'TINA : There Is No Alternative' ปรากฏการณ์หุ้นโรงไฟฟ้า

'TINA : There Is No Alternative' ปรากฏการณ์หุ้นโรงไฟฟ้า

หุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทโรงไฟฟ้าหลัก (Conventional) ปรับขึ้น Outperform ตลาดฯ มาก

ปีที่ผ่านมาหุ้นที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทโรงไฟฟ้าหลัก (Conventional) ปรับขึ้น Outperform ตลาดฯ มาก อาทิ GULF, BGRIM, EGCO. RATCH เป็นต้น ซึ่งแรง Momentum ที่แรงกว่าตลาดฯ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า 'Animal Spirit' หรือ 'พฤติกรรมฝูงสัตว์' ที่นักลงทุนเข้าเก็งกำไรหุ้นโรงไฟฟ้ากันอย่างมาก ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานส่วนใหญ่ก็มักที่จะออกบทวิเคราะห์เตือนในเรื่องของ Valuation ของหุ้นเหล่านี้มาตลอดว่าค่อนข้างที่จะมี Upside จำกัด อย่างไรก็ดีสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีแรงขายทำกำไรหุ้นโรงไฟฟ้า จนเกิดคำถามว่าหุ้นโรงไฟฟ้าเหล่านี้ จบรอบแล้ว หรือ แค่พักฐาน ซึ่งในบทความนี้เราจะวิเคราะห์กันถึงเหตุผลในการปรับขึ้นของหุ้นโรงไฟฟ้าที่สวนทางกับดัชนี SET index กันก่อน แล้วจึงจะสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของหุ้นโรงไฟฟ้าได้ชัดเจนขึ้น

'TINA: There Is No Alternative' ผมประเมินว่าวลีนี้คือเหตุผลหลัก ที่น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ คือ นักลงทุนไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าสำหรับการลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบันที่ สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวเริ่มส่งสัญญาณผ่านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯตั้งแต่ปลายปี 2561 (เกิดเหตุการณ์ Flat Yield Curve และตามมาด้วยการเกิด Inverted Yield Curve ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา) และบริษัทจดทะเบียนทั้ง Real sector และ Financial sector  ทยอยรายงานผลการดำเนินงานที่อ่อนแอมาตลอดในแต่ละไตรมาส รวมทั้งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มีการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนลงมาอย่างต่อเนื่อง (ล่าสุดปรับลงมาแล้ว-16.5% ตั้งแต่ต้นปี ... ข้อมูล Bloomberg consensus) เหลือเพียงธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ผลการดำเนินงานยังแข็งแกร่งและเติบโตตามการขยายกำลังการผลิต ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องขายหุ้นที่ผลการดำเนินงานอ่อนแอ และจำต้องหมุนเงินเข้ามาในหุ้นโรงไฟฟ้า ที่มี Market cap และสภาพคล่องการซื้อขายเพียงพอที่จะรองรับเม็ดเงินดังกล่าวได้

เหตุผลที่ 2 ที่หุ้นโรงไฟฟ้าปรับขึ้นแรง  คือ แนวโน้มขาลงของดอกเบี้ย  โดยสังเกตุได้ชัดเจนว่ารูปแบบราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าสวนทางกับอัตราผลตอบแทนัพนธบัตรรัฐบาลระยะ 5-10 ปี เนื่องจาก i) ดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง หุ้นโรงไฟฟ้ามีการลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากและมีสัดส่วน D/E ratio ที่สูง เมื่อดอกเบี้ยเป็นแนวโน้มขาลง การ Refinance เพื่อลดดอกเบี้ยจ่ายจึงเป็นบวกต่อแนวโน้มกำไร, ii) ประเด็นเรื่อง Valuation เนื่องจากการประเมินราคาเหมาะสมหุ้น หรือ สินทรัพย์ใดๆ จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องของ อัตราคิดลด (Discount rate) ซึ่งเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลง Discount rate ในการประเมินมูลค่าก็ลดลงไปด้วยนั่นเอง, และ iii) การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดพันธบัตรในช่วงดอกเบี้ยขาลง จะทำให้ได้รับกำไรจากส่วนต่างๆราคา ซึ่งหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีโครงสร้างกระแสเงินสดรับ, การจ่ายปันผล ที่ค่อนข้างนิ่ง เปรียบเสมือนการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรนั่นเอง จึงทำให้หุ้นโรงไฟฟ้ากลายเป็นตัวแทนของพันธบัตรในตลาดหุ้นไปโดยปริยาย  

จาก 2 เหตุผลข้างต้น กลับมาที่คำถามหลัก คือ หุ้นโรงไฟฟ้าที่มีแรงขายทำกำไรในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การจบรอบ หรือ แค่พักฐาน ตามปกติ ? ผมประเมินว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดการเงินยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและของไทยเอง แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ Inverted Yield Curve เริ่มผ่อนคลายลง แต่ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ รวมทั้งแนวโน้มผลการดำเนินงานของหุ้นขนาดใหญ่ต่างๆ อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์, กลุ่มอสังหาฯ, และ กลุ่มปิโตรเคมี ยังคงอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะทำการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้นหุ้นโรงไฟฟ้าที่พักฐานลงมาจึงน่าจะยังเป็นเป้าหมายการเป็นที่พักเงินของนักลงทุนอีกครั้งเนื่องจากนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันยังไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า 'There Is No Alternative'

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าหุ้นโรงไฟฟ้าหลายตัวยังมี Upside ที่จำกัด หุ้นโรงไฟฟ้าใน Coverage ของทางฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่ยังพอมี Upside น่าสนใจได้แก่ WHAUP (ซึ่งการปรับขึ้นของราคาหุ้นก่อนหน้านี้ ไม่โดดเด่นเท่าหุ้นโรงไฟฟ้าอื่นๆ) สำหรับหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตัวอื่น อาทิ  GULF, BGRIM, EGCO. RATCH นั้นแม้จะมีการพักฐานลงมาบ้างแต่ Upside ก็ยังจำกัด ผมจึงประเมินว่าควรรอให้ราคาหุ้นอ่อนตัวลงมามากกว่านี้ จึงเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสม โดยนักลงทุนสามารถติดตามการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหุ้นโรงไฟฟ้าแต่ละตัวเพิ่มเติมได้ในบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของทางฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย)