ผลกระทบของการตัดGSPสหรัฐฯ ต่อไทย

ผลกระทบของการตัดGSPสหรัฐฯ ต่อไทย

GSP (Generalized System Preference) คือ สิทธิพิเศษทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย

เพื่อช่วยให้ประเทศที่ได้รับสิทธิสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้ การให้สิทธิ GSP นี้เป็นการให้แบบฝ่ายเดียว (unilateral) คือประเทศที่ให้สิทธิ GSP ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่กำหนดเงื่อนไขของประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP ซึ่งประเทศผู้ให้วางไว้ เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ ประเทศผู้มีสิทธิได้รับ GSP ต้องมีรายได้ของประชากรต่อหัว (GNP per capita) ไม่เกิน 12,735 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล มีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก และมีเงื่อนไขอื่นๆ ในด้านการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น เป็นต้น ดังนั้นสหรัฐฯ จึงมีสิทธิขาดในการกำหนดว่าจะให้ใครหรือไม่ให้ใคร คงเป็นเรื่องลำบากที่ประเทศไทยจะไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก​สหรัฐฯ สิ่งที่ทำได้ คือ อธิบายเพิ่มเติมกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในกรณีที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่การตัดสินใจสุดท้ายก็ยังคงขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดการให้สิทธิ GSP มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สหัสวรรษใหม่ หรือ ปี 2543 เป็นต้นมา โดยในปี 2561 มีมูลค่าเท่ากับ 23,000 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของมูลค่านำเข้ารวมทั้งหมดของสหรัฐฯ ลดลงจากกว่า 2% ในปี 2539 นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศที่ได้สิทธิ GSP กระจุกตัวสูงมาก เช่น ในปี 2561 ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP มากที่สุด 5 ประเทศแรกจาก 168 ประเทศทั่วโลก มีมูลค่ารวมคิดเป็น 75% ของมูลค่าการนำเข้าตามสิทธิ GSP ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 68% ในปี 2539 แนวโน้มการกระจุกตัวดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ ใช้สิทธิ GSP ดังกล่าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างๆ รวมไปถึงนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแทนที่จะเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศรายได้ต่ำจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้วเราก็ควรเห็นการกระจายตัวของการให้สิทธิ GSP เพิ่มมากขึ้น

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ เป็นลำดับอันดับต้นๆ มาตลอดตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ดังนั้นการตัดสิทธิ GSP จึงเป็นไปได้ที่จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือการเจรจาต่อรองของสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการกดดันให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่สหรัฐฯ ต้องการ

วันนี้มีหลายฝ่ายเชื่อว่าเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง มาจาก การแบนยาฆ่าหญ้ายอดนิยมอย่างพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ซึ่งสหรัฐฯ​ ยังมีการอนุญาตให้ใช้ในผลผลิตการเกษตรหลายประเภทที่ส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทย อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว แต่ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร สหรัฐฯ ยังมีสิทธิขาดในการตัดสินว่าจะให้หรือไม่ให้สิทธิ ท่าทีการเจรจาจึงขึ้นอยู่กับขนาดความเสียหายที่มาจากการตัดสิทธิ GSP กับเศรษฐกิจไทยว่าเป็นเท่าใดเมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องต่างๆ ที่สหรัฐฯ จะต่อลองกับรัฐบาลไทย

เราพบว่าในปี 2561 เรามีสินค้า 1,439 รายการจากทั้งสิ้น 5,398 รายการที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์​และเครื่องจักรกล เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และยานพาหนะ กลุ่มอาหารทะเลไม่ว่าจะเป็นกุ้งแปรรูป หรือปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหรัฐฯนับหมื่นล้านในแต่ละปี แต่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะการส่งออกสินค้าเหล่านี้ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เสียภาษีศุลกากรปกติ และหากสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP และทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องจ่ายภาษีศุลกากร ขนาดของผลกระทบน่าจะจำกัดเพราะภาษีศุลกากรสินค้าเหล่านี้ค่อนข้างต่ำและสินค้าส่งออกของไทยมีความอ่อนไหวทางด้านราคาค่อนข้างจำกัด จากการประมาณการณ์ของผู้เขียน ขนาดความเสียหายต่อมูลค่าการส่งออกอยู่ระหว่าง 21.6-81.1 ล้านเหรีย​ญ บนสมมติฐานที่ว่าทุกๆ สินค้าโดนตัดสิทธิ์พร้อมกัน เราเชื่อว่าการประเมินของสื่อที่ระบุว่าหลายหมื่นล้านบาทนั้น น่าจะเกิดจากประมาณการณ์มูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ​ ซึ่งไม่ถูกต้องนัก แต่ในความเป็นจริงมูลค่าการใช้สิทธิ GSP เป็นเพียงไม่ถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยไปสหรัฐฯ เท่านั้น

ขนาดของผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯที่จำกัด น่าจะลดแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายของไทยในการเจรจาต่อรองและทำให้สามารถกำหนดท่าทีการเจรจาได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเราคงไม่สามารถยึดติดว่าประเทศไทยต้องได้สิทธิ GSP ตลอดไป ดังสะท้อนจากที่ผ่านมา ที่สหรัฐฯทยอยลดการให้สิทธิ GSP กับประเทศต่าง ๆ  ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้จากการขอยืดสิทธิ GSP จึงมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP กับไทยเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยควรหลีกเลี่ยงคือการเก็บภาษีตอบโต้ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของอินเดียและพาประเทศเข้าสู่สงครามการค้า

เป็นที่น่าสังเกตุว่าการตัดสิทธิ GSP แม้ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรง แต่เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นความเร็วในการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่มากที่สุดในภูมิภาค และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ในระยะสั้นภาครัฐจำเป็นต้องติดตามความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มดุลการค้า/ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และเป็นสิ่งที่ต้องปล่อยไปตามกลไกตลาดในระยะปานกลาง แต่ในระยะสั้นการดูแลความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงค่าเงินยังเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะเดียวกันภาครัฐและผู้ประกอบการคงต้องเร่งปรับตัวในส่วนของการพยายามเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าเดิมที่ส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเปิดตลาดใหม่ของสินค้าเดิมมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

โดย... 

รศ. ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์

รศ.ดร. จุฑาทิพย์ จงวนิชย์​

กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์