การท่องเที่ยวไทย : ฮีโร่จำเป็นหรือฮีโร่ตัวจริง?

การท่องเที่ยวไทย : ฮีโร่จำเป็นหรือฮีโร่ตัวจริง?

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นฮีโร่ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวไทยและต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีบทบาทสำคัญถึง 17% ของ GDP ซึ่งมีระดับใกล้เคียงกับปีก่อน นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสะท้อนจากอันดับในดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวปี 2562 โดย World Economic Forum ที่ไทยติดอันดับ 31 จาก 140 ประเทศทั่วโลก และเป็นอับดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออก “มาตรการด้าน การท่องเที่ยว” ทั้งมาตรการก่อนหน้าและ 16 มาตรการล่าสุด เพื่อกระตุ้นรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย เช่น การขยายระยะเวลามาตรการ Free Visa on Arrival โครงการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย เป็นต้น จากประสบการณ์ในอดีต การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวมีประสิทธิผลต่อเศรษฐกิจชัดเจน เพราะภาคท่องเที่ยวมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งเป็นพื้นฐานและตอบสนองเร็วต่อมาตรการกระตุ้น อีกทั้งยังส่งผลดีกระจายไปในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจขนส่ง เป็นต้น แต่มาตรการเหล่านั้นก็เป็นมาตรการระยะสั้น เราต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาศักยภาพภาคการท่องเที่ยวให้สามารถเป็นฮีโร่ตัวจริงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีมาตรการระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยในอดีตที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวประสบปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจกระทบต่อศักยภาพและการเติบโตในระยะยาวอยู่พอสมควร

157226699393

ปัญหาและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมา

1.การกระจุกตัวในเชิงสัญชาติ (Country of Residence) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติและในเชิงแหล่งท่องเที่ยวโดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวจากจีน อาเซียน และยุโรป มีจำนวน 21 ล้านคน หรือประมาณ 70% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด การพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไปทำให้มีความเสี่ยง กล่าวคือเมื่อเกิดเหตุการณ์เชิงลบขึ้นกับประเทศนั้น ๆ ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ภาคท่องเที่ยวของไทยมาก เช่น เหตุการณ์เรือของนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ตในปี 2561 ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 2% ในช่วงครึ่งหลังของปี จากที่ขยายตัว 7% ในช่วงครึ่งแรกของปีนอกจากนี้ ในด้านจุดหมายปลายทาง การท่องเที่ยวยังจำกัดอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งมีรายได้รวมกันเกินครึ่งของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด

2.ข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งท่องเที่ยวต่อเนื่องจากการกระจุกตัวในด้านพื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันสนามบินหลักรองรับนักท่องเที่ยวเกินศักยภาพ การเพิ่มเที่ยวบินและผู้โดยสารทำได้น้อยลง กระทบต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว จากผลสำรวจในไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาพบว่า คะแนนด้านการบริการคมนาคมอยู่ในระดับต่ำที่สุด และที่สำคัญคือ เกิดปัญหาความแออัดและแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของภาคท่องเที่ยวไทยในระยะยาว

3.การเติบโตของรายได้จากภาคท่องเที่ยวพึ่งพาจากจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าด้านราคาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวกว่า 8% ขณะที่ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขยายตัวเพียง 2% ต่อปีเท่านั้นซึ่งค่าใช้จ่ายที่อยู่ในระดับต่ำอาจสร้างความเสี่ยงให้กับรายได้ภาคท่องเที่ยวของไทยในอนาคต เพราะจากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกของ World Tourism Organization (UNWTO) พบว่า ในระยะข้างหน้าคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ขณะเดียวกันไทยยังเผชิญกับการแข่งขันดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศคู่แข่งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้การเติบโตของรายได้ที่พึ่งพาการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนในอดีตจะเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น นอกจากมาตรการกระตุ้นระยะสั้นแล้ว ทางการควรมีมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของภาคท่องเที่ยวควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถเป็นฮีโร่ตัวจริงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืนพร้อมกับช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นมาตรการในแนวทาง 3Cs ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว คือ

Creating more value added สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยใช้จุดแข็งด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต อัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาให้มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทมนุษย์สร้างขึ้น (man-made attraction) มาบูรณาการให้เกิดประสบการณ์ท่องเที่ยวที่แตกต่าง เพื่อลดการแข่งขันทางด้านราคาและเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้ตกอยู่กับประเทศไทยมากขึ้นรวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น

Connecting infrastructure and increasing capacity เชื่อมต่อระบบคมนาคมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองรองได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลักและก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ทั่วถึง​​

Caring for environment รักษาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ปัจจุบันดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การปิดอ่าวมาหยาเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติที่ถูกทำลาย ควรสนับสนุนให้ทางการทำมากขึ้นและต่อเนื่อง เพราะไทยมีจุดแข็งด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม แต่การรักษาสิ่งแวดล้อมของไทยกลับด้อยกว่าอีกหลายประเทศ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมซึ่งไทยอยู่ในกลุ่ม 20% ของประเทศที่มีคะแนนน้อยที่สุด

การจัดลำดับและเพิ่มความสำคัญในการดำเนินมาตรการระยาวมีความท้าทายเพราะเห็นผลช้า แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพราะจะสร้างความยั่งยืนให้กับภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวสามารถรับมือกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแนวโน้มพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ใช้ช่องทางออนไลน์สำหรับการท่องเที่ยวทั่วโลกมากขึ้น เพื่อเป้าหมายให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็น “ฮีโร่ตัวจริงของเศรษฐกิจไทยต่อไป และผลักดันสร้าง ฮีโร่ท้องถิ่นเกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนทำให้เกิดการกระจายรายได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้ทั้งคนไทยและแขกที่มาเยี่ยมเยือน

[บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]

โดย...  

ณิชาภัทร สุรวัฒนานนท์

เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย