เงินอุดหนุน สงเคราะห์บุตร ทางออกความเหลื่อมล้ำ?

เงินอุดหนุน สงเคราะห์บุตร ทางออกความเหลื่อมล้ำ?

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา คุณแม่หลายคนคงยิ้มได้กับเงินอุดหนุนบุตรที่รัฐได้จ่ายย้อนหลังผ่านเข้าบัญชีของผู้เป็นแม่

เพื่อมาใช้เลี้ยงดูลูกในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง คำถามหลากหลายเกิดขึ้นตามมาจากทุกกลุ่มชน ทั้งผู้ที่มีบุตรหรือกระทั่งไม่มีบุตรแต่เป็นประชาชนคนไทยที่จ่ายภาษีว่าใครคือผู้ที่ควรมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว เงินดังกล่าวต่างอย่างไรกับเงินสงเคราะห์บุตร ลดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ และจะคุ้มกับรายจ่ายรัฐต้องเสียไปหรือไม่

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ารากฐานของประเทศที่พัฒนาคือคุณภาพของประชากร และประชากรคือเครื่องหมายหนึ่งแห่งความมีอยู่ของรัฐ ดังนั้น รัฐจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการดูแลคุณภาพของประชาชนไปได้ ด้วยเหตุผลข้างต้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศประเทศที่พัฒนาแล้วในสหภาพยุโรปจึงพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความเป็น “รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) อาทิ อังกฤษ ออสเตรีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน โดยเฉพาะเยอรมันที่เป็นประเทศแรกที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและเหลื่อมล้ำทางสังคม และเงินอุดหนุนบุตรก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบรัฐสวัสดิการของประเทศไทย

โครงการเงินอุดหนุนบุตรแรกเกิด” เป็นโครงการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมมือกับทาง UNICEF ในการเก็บข้อมูล เรียนรู้ ศึกษาจากพื้นที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของครอบครัวหลายภูมิภาคของโลกรวมถึงประเทศไทย แล้วนำมาสร้างระบบคุ้มครองทางสังคม ด้วยการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนให้กับเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน เพื่อเป็นมาตรการให้บิดา มารดานำเด็กเข้าสู่ระบบบริการของรัฐ และได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมสร้างศักยภาพคนของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติฉบับที่1 (พ.ศ.2555-2559) และฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้กำหนดไว้เป็นหลักประกันให้เด็กได้รับสิทธิด้านการอยู่รอดและการพัฒนาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

อนุสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กทุกคนให้เสมอภาค โดยได้มีการออก “ระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนนุเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562” เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกิจการเด็กและเยาวชน พ.ศ.2558 ฉบับเก่าให้สามารถเข้าถึงผู้ได้รับสิทธิมากขึ้นและเกิดประโยชน์แท้จริงตามสภาพเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1.ขยายอายุเด็กที่สามารถรับสิทธิได้ จากเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ เป็น เด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ(เด็กที่เกิดเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป) 

2.การปรับเพิ่มวงเงิน จาก 400 บาท เป็น 600 บาทต่อเดือน 

3.การขยายเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ที่ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิได้ 

4.การเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับสิทธิสำหรับเกณฑ์รายได้ในครัวเรือนไม่เกิน 36,000 บาทต่อปี เป็นมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี 

5.ขยายสิทธิสำหรับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กให้สามารถยื่นขอรับสิทธิโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นบิดาหรือมารดา และสามารถลงทะเบียนตามที่อยู่อาศัยปัจจุบันได้โดยไม่ต้องตามสำเนาทะเบียนบ้านนั่นเอง

โครงการเงินอุดหนุนบุตรแรกเกิดแตกต่างจาก “เงินสงเคราะห์บุตร” โดยเงินสงเคราะห์บุตร คือเงินที่ผู้ต้องการรับสิทธิ์จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่ได้รับการดูแลตามสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 สิทธิที่จะได้รับในกรณีสงเคราะห์บุตรเป็นการเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อคน ใช้สิทธิได้ 3 ครั้ง และจะได้เงินสงเคราะห์บุตรจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากผู้ประกันตนส่งเงินไม่ครบตามกำหนดเงื่อนไขของ “เงินสงเคราะห์บุตร” ก็ยังสามารถได้รับ “เงินอุดหนุนบุตร” หลักการนี้จึงเป็นพื้นฐานของรัฐสวัสดิการในการยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กให้เสมอภาคอย่างไม่มีรอยต่อของความต่างแห่งก้อนเงิน

 ข้อพิจารณาประการสำคัญคือ อะไรจะเป็นเครื่องป้องกันการลดความเหลื่อมล้ำผ่านเม็ดเงินที่ถูกใช้จ่ายไป ซึ่งมิตินี้ทวีความน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศลด “เงินสวัสดิการบุตร” (Child benefits) ตามนโยบายการตัดทอนสวัสดิการรัฐที่จะบังคับใช้ในปี 2020 เนื่องจากประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของจำนวนประชากรผ่านอัตราการเป็นคุณแม่วัยใส สิ่งนี้ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจมีบุตรของคนในประเทศ เนื่องมาจากในประเทศอังกฤษการเลี้ยงเด็กสักคนให้เติบโตขึ้นมาถึงอายุ 21 ปี พอที่พวกเขาจะหารายได้เอง ผู้ปกครองจะต้องใช้เงินมากถึง 11 ล้านบาทแต่ปัจจัยนี้กลับไม่ส่งผลใดอันเป็นการลดอัตราการมีลูกก่อนวันอันควร

จากข้อเท็จจริงข้างต้น เมื่อพิจารณางบอุดหนุนที่รัฐบาลไทยตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 ประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท โดยสามารถเข้าถึงเด็กแรกเกิด 1.8 ล้านคนนั้นอาจจะดูไม่มากหรือเกินกำลังที่รัฐบาลจะจัดสรรให้ได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเงินที่ลงไปดังกล่าวอันสิ้นสุดลงเมื่อเด็กมีอายุ 6 ปี นั้นจะส่งผลในระยะยาวให้มีการสร้างรากฐานของการมีประชากรที่มีคุณภาพพอที่จะสามารถเลี้ยงดูบุตรของตนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพึ่งเพียงคำว่า “รัฐสวัสดิการ”

ทั้งนี้เพราะเงินที่นำมาจัดสรรให้เกิดความเท่าเทียมตามนัยของรัฐสวัสดิการ แท้จริงแล้วคือรายได้ที่รัฐได้มาจากระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง ถึงตรงนี้ผู้เขียนหาได้หมายความถึงการไม่สนับสนุนการเป็นรัฐสวัสดิการ แต่การคิดเรื่องรัฐสวัสดิการควรจะเชื่อมโยงกับการวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันก่อน และต้องเชื่อมโยงไปยังแผนการเติบโตในอนาคตภายใต้ปัจจัยแห่งยุคปัจจุบัน เพราะถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการก็ต้องมีรายได้จากระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงพอ โดยเราก็ควรตั้งคำถามต่อว่ารายได้หรือความมั่งคั่งของประเทศนั้นมาจากไหนและมาด้วยวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นธรรมทางสังคมหรือไม่ มิฉะนั้นแล้วแทนที่จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ กลับจะนำไปสู่ความแตกแยกของประชากรที่มีความแตกต่างทางรายได้ในสังคม เฉกเช่นวิกฤติทางสังคมที่อังกฤษกำลังเผชิญ ณ ปัจจุบัน

โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์