ครม.(ใหม่)โจโกวี ความเหมือนที่แตกต่าง “ไทย-อินโดนีเซีย”

ครม.(ใหม่)โจโกวี ความเหมือนที่แตกต่าง “ไทย-อินโดนีเซีย”

ประเทศอินโดนีเซียได้มีจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งนี้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)อินโดนีเซียได้จัดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ ตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดี การเลือกตั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นในวันเดียวกัน ดังนั้นในวันเลือกตั้งประชาชนจะได้รับบัตรลงคะแนนเสียงจำนวนหลายใบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าจะมีการเลือกตั้งในระดับใดบ้าง ในบางจังหวัด อาจมีการเลือกตั้งนายอำเภอ หรือ Bupati ด้วย

ในการจัดตั้งรัฐบาลของอินโดนีเซียใช้เวลานานพอๆ กับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งของไทย ในปีนี้ กว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจโกวีจะจัดตั้งรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ ใช้เวลากว่า 5 เดือน เนื่องจากต้องรอให้คณะกรรมาการการเลือกตั้งประกาศผลอย่างเป็นทางการ และวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมานี้เอง ประธานาธิบดีโจโกวี ได้ประกาศแต่งตั้งครม. หรือ Indonesia Maju Cabinet (Indonesia Onward Cabinet) รวมทั้งสิ้น 38 ตำแหน่ง และในสมัยที่ 2 นี้ ยังคงแต่งตั้งรัฐมนตรีบางส่วนที่เคยบริหารงานในวาระแรกให้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 16 ท่าน หากแต่มีการสลับตำแหน่ง และอีก 22 ท่าน เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ บางส่วนเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และอีกบางส่วนเป็นตัวแทนที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล

การจัดตั้งรัฐบาลของอินโดนีเซีย มีความเหมือนและต่างจากประเทศไทยอย่างน่าสนใจ คือ มีพรรคร่วมฯจำนวนหลายพรรคคล้ายกับประเทศไทย สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ของอินโดนีเซียมีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 6 พรรคที่เข้าร่วมกับพรรคผู้นำรัฐบาลหรือพรรค PDIP เนื่องด้วยพรรครัฐบาลไม่สามารถได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่นั่งในรัฐสภา จึงจำเป็นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมฯเช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐของไทย  

สำหรับการเลือกตั้งของอินโดฯ ในครั้งนี้มีพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาทั้งสิ้น 9 พรรค เป็นพรรคร่วมฯ 6 พรรค ได้ที่นั่งรวมกันถึง 427 จาก 575 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค มีที่นั่งในรัฐสภารวมกันเพียง 148 ที่นั่ง โดยแต่ละพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลได้รับเก้าอี้รัฐมนตรี ดังนี้ PDIP พรรคของประธานาธิบดีโจโกวีเอง ได้ 5 ที่นั่ง พรรค Golkar พรรคNasdem และ พรรคPKB ได้ พรรคละ 3 ที่นั่ง ส่วน พรรค Gerinda ของนายพลพลาโบโว สุรเบียงโต้ ซึ่งเคยเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญในการท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอินโดฯ กับโจโกวีนั้น ได้ไปถึง 2 ที่นั่ง และสุดท้ายพรรค PPP ได้ไปเพียงที่นั่งเดียว

การจัดตั้งรัฐบาลของอินโดฯ มีความต่างจากไทย คือ พรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และยังเคยลงแข่งเป็นประธานาธิบดีสู่กับประธานาธิบดีโจโกวี อย่างพรรค Gerinda ของ นายพล พลาโบโว สุรเบียงโต กลับได้รับการต้อนรับให้เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ด้วย และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น รมว.กลาโหมซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ โดยจะได้รับงบประมาณในปีหน้าถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สมาชิกพรรคอีกท่าน คือนาย Edhy Prabowo (ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับ นายพล พลาโบโว) รองหัวหน้าพรรค ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น รมว.ทะเลและการประมง (Minister of maritime affairs and fisheries) ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญของอินโดฯเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากอินโดฯมีพื้นที่ทางทะเลอันกว้างใหญ่ และจำเป็นต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามรถเข้ามาทำหน้าที่นี้ รวมทั้งผลักดันนโยบาย the Global Maritime Fulcrum ของโจโกวี ดังนั้นการเข้ามารับตำแหน่งของ นาย Edhy Prabowo จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าขาดประสบการณ์ อาจไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และอาจไม่มีฝีมือเท่ากับรัฐมนตรีคนเก่าในสมัยแรกของโจโกวี คือ นาง Susi Pudjiastuti 

