เห็บปลายหาง (Political Coattails)

เห็บปลายหาง (Political Coattails)

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้(24 มี.ค.2562) มีปรากฎการณ์ ...เห็บปลายหาง... หรือที่นักรัฐศาสตร์ต่างประเทศเรียกว่า Coattail Effect

หรือ down-ballot effect เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ ปรากฎการณ์เห็บปลายหาง เป็นเรื่องของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการเลือกตั้งโดยอาศัยอำนาจบารมีของผู้นำพรรคหรืออิทธิพลของพรรค โดยที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจบารมีของตัวเองเป็นที่ประจักษ์เหมือนเห็บที่กระโดดมาเกาะหางสุนัขหรือแมว แล้วก็เคลื่อนไหวติดไปตามตัวสุนัขหรือแมว ไม่ได้มีความเป็นตัวของตัวเอง

ที่สหรัฐ พวกรัฐศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เรียกพวกนี้ว่า Political Coattails เพราะผู้ได้รับการเลือกตั้งไม่มีอำนาจบารมีของตัวเองที่เด่นดังพอที่จะได้รับความสนใจจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่อาศัยอำนาจบารมีและอิทธิพลของผู้นำพรรคหรือนโยบายพรรคเช่นตัวผู้สมัครประธานาธิบดีที่มีภาวะผู้นำสูงเป็นที่ชื่นชมหรือมีนโยบายของพรรคที่เป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก ประชาชนที่เลือกผู้แทนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้เลือกเพราะเห็นว่าเป็นคนในพื้นที่ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับให้เป็นผู้แทนเขต แต่เพราะเป็นคนในกลุ่มของผู้นำพรรคที่ตนชื่นชอบ ก็เลยเลือกเข้ามาเท่านั้นเอง

มีอีกวิธีการหนึ่งที่คล้ายกัน และบ้านเราก็เคยใช้ เวลาที่กำหนดเขตเลือกตั้งที่มี ส.ส.ได้หลายคนในเขตเดียวที่เรียกว่าแบบพวง เช่น 3 หรือ 4 คน และเวลาเลือกประชาชนที่ใช้สิทธิมักจะเลือกทั้งชุด ฉะนั้น พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครที่ไม่เป็นที่รู้จัก มักจะจัดให้อยู่ตรงกลางๆ ขนาบหัวท้ายด้วยผู้สมัครที่เป็นที่รู้จักอย่างดี วิธีนี้เรียกว่า Group Representation Constituency ผู้สมัครที่อยู่ตรงกลางก็มักจะได้รับเลือกตั้งไปด้วย เพราะเหมือนเห็บเกาะปลายหางสุนัข ไปไหนไปด้วย

เรื่องของ เห็บปลายหางในทางการเมือง หรือ Political Coattails นี้ถือเป็นเทคนิคการพยุงคนหน้าใหม่ไม่มีผลงานเข้าสภา โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้สมัครเดิมหรือผู้สมัครที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นผู้นำ

เมื่อเป็นเห็บที่กระโดดไปเกาะหางหมา ก็หมายความว่า ตราบใดที่หมานั้นยังโลดแล่นมีบทบาทในทางการเมือง เห็บนั้นก็จะอาศัยดูดกินเลือดจากหมาไปโดยตลอด อิ่มหนำสำราญโดยไม่ต้องออกแรง แต่วันใดที่หมาหมดแรง หรือนักการเมืองที่เห็บหางหมาเกาะติดนั้นหมดอำนาจวาสนา เห็บนั้นก็จะกระโดดไปเกาะหมาตัวใหม่ที่หวังว่าจะได้ดูดเลือดกินพร้อมสร้างครอบครัวเห็บให้รุ่งเรืองพัฒนาต่อไป ทั้งหมดที่พูดมานี้ ไม่ได้หมายความว่า เห็บปลายหางหมา จะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด อาจจะมีเห็บบางตัวกระโดดออกจากหางหมาและสร้างอาณาจักรของตัวเองได้เช่นกัน แม้ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ เราใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว ไม่ได้เป็นแบบพวงหรือกลุ่ม เห็บที่มาจากการเกาะกลุ่มแบบ Group Representation Constituency จึงมีแต่ ส.ส.เขต ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงเขตละคน แต่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คนนั้น เท่าที่ดูจากบัญชีต้องยอมรับว่าหลายพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากนั้น เป็นบุคคลที่ไม่ปรากฎความรู้ความสามารถหรือมีประสบการณ์อะไร แต่ได้เป็น ส.ส. เพราะติดกลุ่มมากับคนดังผู้นำพรรคตามระบบวิธีการเลือกตั้งที่แสนจะพิศดาร

จึงไม่ต่างอะไรกับเห็บที่เกาะหางหมา ที่รังแต่จะกัดกินเลือดของหมาที่เกาะอยู่ และเมื่อวันใดที่หมาหมดเลือด ก็ไม่ต่างกับนักการเมืองดังที่หมดอนาคต และก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นเห็บนั้นก็จะกระโดดไปเกาะหมาตัวอื่นต่อไป มันเป็นเช่นนั้นแล