ดินดีกำลังจะหมดไปจากโลก

ดินดีกำลังจะหมดไปจากโลก

อีก 60 ปีข้างหน้า ดินมีคุณภาพจะไม่ปรากฏบนโลกนี้อีกแล้ว

ผลจากในอดีต ที่โลกเราใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมจำนวนมาก รวมถึงการบุกรุกทำลายป่า และสถานการณ์โลกร้อน ส่งผลให้ดินบนผืนโลกเสื่อมคุณภาพลงต่อเนื่อง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่า หากอัตราการเสื่อมลงของคุณภาพดินหรือหน้าดินยังอยู่ในระดับนี้ หน้าดินหรือชั้นดินที่อุดมสมบูรณ์ของโลกจะหมดลงภายใน 60 ปีข้างหน้า

หรืออีกความหมายหนึ่งคือ อีก 60 ปีข้างหน้า ดินมีคุณภาพจะไม่ปรากฏบนโลกนี้อีกแล้ว

ทั้งนี้จากข้อมูลของ FAO พบว่า หนึ่งในสามของดินบนโลกนี้ที่เคยคุณภาพดี ปัจจุบันกลายเป็นดินไร้คุณภาพ และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เพื่อให้ได้หน้าดินที่มีคุณภาพเพียง 3 เซนติเมตร โลกเราต้องใช้เวลาผลิตและสะสมถึง 1,000 ปี

ทุกท่านอาจไม่ทราบ แต่ละปีโลกเราสูญเสียดินคุณภาพดีเฉลี่ยปีละ 24,000 ล้านตัน การเสื่อมลงของคุณภาพดินอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น สูญเสียแร่ธาตุ หน้าดินถูกกัดกร่อน ดินเป็นกรด รวมถึงดินมีมลพิษหรือสารเคมีเจือปน

การสูญเสียดินคุณภาพดีนำไปสู่ปัญหาสำคัญ คือกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารทั่วโลก ทั้งในมิติคุณภาพและปริมาณอาหาร FAO ประมาณการว่า 95% ของอาหารในโลกนี้สัมพันธ์กับดินไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดินที่ได้คุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูกและผลผลิต เนื่องจากมีปริมาณสารอาหาร น้ำ อากาศ และแร่ธาตุในดินที่เหมาะสม

คุณภาพดิน จึงเป็นตัวกำหนดศักยภาพในการเพาะปลูกหรือการทำการเกษตร เมื่อโลกสูญเสียดินที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมกระทบต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้

เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โลกเราต้องการปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอเลี้ยงดูคนทั้งโลก อาทิ ในปี 2050 ที่คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนเป็นกว่า 9,000 ล้านคน ถึงเวลานั้น ทั่วโลกต้องการอาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 60% โดยประเทศกำลังพัฒนาต้องการปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นมากถึง 100% การสูญเสียดินคุณภาพไปจึงกระทบความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

The Economics of Land Degradation (2015) ประมาณการว่า แต่ละปีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเสื่อมคุณภาพของผืนดินทั่วโลกสูงราว 6.3 - 10.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การเสื่อมคุณภาพลงของผืนดินส่งผลต่อประชากรโลกกว่า 1,500 ล้านคน ที่ดินส่วนใหญ่ที่เสื่อมคุณภาพอยู่ในพื้นที่ที่ยากจนของโลก โดยประเทศที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมมาก เช่นประเทศในเอเชีย มีโอกาสได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เพราะดินมีบทบาทสูงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ปัญหาดินเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ไม่ค่อยมีคนสนใจ ไม่มีหน่วยงานใดดูแล รัฐบาลทั่วโลกก็ไม่มีนโยบายดูแลเรื่องนี้ สาเหตุหลักเพราะปัญหาดินเสื่อมคุณภาพไม่เหมือนปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วม ที่มีผู้เดือดร้อนอย่างปัจจุบันทันด่วน จนรัฐบาลต้องใส่ใจแก้ไข

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาคุณภาพดินเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นเครื่องชี้คุณภาพชีวิตในระยะยาวของมนุษยชาติ เป็นตัวรับประกันความเพียงพอของอาหารที่จะรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาภาคเกษตรเช่น เอเชียหรือไทย ยิ่งควรใส่ใจปัญหาดิน เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง

ในทางเศรษฐศาสตร์ การป้องกันดินไม่ให้เสื่อมคุณภาพคุ้มค่าที่จะลงมือทำ เพราะต้นทุนในการปกป้องดินไม่ให้เสื่อมคุณภาพ ต่ำกว่าต้นทุนที่เกิดยามดินเสื่อมคุณภาพไปแล้วมากนัก ตัวอย่างวิธีบำรุงดินให้มีคุณภาพหรือไม่เสื่อมคุณภาพ เช่น ใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด ส่งเสริมเกษตรกรรมผสมผสาน รักษาสัตว์ในระบบนิเวศ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

การแก้ปัญหาดินยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เราและนานาประเทศตั้งไว้ ทั้งช่วยขจัดความหิวโหย ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมพลังงานสะอาดและลดความรุนแรงของสถานการณ์โลกร้อนได้ด้วย

มาช่วยกันรักษาดินคุณภาพดีไว้ให้ลูกหลานเรากันครับ