เปลี่ยนความรู้ เป็นความสามารถที่ต้องการ

 เปลี่ยนความรู้ เป็นความสามารถที่ต้องการ

ในศตวรรษที่ผ่านมาผู้คนในชุมชน การยอมรับจากสังคม และการพิจารณารับคนเข้าทำงานขององค์กรต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ใช้การศึกษาเป็นตัวตัดสิน

ว่าใครมีศักยภาพมากกว่าใคร ใครมีโอกาสที่จะนำความรู้ที่มีอยู่ในสมองมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยสองมือได้มากกว่ากัน ดังนั้นวุฒิการศึกษา ประกาศนียบัตร จนถึงปริญญาบัตรจึงกลายเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่บ่งบอกคุณสมบัติของคนคนนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาลงไปให้ลึกขึ้นไปอีกยังมีเรื่องของสำนักวิชาว่าจบจากที่ใด การเรียนการสอนและระบบการศึกษาเชื่อถือได้ในเรื่องคุณภาพมากน้อยแค่ไหน

แต่ในยุคปัจจุบันที่ความรู้ไม่ได้เป็นความลับและไม่มีอะไรปิดกั้นได้อีกต่อไป แหล่งความรู้จึงไม่ได้ถูกผูกขาดไว้ที่สถาบันการศึกษาเท่านั้น ทุกคนสามารถแสวงหาความรู้ได้ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตที่เป็นแหล่งเรียนรู้กว้างใหญ่และเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างแท้จริง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งใครที่มีสมาร์ทโฟนก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานพวกนี้อยู่แล้ว หรืออาจจะมีค่าใช้จ่ายอีกเล็กน้อยสำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้ผ่านชุดหลักสูตรเฉพาะที่มีการออกแบบมาอย่างดีและมีการวัดผล เรียกว่าเป็นการเรียนตามอัธยาศัยอย่างแท้จริง และถือว่าเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีขอบเขตจำกัดและไม่ต้องขอเรียกดูหลักฐานอะไรทั้งสิ้น

ในด้านการทำงานและการประกอบอาชีพ ความรู้อาจจะสำคัญก็จริง แต่สิ่งที่จะบ่งบอกถึงสมรรถนะและการสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์อยู่ที่ความสามารถ (Competence) ต่างหาก ความสามารถในการที่จะนำความรู้ที่มีอยู่ในตัวมาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์และบริบทรอบข้างในเวลานั้น โดยอาจแบ่งได้ใน 2 ลักษณะคือ ความสามารถในการทำงานซ้ำๆ งานประจำวัน งานที่ต้องการผลิตภาพที่สูง (มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล) เรียกความสามารถนี้ว่า เทคนิค (Technique) และความสามารถในการทดลองค้นคว้าจนได้ความรู้ใหม่ งานพัฒนาปรับปรุง งานสร้างสรรค์ ตลอดจนถึงการสร้างนวัตกรรม เรียกความสามารถนี้ว่า เทคโนโลยี (Technology)

อธิบายให้เห็นภาพและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นในรูปแบบสมการได้ว่า

ความรู้ (Knowledge) + ประสบการณ์ (Experience) = ทักษะ (Skill)

ทักษะ (Skill) + การพัฒนา (Development) = เทคนิค (Tools & Technique)

จะเห็นได้ว่ากว่าที่คนหนึ่งคนจะมีทักษะการทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนสามารถทำได้เหมือนเป็นเรื่องง่าย ทำได้เร็ว ทำได้โดยไม่ผิดพลาด ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาระยะเวลาหนึ่ง อาจจะเป็นเดือนหรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในงานนั้นๆ เมื่อใดก็ตามที่บอกได้ว่าทำสิ่งนั้นแบบหลับตาทำยังได้ หรืออธิบายงานนั้นได้เป็นฉากๆโดยละเอียดแบบไม่ต้องเปิดตำรา แสดงว่ามีความเชี่ยวชาญชำนาญอย่างมาก แต่กระนั้นทักษะดังกล่าวยังเป็นความสามารถเฉพาะคน เมื่อมีการย้ายงาน ย้ายแผนก หรือลาออก การจะรับคนใหม่เข้ามาแล้วให้สามารถทำงานได้เหมือนคนเก่าในเวลาอันสั้นเป็นเรื่องที่ยาก เหมือนกับว่าต้องกลับไปวนลูปของการฝึกอบรม ทดลองปฏิบัติ ให้คำชี้แนะ แล้วปล่อยให้ทำงานนั้นไประยะหนึ่งจนมีความชำนาญได้เอง ซึ่งเสียเวลาและไม่ทันกับการแข่งขันทางธุรกิจ

