เจาะบาดาลเสี่ยงดินเค็ม แนะวางแผนจัดการน้ำบาดาลอย่างเป็นระบบ

เจาะบาดาลเสี่ยงดินเค็ม  แนะวางแผนจัดการน้ำบาดาลอย่างเป็นระบบ

ปีนี้หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานของไทยประสบภาวะภัยแล้งอย่างหนัก แหล่งน้ำผิวดินอยู่ในสภาพแห้งหมดอ่าง

แนวทางแก้ที่ผ่านมาคือการใช้น้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะระบบประปาหมู่บ้าน ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดภัยแล้ง สิ่งที่รัฐทำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง คือ การแจกงบประมาณเจาะบ่อบาดาลช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้า แต่ปัญหา “น้ำบาดาลเค็ม” ที่เกิดขึ้นมีมาช้านาน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ แถมน้ำผิวดินบางช่วงก็เกิดปัญหาความเค็มด้วย เช่น กรณีลำน้ำมูลและลำน้ำสาขาแห้งแถมเค็ม และอีกหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำบาดาลที่เคยใช้กลายเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคและเพาะปลูกต่อไปได้ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างมากโดยเฉพาะในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้น้ำบาดาลเค็ม!

เป็นที่มาของ โครงการแนวโน้มผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการใช้ที่ดินต่อศักยภาพการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง นำโดย ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เพื่อวางแผนการบริหารจัดการที่ดินและการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ในอนาคต ให้มีทรัพยากรน้ำบาดาลใช้ได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานคู่ขนานบนฐานข้อมูลเดียวกับการศึกษาแนวโน้มการแพร่กระจายดินเค็มในอนาคตในช่วง10ปี20ปี และ30ปีข้างหน้า บนพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง ผลการศึกษาที่ได้อยู่ในรูปแบบของแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการใช้น้ำบาดาล และแผนที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็ม โดยใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์

ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปริมาณฝนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งมีผลต่อระบบอุทกธรณีวิทยาหรือปริมาณการเพิ่มเติมน้ำบาดาล สมดุลน้ำบาดาล ศักยภาพน้ำบาดาล การกระจายความเค็มในน้ำบาดาลและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดินเค็มในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้มีทรัพยากรน้ำบาดาลใช้ได้อย่างยั่งยืน และอาจช่วยให้เข้าใจถึงความเสี่ยงในการขยายตัวของพื้นที่น้ำบาดลขัง-ดินเค็ม

โดยเฉพาะลุ่มน้ำห้วยหลวง เป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งภาคอีสาน โดยลุ่มน้ำห้วยหลวงครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,900 ตร.กม. อยู่ในเขตจ.อุดรธานี หนองบัวลำภู และหนองคาย พื้นที่ประกอบด้วยภูเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอน และที่ราบลุ่ม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 160-200 เมตร โดยพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงรองรับด้วยกลุ่มหินโคราช ที่มีหน่วยหินมหาสารคามรองรับอยู่ ซึ่งเป็นชั้นหินที่มีเกลือหินแทรกตัวอยู่ พื้นที่บางแห่งจึงพบน้ำบาดาลเค็ม โดยเฉพาะบริเวณที่มีชั้นเกลือหินแทรกตัวในระดับตื้นๆ ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงมีข้อจำกัดในการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือมีการพัฒนาใช้น้ำบาดาลจนเกินศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรุกตัวหรือกระจายตัวของน้ำบาดาลเค็มในอนาคต

การทำวิจัยที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง มี 2 ประเด็นที่สนใจ คือ ปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ และประเด็นการกระจายตัวของน้ำเค็มในอนาคตภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนปลายบริเวณที่บรรจบกับลุ่มน้ำโขงฝนมาก แต่ตอนที่ลึกเข้ามาในแผ่นดินไปทางจังหวัดอุดรธานีและหนองบัวลำภู จะค่อนข้างแห้งแล้ง  ภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ พื้นที่น้ำเค็มจะกระจายตัวมากขึ้น แต่ความเค็มจะลดลง เปรียบกับไข่แดง ไข่แดงจะลดลง แต่ไข่ขาวจะใหญ่ขึ้น พื้นที่น้ำบาดาลเค็มไม่มากขยายตัวขึ้น แต่เอาน้ำมาใช้ไม่ได้มากขึ้น ขณะที่พื้นที่เค็มจัดๆ จะลดลง

