เก็บตกสัมมนาเศรษฐกิจโลกที่ฮัมบูร์ก

เก็บตกสัมมนาเศรษฐกิจโลกที่ฮัมบูร์ก

วันอังคารที่แล้ว ผมไปร่วมงานสัมมนา “Dialogue of Continents 2019: The New Age of Progress”

จัดโดยคณะกรรมการ Reinventing Brettonwoods และสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ฮัมบูร์ก (Hamburg Insititute of International Economics) ไปร่วมแสดงความเห็นและเป็นประธานการประชุมในหัวข้อแรก คือ World and Trade Turmoil – The Disentanglement of the Global Economy พูดถึงความสับสนอลหม่านที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้ร่วมให้ความเห็น ได้แก่ นายเทาแซง (Tao Zhang) รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และนายYaroslav Lissovolik หัวหน้าฝ่ายวิจัย ธนาคาร Sberbank ของรัสเซีย วันนี้เลยจะเก็บตกสาระสำคัญของการหารือในประเด็นนี้มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

ผมเริ่มโดยปูพื้นว่า 2 อาทิตย์ก่อน ในการประชุมร่วมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ไอเอ็มเอฟได้แสดงความเห็นใน 2 - 3 เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ คือ หนึ่ง เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวพร้อมกัน โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ กำลังอ่อนตัวลงหรือขยายตัวลดลง สอง ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับความเป็นหนึ้ที่สูงขึ้นของบริษัทธุรกิจ การกู้ยืมในสกุลเงินต่างประเทศของประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่มีมากขึ้นจากสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงถือโดยนักลงทุนสถาบันที่ได้เพิ่มสูงขึ้น สาม ความขัดแย้งและข้อพิพาทที่มีมากขึ้นในโลก ทั้งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และภูมิศาสตร์การเมืองได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับอนาคตของระบบการค้าโลก ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะแก้ไขปัญหา

ทั้งสามประเด็นนี้สำคัญและผมให้ความเห็นว่า เรากำลังอยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างลำบากและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และมีผลอย่างสำคัญต่อการทำธุรกิจและตลาดการเงิน

ในประเด็นนี้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไอเอ็มเอฟ ได้ขยายความว่า การชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงกันที่กำลังเกิดขึ้น เป็นผลทั้งจากวัฎจักรเศรษฐกิจและแนวโน้มระยะยาวที่ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้ลดถอยลง ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3 ซึ่งต่ำสุดตั้งแต่ปี 2008 และผู้เข้าร่วมประชุมที่กรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้บริหารนโยบายของประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้สามเรื่อง

หนึ่ง จะบริหารเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างไร โดยเฉพาะการผสมผสานนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายกับการขยายบทบาทของนโยบายการคลัง ผ่านระบบภาษีและการใช้จ่ายของรัฐ

สอง มีความห่วงใยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งด้านการค้า ซึ่งคงหมายถึงสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐกับจีน อาจทำให้ความพยายามที่จะฟื้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการเงินและการคลังอาจมีข้อจำกัดและไม่ประสบความสำเร็จ

สาม อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและต่ำเป็นเวลานานอย่างที่ได้เกิดขึ้น ได้สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ การหาผลตอบแทนที่สูงจากการลงทุนที่ทำให้นักลงทุนสถาบันเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และความเสี่ยงที่อาจเกิดการไหลออกฉับพลันของเงินลงทุนต่างประเทศจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งถึงแม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นก็อาจสร้างปัญหาได้ในระยะยาว

ดังนั้น สำหรับผู้ทำนโยบาย ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้จึงท้าทายว่าจะหาทางออกจากความย้อนแย้งหรือ dilemma นี้อย่างไร ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตโดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ และไม่สร้างความไม่สมดุลให้มีมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

