ต้องชมเชยสามนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีนี้

ต้องชมเชยสามนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีนี้

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมติดตามอยู่เสมอว่า นักเศรษฐศาสตร์หัวกะทิของโลกที่จะได้รางวัลโนเบล ในฐานะผู้บุกเบิกพรมแดนความรู้ของวิชาแต่ละปีจะเป็นใคร

เพราะอยากเข้าใจความคิดของบุคคลเหล่านี้ และงานของเขาว่าเด่นอย่างไร เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์สาคัญและสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่และฐานะของคนในสังคมได้ ซึ่งปีนี้ไม่ผิดหวัง เมื่อผลที่ประกาศปีนี้มอบเกียรติผู้รับรางวัลโนเบล ด้านเศรษฐศาสตร์ ให้กับนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน 3 คน คือ 1.ไมเคิล ครีเมอ (Michael Kremer) อายุ 54 ปี สอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 2.อภิจิต บาเนอจี (Abhijit Banerjee) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน เชื้อสายอินเดีย อายุ 58 ปี สอนที่มหาวิทยาลัย MIT และ 3.เอสเทอ ดูอโฟร (Esther Duflo) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน เชื้อสายฝรั่งเศส อายุ 46 ปี สอนที่มหาวิทยาลัย MIT ทั้งสามคนได้รับรางวัลโนเบล ในฐานะผู้บุกเบิกความเข้าใจในปัญหาและเหตุผลที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของมนุษยชาติ ถือเป็นการบุกเบิกที่อาจนำไปสู่การยุติปัญหาความยากจนได้ ก็ต้องขอแสดงความยินดี

ตอนที่ทราบว่า บุคคลทั้ง 3 คนได้รับรางวัลโนเบลจากงานวิจัยของพวกเขา ที่เปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ปัญหาความยากจน ผมค่อนข้างตื่นเต้นและยินดีไปด้วย เพราะปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นความท้าทายที่นักเศรษฐศาสตร์มีมาตลอด แม้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์จะสามารถสร้างความเข้าใจได้ดีเกี่ยวกับกระบวนการการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นใครที่สามารถทาให้ความเข้าใจในเรื่องความยากจนดีขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี นอกจากนี้ถ้าความสำเร็จหรือความเข้าใจนี้สามารถต่อยอด หรือขยายผลไปสู่การนำไปปฏิบัติใช้ในวงกว้าง นำไปสู่การลดทอนของปัญหาความยากจนได้จริง ประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ ในฐานะแขนงความรู้หนึ่งของสังคมศาสตร์ก็จะมีให้เห็นอย่างประจักษ์ ซึ่งน่ายินดีมาก

ความยากจนเป็นปัญหาสำคัญของโลก และแต่ไหนแต่ไรมา ความเข้าใจของนักเศรษฐศาสตร์คือ ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโต รายได้ของเศรษฐกิจสูงขึ้น คนในเศรษฐกิจมีรายได้มากขึ้น ความยากจนในระบบเศรษฐกิจก็จะลดลง ด้วยความเข้าใจนี้ นักเศรษฐศาสตร์จึงมุ่งไปที่การพัฒนาประเทศ ให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว ให้ระดับรายได้ของประชาชนสูงขึ้น เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีและความยากจนที่จะลดลง ดังนั้น การลดความยากจนต้องมาจากการพัฒนาประเทศ แต่การพัฒนาประเทศ คือการเดินทางไกลที่ประเทศจะต้องผ่านขั้นตอนและอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจมีการเติบโตของรายได้ที่ต่อเนื่อง และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่อง นำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

ในประเด็นนี้ แนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ให้ความสำคัญกับบทบาทภาครัฐที่จะสร้างกลไกสนับสนุนต่างๆ เช่น สถาบัน ระบบการศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เป็นฐานให้ระบบเศรษฐกิจเติบโต และนำผลที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจมาแบ่งปันให้กับคนในสังคมได้อย่างเหมาะสมผ่านระบบภาษีและการใช้จ่ายของรัฐ แนวคิดของกลุ่มนี้ได้แตกแขนงออกไปหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับบทบาทภาครัฐว่าจะมีมากหรือน้อย ตั้งแต่ระบบคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เศรษฐกิจแบบสังคมสวัสดิการ จนถึงระบบตลาด ความแตกต่างในบทบาทของภาครัฐในทางปฏิบัติจะต้องมีความแตกต่างของระบบการเมืองเข้ามารองรับ ซึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกเราก็เห็นความแตกต่างเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระบบคอมมิวนิสต์ไปถึงระบบตลาด