การถอดบทเรียน ทักษะความสามารถของคนรุ่นเก่าออกมาเป็นแบบสอนงาน ที่มีขั้นตอนละเอียดชัดเจน มีข้อควรระวัง จุดสังเกต และที่สำคัญคือเทคนิควิธีการที่จะทำงานนั้นให้ได้เร็วให้ได้ดีที่ไม่มีอยู่ในความรู้ทั่วไป โดยอาจพัฒนาออกมาเป็นเครื่องมือ หรือเทคนิควิธีการเฉพาะ ก็จะทำให้การพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถใกล้เคียงคนเก่าในเวลาอันสั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น การจัดการความรู้ (knowledge management) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกองค์กรควรตระหนักและทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน 

ตัวอย่างการหัดขับรถยนต์ ถ้าเราจะอ่านตำรา ฟังบรรยาย แล้วมาลองฝึกขับเองคงเป็นเรื่องยาก การให้คนรู้จักที่ขับรถเป็นมาสอนก็มีโอกาสขับรถยนต์เป็นมากขึ้น แต่กระนั้นมือใหม่หัดขับหลายคนแม้ว่าจะเข้าเกียร์เป็น เหยียบคันเร่งเดินหน้าได้ แต่กว่าจะขับได้คล่องต้องใช้เวลา ที่สำคัญมากไปกว่านั้นการถอยรถเข้าจอดในสถานที่ต่างๆไม่ว่าจะจอดแนวข้างริมทางเท้า หรือจอดเข้าซองในช่องจอด ยังล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องยาก อุบัติเหตุเฉี่ยวชนขอบทาง เสากั้น หรือต้องถอยเข้าออกหลายครั้งหลายนาทีกว่าจะจอดได้ ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนพบเจอ แต่ถ้าเราเข้าไปเรียนกับโรงเรียนสอนขับรถที่มีมาตรฐาน จะมีสนามให้ทดสอบไม่ว่าจะวิ่งทางตรง ทางเลี้ยว ทางแคบ ทางแยก และสะพาน เสมือนจำลองถนนจริงมาให้เราซ้อม ก่อนออกไปวิ่งจริงเพื่อหาประสบการณ์ แต่ในการฝึกจอดรถยนต์ในสถานการณ์ต่างๆ ครูฝึกจะไม่ใช่แค่บอกเราว่าจะต้องใส่เกียร์อย่างไร หมุนพวงมาลัยทางไหน แต่จะบอกถึงเทคนิควิธีการที่จะทำอย่างไรให้เราเข้าจอดได้ง่าย ได้เร็ว โดยไม่มีแผลเฉี่ยวชน จุดสังเกต ทิศทางการหมุนและคืนพวงมาลัย จะได้รับการชี้แนะอย่างเป็นขั้นตอน

ถ้าเราเข้าไปในYouTube และค้นหาคำว่าเทคนิคการขับรถยนต์ เทคนิคการถอยจอด หรือคำอื่นๆที่ใกล้เคียงกันนี้ เราจะพบเห็นคลิปวีดิโอมากมาย ทั้งที่เป็นการถ่ายจากการสอนขับจริง จนไปถึงภาพจำลองในแบบกราฟิกเอนิเมชั่นที่แนะนำทีละขั้นตอน แบบที่เราดูแล้วลองไปปฏิบัติทำตามได้เอง

 เรายังสามารถเข้าไปค้นหาเทคนิควิธีการสารพัดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องปรับอากาศ ด้านงานเกษตรปลูกผักเลี้ยงปลาหลากหลายสายพันธ์ ปลูกอย่างไร เลี้ยงอย่างไร ให้ได้ผลผลิตดีมีความสูญเสียน้อย ด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ด้านการท่องเที่ยวแบบไปได้ง่ายไปได้เองโดยตัวคนเดียว เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นที่สรุปเป็นแนวทางลัดให้เรานำไปปฏิบัติได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปลองผิดแบบที่เขาเจอมาก่อน

 ครั้งหน้าผมจะมาอธิบายว่า แล้วถ้าต้องการค้นคว้าในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จะนำความรู้แบบเดิมมาต่อยอดเพิ่มเติมให้เกิดความรู้ใหม่ และพัฒนาอย่างไรให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้สร้างนวัตกรรมได้