ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพ (2)

ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพ (2)

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงการเสื่อมถอยของสุขภาพว่ามีปัจจัยเสี่ยง 2 ประการคือ ความแก่และความอ้วน

 ซึ่งหากคิดว่าความแก่เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ก็คงจะต้องมาบริหารจัดการเรื่องของความอ้วน ทั้งนี้ผมได้เสนอสถิติผู้ป่วยที่รับการรักษาภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบ่งเป็นประเภทของโรค ซึ่งในครั้งนี้ผมขอนำเอาตัวเลขเดิมมานำเสนออีกครั้งแบ่งตามประเภทของโรคที่ไม่ติดต่อ (non-communicable disease) ที่มีการป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในส่วนแรก และในส่วนที่สองแยกออกมาเฉพาะโรคมะเร็งดังปรากฏในตารางข้างล่าง

จะเห็นได้ว่าคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมากคือ 58.1% ตามด้วยโรคอ้วน แม้จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่นๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะน่ากลัวเพราะโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่นั้นหากเป็นโรคดังกล่าวแล้ว สถิติของคนอเมริกัน (ซึ่งผมได้เคยกล่าวถึงแล้วในบทความเรื่องชีวิตคุณภาพหลังการเกษียณ) ที่เป็นโรคดังกล่าวแล้วรอดตายนั้นเท่ากับ 57.5% สำหรับผู้ชาย 58.1% สำหรับผู้หญิง

157240435978

หากต้องการจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่นั้น Harvard Medical School มีข้อแนะนำดังนี้:

1.ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แดง

2.อย่าให้อ้วน

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

4.ห้ามสูบบุหรี่

5.ตรวจลำไส้ใหญ่หลังอายุ 50 ปีทุก 5 ปี

ทั้งนี้การทำตามคำแนะนำดังกล่าวย่อมจะช่วยลดการป่วยเป็นโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด/คอ และโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตีบตันของเส้นเลือด (โรคหัวใจ โรคขาดเลือดในสมองเฉียบพลัน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ)

หากพิจารณาโรคที่คนไทยป่วยและอัตราการเป็นเพิ่มก็สูงขึ้นอย่างมาก ก็จะมีอยู่ 3 โรคหลักคือความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มจาก 1.03 ล้านคนในปี 2013 มาเป็น 1.35 ล้านคนในปี 2017 โรคเบาหวานจาก 0.70 ล้านคน มาเป็น 0.88 ล้านคนและโรคไตวายจาก 0.52 ล้านคนเป็น 0.74 ล้านคน กล่าวคือโดยรวมเพิ่มจาก 2.25 ล้านคนมาเป็น 2.97 ล้านคนภายในเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบตันนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันเพราะเป็นเรื่องของระบบไหลเวียนของเลือด (การทำงานของหัวใจ) และคุณภาพของเส้นเลือด (ไม่เสื่อมสภาพ ไม่อุดดัน) ในส่วนของการป่วยเป็นโรคไตวายนั้น บางคนอาจเข้าใจว่าสาเหตุหลักมาจากการได้รับสารพิษและ/หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นหลัก แต่ในเวปไซต์ “พบแพทย์” นั้น ให้สาเหตุของไตวายเอาไว้ถึง 8 ข้อ (ไม่รวมการเป็นโรคตับวายเฉียบพลัน) โดยกล่าวถึงสาเหตุอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานอีกด้วย โดยอธิบายดังนี้

ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดที่ไหลเวียนเลือดไปที่ไตผิดปกติ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด

โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดส่งผลโดยตรงกับไตทำให้ไตเสื่อม ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานส่วนมากจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรัง

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโรคที่คนไทยกำลังป่วยเป็นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นเกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนของเลือดเกือบทั้งสิ้น ดังนั้นในตอนต่อไปผมจะขอเขียนเกี่ยวกับเรื่องระบบการไหลเวียนของเลือดครับ