กลุ่มที่สอง คือแนวคิดที่เชื่อในความสามารถและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลว่า พลังที่มนุษย์มีถ้าสามารถเปิดให้มีความเป็นอิสระเสรีในสิ่งที่จะทำ จะเป็นพลังมหาศาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต นี่คือแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ กลไกตลาด และการแข่งขันว่า ความต้องการส่วนตน (Self Interest) จะเป็นแรงจูงใจที่นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ ผ่านการทำงานของกลไกตลาด มองบทบาทภาครัฐว่าเป็นการปิดกั้นการทำงานของระบบตลาด ต้องการเห็นภาครัฐมีบทบาทน้อยสุดในระบบเศรษฐกิจ เน้นเฉพาะการรักษากฎหมาย การแข่งขัน ภาษีเก็บแต่น้อย และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี มองว่ากลไกตลาดจะเป็นตัวกระจายผลที่จะเกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ตามความสามารถที่มี และเป็นไปตามความแตกต่างที่มี

เศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ผ่านมาทั้ง 2 ระบบ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบทบาทภาครัฐเป็นแนวคิดกระแสหลักในการพัฒนาประเทศทั่วโลก เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่ที่แก้ไม่ตกคือปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น จากนั้นช่วงหลังปี 1990 หลังการล่มสลายของระบบสังคมนิยมโซเวียต โลกก็เปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับความเป็นเสรีตลาด เป็นยุคทองของระบบตลาดและโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตมาก แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งรุนแรง ความยากจนลดลงช้า จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ที่สร้างความเสียหายมาก จากนั้น โลกก็หวนกลับเข้าสู่แนวคิดของการมีผู้นำและรัฐบาลที่เข้มแข็งที่จะแก้ไขปัญหา กลับมาสู่การให้ความสำคัญกับบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจีนดูเหมือนอาจเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการผสมผสานบทบาทของรัฐที่เข้มแข็งกับระบบตลาดภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ที่สามารถทำได้(ถึงขณะนี้) ทั้งการลดความยากจนและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ ผ่านวิธีการที่พึ่งการใช้อำนาจของภาครัฐ แต่สำหรับประเทศที่ไม่ได้มีบทบาทของภาครัฐมาก เป็นระบบตลาดปรกติ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คนได้บุกเบิกคือ ปัญหาความยากจนสามารถลดทอนได้ภายใต้กลไกของระบบตลาดอย่างที่มีในปัจจุบัน ไม่ต้องพึ่งบทบาทของภาครัฐมากแบบจีน เพียงแต่การแทรกแซงของภาครัฐที่จะแก้ปัญหาจะต้องถูกต้อง ตรงจุด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนที่อยู่ในความยากจน ขวนขวายและเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งความสวยงามของข้อสรุปนี้ก็คือ ระบบแรงจูงใจ ซึ่งเป็นหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์ สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ถ้าการแทรกแซงของภาครัฐสามารถสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น

ต่อคาถามที่ว่า อะไรคือแรงจูงใจที่ถูกต้อง นี่คือคำตอบที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คนบุกเบิกให้กับวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยใช้วิธีวิจัยที่ใช้การทดลองแบบสุ่มตัวอย่างและมีกลุ่มควบคุม(Randomized Controlled- trial) ซึ่งเป็นการทดลองที่ถือเป็นมาตรฐานทองของการทดลองทางคลินิกที่ใช้ตรวจสอบประสิทธิภาพของการรักษาโรคหรือยา นำมาใช้ตรวจสอบมาต รการแก้ไขปัญหาความยากจนของภาครัฐว่ามาตรการไหนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง เพื่อให้รัฐมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่ามาตรการไหนแก้ปัญหาได้ และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างไร มาตรการไหนสูญเปล่าและไม่มีประสิทธิภาพ โดยคำตอบมาจากประสบการณ์จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถทำซ้ำได้เพื่อแก้ไขปัญหาในวงกว้างต่อไป ทำจากเล็กไปใหญ่ จากจุดเริ่มต้นที่มาจากแนวคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์ เสริมด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มาจากภาคสนาม โดยวิธีคิดวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้ในแขนงวิชาอื่นๆ เข้ามาช่วย

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ต้องยอมรับในความมีนวัตกรรมในงานวิจัยของศาสตราจารย์ทั้ง 3 คนที่เปิดความหวังให้กับการแก้ปัญหาความยากจน และทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์มีบทบาทต่อการสร้างความเข้าใจที่ดี และต่อการแก้ปัญหาสำคัญของสังคมโลก