“WeWork แต่ไม่ Work อย่างที่คิด”

“WeWork แต่ไม่ Work อย่างที่คิด”

ในปีนี้คงจะไม่มีบริษัทสตาร์ทอัพไหนที่อื้อฉาวไปกว่า WeWork ที่ก่อตั้งโดย Adam Neumann และ Miguel McKelvey

และมี Venture Capitalist ชื่อดังอย่าง Softbank, JP Morgan Chase และ Goldman Sachs เป็นผู้ให้ทุนหลัก บริษัท WeWork เป็นบริษัทให้เช่าสถานที่ใช้งานเป็นออฟฟิศเคลื่อนที่ที่สามารถให้เช่าทำงานเป็นรายเดือนหรือรายปี แต่ WeWork ก็มีคู่แข่งอย่างเช่น Regus ที่มีสาขาอยู่ที่ตึก Exchange Tower และ Central World เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้ WeWork แตกต่างจากหลายๆ บริษัทนั่นก็คือการตกแต่งภายในของออฟฟิศ WeWork

WeWork ได้นำเอาการผสมของศิลปะและวัฒนธรรมของแต่ละสถานที่ในเมืองๆ นั้น อย่างเช่นตู้โทรศัพท์ในกรุงลอนดอน มาผสมผสานกันกับสำนักงานรูปแบบใหม่ที่เป็นมากกว่าสำนักงานในรูปแบบของ Co-Working Space ทั้งโต๊ะปิงปอง แสงไฟนีออน เครื่องทำกาแฟบด โต๊ะพูล เป็นต้น ซึ่งนี่คือเอกลักษณ์ของ WeWork ทำให้หลายๆ บริษัทได้ขอให้ทาง WeWork ช่วยตกแต่งออฟฟิศให้กับพวกเขาอย่างเช่น Puma, Microsoft, KPMG เป็นต้น ส่วนราคาค่าเช่าขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราจะใช้ออฟฟิศ อย่างเช่นที่เมืองไทยที่ผมได้ไปดูมาคือที่ตึก T-1 ตรง BTS ทองหล่อ ตึกนี้เต็มไปด้วยบริษัทสตาร์ทอัพมากมาย อาทิ Wongnai, Zillingo, Eatigo เป็นต้น WeWork สาขานั้นเปิดให้เช่าเริ่มต้นที่ 8,000 บาทต่อเดือนสำหรับ 1 คน ราคาเช่าต่อคนต่อเดือนที่แพงที่สุดในโลกของ WeWork กลับไม่ใช่ที่นิวยอร์ค ลอนดอน หรือ ปารีส แต่เป็นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในย่านกินซ่า เริ่มต้นที่ 91,000 เยน หรือประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน

WeWork ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 528 สาขา และช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้บริษัทเปิดเพิ่มอีก 43 สาขา เติบโตเร็วมากขนาดที่ว่า 2 วันเปิด 1 สาขา ทำให้เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา WeWork ได้ประกาศ IPO โดยการเปิดให้นักลงทุนอิสระสามารถจองซื้อหุ้นของ WeWork ก่อนเข้าตลาดหุ้นได้ บริษัทคาดการณ์ไว้ว่าจะได้เงินจากการ IPO ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ปรากฏว่าเมื่อ WeWork ได้ออกหนังสือชี้ชวนการลงทุนนั้น นักลงทุนได้เจอช่องโหว่ของบริษัทมากมาย อาทิเช่น ทาง Adam ผู้ก่อตั้งได้ทำลิขสิทธิ์คำว่า We ไว้ ซึ่งทาง WeWork ต้องจ่ายให้เขาถึง 5.9 ล้านดอลลาร์สำหรับการซื้อชื่อ We จากเขา อย่างที่สองคือ ถ้า Adam เสียชีวิตไป ภรรยาเขามีสิทธิ์ที่จะเลือก ประธานบริษัทคนถัดไปได้เลย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ตาม อย่างที่สาม ทาง WeWork ได้เช่าตึกและชั้นในตึกระฟ้าทั่วโลกเพื่อสร้างออฟฟิศของตัวเองขึ้นมา ซึ่งบางตึกที่ WeWork เช่าเป็นของ Adam เองด้วย ซึ่งมีอยู่ถึง 4 แห่งทั่วโลกด้วยกัน