ข้อมูลสำคัญที่ประเทศไทยยังไม่มีคือ ปริมาณการใช้น้ำบาดาลที่แท้จริง เพราะว่าตอนนี้มีบ่อที่ไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียน ทั้งอยู่ในป่าอ้อย ในบ้าน ในวัด ในโรงเรียน และอีกหลายๆ แห่งที่ไม่รู้ว่ามีการเจาะอยู่ตรงไหน เจาะลึกเท่าไร และสูบน้ำขึ้นมาใช้เท่าไร อย่างในแอ่งแถวอีสานมีที่เรารู้ประมาณ 10% อีกกว่า 80% เราไม่รู้ เราจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้แล้วบริหารจัดการอย่างไร เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้ 

สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ การศึกษาทดลองหาค่าการแพร่กระจายของมวลสาร (Dispersivity) ในน้ำบาดาล เพราะค่านี้เป็นค่าที่ชี้ว่าน้ำบาดาลเค็มแพร่กระจายไปเร็วหรือช้าแค่ไหน บริเวณน้ำบาดาลที่เราใช้จะอยู่ในหินชั้นบน เป็นหินที่เราใช้น้ำเป็นน้ำจืด แต่ถ้าเราเจาะลึกเกินไปนิดหน่อยจะพบว่าเป็นน้ำเค็ม เนื่องจากเกลือในอีสานมีเยอะมากและหนามาก ความหนาของเกลือเหล่านี้ ระบบการไหลของน้ำบาดาลก็คือส่วนสำคัญเพราะน้ำบาดาลไหลพาเกลือไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝนตกน้อยหรือมาก การไหลพาเกลือไปจึงมีการเปลี่ยนแปลงด้วย ขณะเดียวกันถ้าปีไหนแล้งติดต่อกันนาน เรายิ่งใช้น้ำบาดาลมาก ทำให้ต้นทุนของน้ำบาดาลยิ่งน้อยลง น้ำเค็มก็จะยิ่งขึ้นมา นี่เป็นปัญหาใหญ่ในช่วงหน้าแล้ง ยิ่งแล้งติดต่อกันหลายๆ ปี ยิ่งมีผลกระทบมาก

 จากการศึกษา ทำให้ทราบว่า บริเวณไหนเกลืออยู่ตื้น-ลึกขนาดไหน น้ำบาดาลตรงไหนเค็มมาก เค็มน้อย ถ้าต้องการจะพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ควรจะไปใช้ตรงไหนและใช้ได้เท่าไรในสภาวะไหน ถ้ามีฝนปริมาณนี้ใช้น้ำได้ประมาณไหน โดยใช้สภาพภูมิอากาศในอนาคตมาจำลองว่าน้ำในอนาคตจะไหลลงไปใต้ดินเท่าไร และจะไหลพาเอาความเค็มไปทางไหน โดยใช้สัญญาลักษณ์สีเป็นตัวกำกับความเค็ม อาทิ สีฟ้า คือน้ำจืด สีเขียว คือน้ำกร่อย สีแดง คือเค็ม พบว่า พ.ศ.2580 - 2590พื้นที่ตรงที่ไม่เคยแดงก็จะแดง โดยเฉพาะแถวอ.กุดจับ ความเค็มจะมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็ม ในพื้นที่จ.อุดรธานี ได้แก่ ต.เชียงยืน ปะโค กุดสระ และในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2570 จะขยายตัวจากเดิมไปในพื้นที่ต.สามพร้าว และต.นาข่า กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็มเพิ่มขึ้น ดังนั้น การพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้พื้นที่ ต้องมีการเฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและความเค็มของน้ำบาดาล ต้องมีการวางแผนไม่ให้เกิดการใช้น้ำบาดาลเกินศักยภาพตามปริมาณการใช้ตามสภาพภูมิอากาศและการใช้ดินที่เปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันการแทรกตัวของน้ำบาดาลเค็ม เข้ามาในบ่อบาดาลที่มีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำบาดาลเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นแหล่งของน้ำอุปโภคและบริโภค รวมทั้งน้ำดื่ม น้ำแร่สารพัดยี่ห้อ กระทั่งประปาหมู่บ้านล้วนแล้วแต่อาศัยแหล่งน้ำจากใต้ดินทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการนำเรื่องน้ำบาดาลมาอยู่ในแผนที่เดียวกับแหล่งน้ำผิวดินเวลาบริหารจัดการน้ำ!! เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำบาดาล

โดย... สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)