทาง คลินิกเทคนิคการแพทย์ สหคลีนิก การตรวจก็อาจใช้วิธีถ่ายภาพวีดีโอนำเสนอได้ และยิ่งใช้การสื่อสารทางอีเล็กทรอนิกส์ก็จะยิ่งสะดวกยิ่งขึ้น

ถ้าจะช้าก็น่าจะมาจากการประชุมพิจารณาอนุญาตที่คณะกรรมการสถานพยาบาลไม่ได้ประชุมกันบ่อย แต่อาจเป็นเดือนกว่าจะประชุมกันสักครั้ง ถ้ายังไม่ประชุมก็อนุมัติไม่ได้

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตในระบบสาธารณสุข แต่วันนี้ไม่ได้กล่าวถึงคือเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นเรื่องของ Health Startup, Telemedicine เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่ในปัจจุบันคลีนิกและโรงพยบาลเอกชนทำกันมาก โดยต่างคนต่างทำ ไม่มีการควบคุมโดยให้ใบอนุญาตประกอบการเฉพาะเรื่อง

เดี๋ยวนี้สถานพยาบาลบ้านเราเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด และดำเนินการไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาลผู้ป่วย แต่เป็นเรื่องให้บริการด้านความสวยความงาม การผ่าตัดแปลงเพศ การฝากไข่ และการให้คำปรึกษาทางการแพทย์โดยผู้ให้คำปรึกษาที่อาจไม่ได้เป็นแพทย์ หรือให้คำปรึกษาโดยไม่เห็นผู้ป่วย

สิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่น่าจะต้องได้รับการอนุญาต เพื่อให้มีการควบคุมให้อยู่ในมาตรฐาน ไม่ค้ากำไรเกินควร ที่สำคัญเป็นการสร้างเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะต่างชาติ ที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้มาก

การชี้แจงของผู้ชี้แจงในวันนั้น ได้กล่าวถึงผลการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย แต่ค่อนข้างผิดหวังเพราะประชาชนดูเหมือนจะไม่รู้ว่ามีกฎหมายฉบับนี้ หรือรู้ ก็ไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์อะไรกับประชาชน เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่า ผลการสำรวจจึงดูไม่ค่อยน่าสนใจ

ถ้าจะสำรวจกันจริงๆ ก็น่าจะสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจสถานพยาบาล หรือผู้เกี่ยวข้องให้คำปรึกษา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจขั้นตอนการขออนุญาต และจะสามารถบอกปัญหาและอุปสรรคในการขออนุญาตได้ดีและตรงตามความประสงค์มากกว่า

กฎหมายฉบับนี้มีแค่ 18 มาตรา เป็นเรื่องการกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวกับการอนุญาตซึ่งไม่ได้มีการรวบรวมให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ได้กำหนดระยะเวลา เอกสารและหลักฐานที่จำเป็นรวมถึงขั้นตอนการพิจารณา ก็จึงต้องออกกฎหมายฉบับนี้รองรับ แต่ที่สำคัญคือ กฎหมายฉบับนี้ให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร.ให้มีหน้าที่ตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต

ซึ่งก็แปลกดีที่จะต้องมี กพร.เข้ามากำกับอีกทีทั้งๆ ที่ส่วนราชการต่างก็ทำหน้าที่อยู่แล้ว เช่นเรื่องการจัดตั้งสถานพยาบาลเอกชน ก็มีคณะกรรมการสถานพยาบาล และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพดูแลโดยตรง ซึ่งน่าจะเข้าใจกระบวนการและขั้นตอนมากกว่า กพร.

การเขียนกฎหมายบ้านเรานี่ บางทีก็ออกมาอย่างงงๆ.....ไม่มีปี่มีขลุ่ยเหมือนกัน...