นอกจากนั้นเองทางงบการเงินของ WeWork ก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในตัวบริษัทเพิ่มขึ้นกลับกลายเป็นลดลงกว่าเดิม เนื่องจากถึงแม้ว่ารายได้ของ WeWork โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกปี แต่ก็ขาดทุนอย่างก้าวกระโดดทุกปีเช่นเดียวกัน อย่างเช่นปี 2017 รายได้ 907 ล้านดอลลาร์ ขาดทุน 948 ล้านดอลลาร์ ปี 2018 รายได้ 1,855 ล้านดอลลาร์ ขาดทุน 1,967 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้ว่าเราอาจจะบอกว่าก็เหมือนบริษัทสตาร์ทอัพช่วงแรกๆที่ยอมขาดทุนแบบถล่มทลาย เพราะสายป่านยังยาวอยู่ เหมือน Twitter ที่ขาดทุน 12 ปีติดต่อกัน หรือแม้กระทั่งสตาร์ทอัพอย่าง Uber ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีกำไรเลย ถึงแม้ว่าเข้าตลาดหุ้นไปแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ WeWork แตกต่างจาก Uber คือ Uber ไม่มีหนี้สินใดๆ เพราะรถที่ขับ Uber ก็เป็นรถของเจ้าของรถเอง แต่ตัว WeWork มีหนี้สินเป็นสัญญาเช่าตึก โดยปกติแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสัญญาจะอยู่ที่ประมาณ 15 ปี แต่คนที่เป็นสมาชิกหรือ subscriber ของ WeWork จะจ่ายค่าเช่าเป็นรายปี ดังนั้นเรียกว่าตัว WeWork มีหนี้สินระยะยาว แต่มีรายได้ระยะสั้น

หลังจากหนังสือชี้ชวนได้ออกไปแล้ว 30 วัน ก็ทำให้การประเมินมูลค่าบริษัทของ WeWork ลดลงไปถึง 80% เลยทีเดียวเหลือเพียง 1 หมื่นล้านดอลลาร์จาก 47,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ในวันที่ 16 ก.ย. WeWork เลยตัดสินใจเลื่อน IPO ออกไปเนื่องจากว่าการประเมินต่ำเกินกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ หลังจากนั้นหลายๆ สื่อรวมไปถึงทาง Softbank ได้โจมตีทาง Adam เนื่องจากพฤติกรรมหลายๆอย่างของ Adam อย่างเช่น ชวนพนักงานตัวเองดื่มเหล้าในบริษัทหลังจากประกาศปลดพนักงาน หรือการที่เขาใช้สารยาเสพติดบนเครื่องบินส่วนตัวของบริษัท ซึ่งทางตัว Adam จึงขอลดบทบาทตัวเองลงจากการเป็น CEO และเป็นเพียงแค่บอร์ดผู้บริหารเท่านั้น ในวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา โดยให้ทาง Artie Minson และ Sebastian Gunningham ขึ้นรับหน้าที่เป็น co-CEO แทน

ในเมื่อการประเมินของบริษัทต่ำลงขนาดนี้และบริษัทขาดทุนขนาดนี้ทำให้บริษัทไม่มีเงินจ่ายพนักงาน สุดท้ายทาง WeWork เองต้องปลดพนักงานประมาณ 2,000 คนเพื่อทำให้บริษัทยังอยู่รอดจนสุดท้ายแล้วทาง Softbank เลยเสนอแผนกอบกู้บริษัทโดยให้ทาง Adam ขายหุ้นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ และออกจากบอร์ดของบริษัทที่ตัวเองเป็นคนก่อตั้ง จากสิ่งที่ Softbank ทำ ทำให้มูลค่าของ WeWork เหลือเพียง 8,000 ล้านดอลลาร์ และทำให้มูลค่าของ Softbank หายไปกว่า 30% จากช่วงเมษายนที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดท้ายแล้ว Adam ก็ยังได้เป็นมหาเศรษฐีอยู่ดี จากเงินที่ทาง Softbank ให้ แต่คนในบริษัททั้งหมด 2,000 ต้องโดนไล่ออกอยู่ดี

เรื่องนี้อาจจะทำให้หลายๆ คนและตัวผมเองตื่น จากกระแสสตาร์ทอัพที่ถาโถมเข้ามา บางทีเราต้องกลับมามองอย่างมีสติว่า อาจจะโตเร็วนะ แต่การขาดทุนก็เติบโตตามไปด้วย ดังนั้นเราต้องดูบริษัทสตาร์อัพดีๆว่า เขามีแผนที่จะหยุดเลือดไหลจากการขาดทุนได้ไหม อย่าง WeWork อาจจะโตเร็วเหมือน Airbnb ที่สมัยนั้นเข้ามาอย่างรวดเร็วเหมือนกัน แต่เรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนทำได้อย่างคนละเรื่องเลยครับ เพราะทุกวันนี้ Airbnb มีกำไรแล้วครับ

โดย... 

ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

นักวิชาการอิสระ

www.facebook.com/KakaMan22