ที่น่าแปลกใจ คือ รัฐบาลของอินโดฯ ยอมรับให้พรรคฝ่ายค้านที่เคยเป็นคู่แข่ง ในการเข้ามาร่วมเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญของประเทศ เหตุการณ์ลักษณะนี้คงยากที่จะได้เห็นในไทย พรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลที่มีแนวคิดทางการเมืองอันแตกต่างกันในไทยคงไม่อาจจะเข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ ทั้งนี้เนื่องจากแนวทางการดำเนินนโยบายที่ต่างกัน และยังอาจเป็นการไม่เคารพเสียงของประชาชนที่เลือกตนเองเข้ามาเป็นผู้แทนในรัฐสภาด้วย

อย่างไรก็ดี ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่พรรคฝ่ายค้านกลับใจเข้ามาร่วมกับรัฐบาลในอินโดนีเซีย ข้อดี คือ ความขัดแย้งในรัฐสภาคงไม่มีมากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้เสียงสนับสนุนในรัฐสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ในทางกลับกันการไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งก็ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาการคอรัปชั่นได้ง่าย ไม่มีฝ่ายใดเข้ามาตรวจสอบนโยบายและการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง

นอกเหนือจากสมาชิกของพรรคร่วมฯแล้ว โจโกวียังได้แต่งตั้ง รมว.และ รมช.หน้าใหม่จำนวนมากจากบุคคลนอก อาทิ ผู้บริหาร Gojek แอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการเรียกรถสาธารณะอันได้รับความนิยมในอินโดฯ คือ นาย Nadiem Makarim เป็น รมว.ศึกษาธิการ นาง Angela Herliani Tanoesoedibjo เจ้าของบริษัทสื่อสารมวลชนยักษ์ใหญ่ และยังเป็นรองเลขาธิการพรรค Indonesian Unity Party (Perindo) ซึ่งไม่ได้รับที่นั่งในสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็น รมช.ท่องเที่ยวและนวัตกรรม

อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายพล Tito Karnavian เป็น รมว.มหาดไทย นายทหารเกษียณอายุอีก 2 ท่าน คือ นายพล Fachrul Razi เป็น รมว.กิจการทางศาสนา รวมทั้งนายพล Terawan Agus Putranto เป็น รมว.สาธารณสุข รัฐมนตรีหน้าใหม่เหล่านี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากสื่อ และนักวิชาการในอินโดฯ อย่างมาก เนื่องจากทั้ง 5 ท่านนี้ไม่มีพื้นฐานความรู้ในกระทรวงที่ตนเองได้รับการแต่งตั้ง อาทิ นาย Nadiem Makarim เป็นนักธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์ทางการศึกษามาก่อน อาจไม่ได้รับการย่อมรับจากคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือนายพล Terawan ไม่เคยทำงานด้านสาธารณสุขมาก่อน เป็นต้น

จากการตั้งบุคลากรหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์จากหลากหลายอาชีพ ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า โจโกวีพยายามที่จะตอบแทนและสร้างสมดุลระหว่างทุกฝ่าย พร้อมทั้งป้องกันการต่อต้านจากกลุ่มหัวรุ่นแรงที่เริ่มมีการประท้วงมากขึ้นในปัจจุบัน โจโกวีจึงได้กล่าวในวันเปิดตัวรัฐมนตรีว่า รัฐบาลของเขายินดีร่วมมือกับทุกฝ่าย หากความร่วมมือจะก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ หรือ gotong royong (mutual cooperation) democracy ในอินโดนีเซีย ต่อไป

โดย... พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์