ในความเห็นของไอเอ็มเอฟ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ลดลงช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเทียบกับช่วง 50 ปีก่อน ชี้ชัดเจนถึง ศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้ลดถอยลงมาก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจาก ผลิตภาพการผลิตที่ลดลง จากปัญหาประชากรสูงวัย และจากแนวโน้มที่ระบบโลกาภิวัฒน์ได้อ่อนแรงลง โดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาควรต้องทำในสองระดับ คือ ระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดปัญหาที่มาจากความขัดแย้งต่างๆ ที่ทางไอเอ็มเอฟมองว่า เป็นผลหรือปัญหาที่ถูกสร้างขึ้นเองโดยนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ให้กลับมาใช้กลไกพหุภาคีเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากการค้าระหว่างประเทศ ควรขยายความร่วมมือระหว่างประเทศให้ครอบคลุมเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอื่นๆ ที่ต้องแก้ไข เช่น การลดความไม่สมดุลที่มีอยู่เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาโลกร้อน หรือ Climate Change

ในระดับประเทศ แต่ละประเทศควรปฏิรูปเศรษฐกิจของตนต่อไปเพื่อสร้างความยืดหยุ่นและความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถปรับตัวและลดทอนผลกระทบที่จะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ เป็นการบ้านทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงต้องให้ความสำคัญต่อการร่วมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดผลกระทบต่อประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และต้องร่วมกันสนับสนุนกลไกพหุภาคีให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ฮัมบูร์กเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจว่าต้องทำให้เกิดขึ้น แต่ที่มักจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่ทำก็เพราะนักการเมืองไม่ผลักดันจริงจัง และผู้ที่จะเสียประโยชน์จากการปฏิรูปจะต่อต้านและมีเสียงมาก เทียบกับประโยชน์ระยะยาวที่เศรษฐกิจจะได้จากการปฏิรูป ที่สำคัญการปฏิรูปมักใช้เวลานานก่อนเห็นผล ทำให้นักการเมืองที่มองสั้นเพราะส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจไม่นานจะมองข้ามเรื่องเหล่านี้และไม่ให้ความสำคัญ

นาย Lissovolik ได้ขยายความต่อว่า ความห่วงใยของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ได้มองเลยไปถึงว่า ประเทศต่างๆ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นจากปัญหาและความไม่แน่นอนที่มีอยู่ขณะนี้ ทั้งในเรื่องการประสานนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการทำให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อไป ซึ่งต้องทำมากกว่าการปรับปรุงกลไกลดข้อพิพาทในองค์กรการค้าโลกอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึง การสร้างสถาปัตย์กรรมใหม่ให้กับระบบการเงินโลก ที่จะส่งเสริมการเปิดเสรีด้านการค้า ปรับปรุงธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินโลก เพิ่มทรัพยากรการเงินให้กับไอเอ็มเอฟเพื่อการแก้ไขปัญหา สนับสนุนความเป็นเสรีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และที่สำคัญคือเชื่อมต่อสิ่งที่ต้องทำเหล่านี้ให้เป็นบทบาทและพันธกิจขององค์กรการเงินและองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากระบบการค้าเสรี และการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญขณะนี้

ที่ประชุมที่ฮัมบูร์กแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง สนับสนุนความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ ทำให้ผมนึกอยู่ในใจถึง ข้อสรุป 3 ข้อที่ได้จากการหารือที่กรุงโตเกียว เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาที่ผมได้เขียนถึงในบทความ “ถกเรื่องเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยง” ว่าแต่ละประเทศจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป ส่งเสริมระบบการค้าและความร่วมมือระดับภูมิภาค และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกพหุภาคีให้กลับคืนมา ซึ่งไม่แตกต่างเลยกับความเห็นของที่ประชุมที่ฮัมบูร์ก ที่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มาจากยุโรป แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ที่คล้ายกันทั้งในเอเชียและยุโรป และมองไม่ต่างกันในแง่ของสิ่งที่เป็นทางออกที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ นี่คือ ประเด็นที่นำมาฝาก