งานเข้า

งานเข้า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสไปดูลูกสาวคนโต ซึ่งเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลทีมโรงเรียนซ้อมเพื่อเตรียมแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ

ระหว่างเดินเข้าไปในสนามซ้อมของโรงเรียน ดิฉันเหลือบไปเห็นข้อความบนกระดานที่โค้ชใช้สอนนักกีฬาเรื่อง “The 10 Things That Require Zero Talent” หรือ “10 เรื่องที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะความสามารถ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแรกที่เตะตาดิฉันเข้าอย่างจังคือเรื่อง Being On Time หรือการเป็นคนตรงต่อเวลา สำหรับนักกีฬาแล้วไม่เพียงตรงต่อเวลา แต่ต้องไปถึงก่อนเวลาด้วยซ้ำ เพื่อเตรียมพร้อม Warm Up ร่างกายและวางแผนเล่นเพื่อเอาชนะในเกมส์นั้น

น่าจะจริงที่การตรงต่อเวลานั้นไม่จำเป็นต้องอาศัย Talent เพราะลูกสาวคนโตของดิฉัน ปกติเป็นสายชิล สบาย ๆ แต่พอถึงวันซ้อมวันแข่งทีไร เธอจะวางแผน เอาเสื้อผ้า รองเท้ามาเตรียมให้พร้อม รีบเข้านอน รีบตื่น กินอาหารเช้า ไปถึงโรงเรียนก็รีบวิ่งลงจากรถเพื่อให้ไปถึงสนามซ้อมก่อนเวลานัด

บางคนอาจค้านว่าการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการวางแผน (Planning Skill) บางองค์กรถึงขั้นจัดหลักสูตรทักษะการวางแผน เรียนกันเป็นวันเพื่อให้พนักงานรู้จักจัดลำดับความเร่งด่วนและความสำคัญของกิจกรรม

คำถามคือ การตรงต่อเวลาจะเกิดขึ้นได้นั้นจำเป็นต้องผ่านการฝึกทักษะ (Skill) จริงหรือไม่ หรือตามจริงแล้วเป็นเรื่องของ Mindset หรือ ความเชื่อ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองหลวงที่การจราจรคับคั่ง มักมีความเชื่อว่า การมาสายเป็นพฤติกรรมที่รับได้ และโยนความผิดให้กับเหตุผลง่าย ๆ คือ “รถติด” ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อการวางแผนตนเองแล้วยังแสดงความไม่รับผิดชอบต่อผลของการกระทำต่อคนอื่น

157207212328

เวลาที่ดิฉันต้องไปบรรยายช่วงเช้าในเมือง 3 สิ่งที่ดิฉันมักเจอคือ

1. คนที่มาถึงก่อนเวลา ต้องกลายเป็นคนรับผิดชอบโทรตามเพื่อนที่ยังมาไม่ถึง

2. เวลาเริ่มอบรมที่แท้จริงเกิดขึ้นหลังเวลาที่ประกาศอย่างเป็นทางการประมาณ 15 นาที

3. ทุกการมาสายมีเหตุผลที่ผู้รอต้องรับได้เสมอ ไม่ว่าจะ นายเรียก งานเข้า รถติด ปิดถนน

ไม่น่าเชื่อว่าเหตุผลคลาสสิกที่ดิฉันมักได้ยินและถือเป็นเหตุที่รับได้อย่างยิ่ง มิหนำซ้ำยังได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนรอบข้างจากการมาเข้าอบรมสายคือ “งานเข้า นายเรียก”

ยิ่งในองค์กรที่เชื่อว่า “นาย…สำคัญที่สุด” เมื่อนายต้องการเดี๋ยวนี้ นั่นแปลว่า สำคัญที่สุดและด่วนสุด ๆ การไม่ตรงต่อเวลาด้วยการอ้างนาย “งานเข้า” จึงใช้ได้ผลกับองค์กรประเภทนี้

ขอถามอีกครั้ง…การตรงต่อเวลา เป็นทักษะ (Skill) หรือความเชื่อ (Mindset)??

มีองค์กรหลายองค์กรที่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กร มีความเชื่อและให้คุณค่ากับเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน (Respect) ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน จึงควรเคารพต่อเวลาของผู้อื่น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในระดับใดตำแหน่งไหนในองค์กร การตรงต่อเวลาจึงถือเป็นพฤติกรรมที่แสดงความเคารพทั้งต่อคนภายในองค์กร ต่อคู่ค้าและลูกค้า แน่นอนที่สุดหากคนในองค์กรเชื่อและทำในสิ่งนี้ย่อมนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งเป้าไว้อย่างแน่นอน เพราะผลดีของการตรงต่อเวลาคือ

1. คุณจะไม่พลาดโอกาส ไม่ว่าจะโอกาสส่วนตัวหรือโอกาสทางธุรกิจ

2. คุณจะได้รับการชื่นชม จากคุณสมบัติที่ทำได้ง่าย แต่ไม่ค่อยมีคนใส่ใจทำ

3. คุณจะมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะไม่ต้องมาคอยกังวลในแต่ละวันว่าจะไปทันไหม หรือไม่ต้องรู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อที่ควบคุมสภาวะรอบตัวไม่ได้

เช่นนี้ ดิฉันไม่แปลกใจที่ Being On Time ถูกเขียนไว้เป็นเรื่องแรกเพราะเป็นปัจจัยง่าย ๆ เบื้องต้นที่หากทำได้จะนำพาให้สร้างนิสัยให้กับเรื่องอื่น ๆ สำเร็จตามไปด้วย