คำสาปที่หนีไม่พ้น

คำสาปที่หนีไม่พ้น

มื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวอาร์เจนตินาลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี แม้จะมีผู้ลงสมัครหลายคน แต่เพียง 2 คนเท่านั้นที่มีโอกาสชนะ

ได้แก่ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันและผู้ท้าชิงจากพรรคที่ประธานาธิบดีคนนี้เอาชนะได้เมื่อ 4 ปีก่อน ผลปรากฏว่า ผู้ท้าชิงชนะแบบขาดลอย ปัจจัยที่ทำให้ผู้ท้าชิงชนะอาจจะมีหลายอย่าง แต่ปัจจัยหลักได้แก่ความไม่พอใจในภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชาวอาร์เจนตินาฝืดเคือง

ภาวะดังกล่าวมิใช่ของใหม่ในอาร์เจนตินา มันสืบต่อกันมากว่า 60 ปีหลังประเทศประสบภาวะล้มละลายเมื่อปี 2499 ดังเป็นที่ทราบกันดี การล้มละลายครั้งนั้นเกิดขึ้น 40 ปีหลังวันที่ชาวอาร์เจนตินาเลือกผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีที่สัญญาว่าจะแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาสนองความต้องการของพวกเขา สิ่งเหล่านั้นประกอบกันเป็นนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายที่ทำให้ชาวอาร์เจนตินาเสพติด การล้มละลายครั้งนั้นส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มล้มลุกคลุกคลานและการพัฒนาแทบจะหยุดชะงัก ร้ายยิ่งกว่านั้น ทหารยึดอำนาจรัฐและปกครองประเทศแบบโหดร้ายอยู่หลายปีโดยฆ่าประชาชนที่ต่อต้านหลายหมื่นคน จนกระทั่งปี 2526 ชาวอาร์เจนตินาจึงกลับมาเลือกประธานาธิบดีได้อีกครั้ง

แม้ชาวอาร์เจนตินาจะมีโอกาสเลือกประธานาธิบดีจากปี 2526 เป็นต้นมา แต่แทนที่จะเลือกผู้สมัครซึ่งเสนอนโยบายที่ไม่เป็นประชานิยมแบบเลวร้าย พวกเขามักเลือกผู้สมัครที่สานต่อประชานิยม ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นอาจแยกได้เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของยุคโลกาภิวัตน์ที่สลับซับซ้อนขึ้นและตกอยู่ในภาวะเลวร้ายคล้ายอยู่ในก้นเหวหลังจากล้มละลายมาหลายครั้งรวมทั้งเมื่อปี 2504 การแก้ปัญหาจะต้องใช้ทั้งมาตรการอันเข้มข้นที่เหมาะสมกับสถานการณ์และใช้เวลานานกว่า 4 ปีที่ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง มาตรการที่เข้มข้นย่อมก่อผลกระทบระยะสั้นทันทีต่อชาวอาร์เจนตินาจำนวนมาก

ส่วนที่สอง เนื่องจากชาวอาร์เจนตินาเสพติดประชานิยมแล้ว ผลกระทบดังกล่าวชาวอาร์เจนตินาทนไม่ได้ จึงเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ที่สัญญาว่าจะแก้ปัญหาของพวกเขาได้พร้อมกับแจกของให้ด้วย การเลือกประธานาธิบดีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาสะท้อนเรื่องนี้เป็นอย่างดีเนื่องจากประธานาธิบดีซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วใช้แนวนโยบายที่ไม่ใช่ประชานิยม หลังจากพยายามแก้ปัญหาอันแสนสาหัสมาเกือบ 4 ปี ผลสำเร็จมีเพียงจำกัด ชาวอาร์เจนตินาจึงมองหาคนใหม่และเลือกผู้สมัครของพรรคที่ใช้นโยบายประชานิยมมาก่อนและเสนอว่าจะนำกลับมาใช้เพื่อเอาใจพวกเขาอีก

การตกไปอยู่ในก้นเหวของอาร์เจนตินาแสดงอาการออกมาทางตัวชี้วัดทั้งจำพวกระยะยาวและระยะสั้น ข้อมูลบ่งว่า ก่อนชาวอาร์เจนตินาจะเริ่มเป็นทาสของประชานิยมแบบเลร้าย พวกเขามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าชาวแคนาดา หรือเป็นลำดับสองรองจากชาวอเมิกันเท่านั้นในบรรดาประเทศในทวีปอเมริกาทั้งหมด ณ วันนี้ ชาวอาร์เจนตินามีรายได้เฉลี่ยต่ำ 40% ของชาวแคนาดา หรือเท่า ๆ กับของชาวไทย ซ้ำร้ายในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว รายได้ที่เพิ่มขึ้นมักไปตกอยู่ในมือของกลุ่มผู้มั่งคั่งอยู่แล้ว ในช่วงนี้ ชาวอาร์เจนตินากว่า 1 ใน 3 จึงตกอยู่ในภาวะยากจน

ภาวะระยะยาวกำลังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะระยะสั้น เช่น อัตราการว่างงานสูงเกิน 10% อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 50-60% เงินเปโซตกมากในช่วงปีนี้จนมีค่าราวครึ่งเดียวของอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลดอลลาร์เมื่อต้นปี และรัฐบาลขาดเงินจนต้องไปต่อรองขอกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อีกครั้ง ชาวอาร์เจนตินามักมองว่าไอเอ็มเอฟคือปีศาจร้าย

เมื่อประมวลทุกอย่างเข้าด้วยกัน อาจมองได้ว่าที่อาร์เจนตินาเป็นเช่นนั้นมานานเพราะถูกคำสาปของนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายซึ่งรัฐบาลเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ 103 ปีก่อน คอลัมน์นี้พูดซ้ำมานานคล้ายแผ่นเสียงตกร่องว่า ผู้มองไม่เห็น หรือไม่เชื่อบทเรียนในอาร์เจนตินามักประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ในบางกรณีอาจร้ายแรงยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ เช่น กรณีของเวเนซุเอลาซึ่งตกอยู่ในภาวะล้มละลายมาหลายปี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้นำไทยจะไม่มืดบอด หรือผยองพองขนจนมองไม่เห็น หรือมองว่าตนเป็นคนฉลาดกว่าจนคิดว่าจะใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายได้โดยไม่ทำให้ประเทศล่มจม