เวียดนามดึงดูดนักลงทุน ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้า

เวียดนามดึงดูดนักลงทุน ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้า

เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตถึง 6.8% ในปีนี้ จากการใช้จ่ายในประเทศและเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่สูงขึ้น

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนในสายตาของบริษัทข้ามชาติ ท่ามกลางสภาวะตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน

ต้นทุนแรงงานที่ถูกและข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ ทำให้เวียดนามดึงดูดบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเรื่องต้นทุน และการเข้าถึงตลาดการค้าใหญ่ ๆ ของโลก

ในปี 2561 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวถึง 7.1% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยเฉพาะในการผลิตภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การค้าส่งและการค้าปลีก ซึ่งขยายตัว 13% 9.2% และ 8.5% ตามลำดับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เติบโตจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นถึง 20%

ในปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามเติบโต 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของภาคการเกษตร (+2%) ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง (+9.4%) และภาคบริการ (+6.9%) โดยเฉพาะการค้าส่งและการค้าปลีก การคมนาคม การสื่อสาร การเงินและการธนาคาร การศึกษา และการสาธารณสุข

บริษัทข้ามชาติเล็งย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม

จากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้ผู้ผลิตหลายรายได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีสินค้าส่งออกที่สูงขึ้น และบริษัทเหล่านี้เริ่มมองหาฐานการผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า

เวียดนามได้เปรียบในเรื่องของที่ตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกเป็นอย่างยิ่ง ด้านการคมนาคมทางบก เวียดนามมีชายแดนติดกับลาว กัมพูชา และที่สำคัญที่สุดคือจีน ส่วนการขนส่งทางทะเล ภาคตะวันออกของเวียดนามเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่มีเมืองท่าสำคัญถึง 3 เมือง

แต่ปัจจัยที่สำคัญมากกว่าตำแหน่งที่ตั้งคือเรื่องแรงงานราคาถูก ที่เป็นปัจจัยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันต้นทุนค่าแรงในเวียดนามถูกกว่าจีน 1.5 เท่า และต่ำกว่าไทย 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหนึ่งของเวียดนามคือการที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตร ส่งผลให้แรงงานที่มีทักษะสูงมีจำนวนจำกัด และอาจนำไปสู่แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคตจนส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ข้อตกลงทางการค้าที่เอื้อต่อการลงทุน

เวียดนามได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าถึง 13 ฉบับ และอีก 3 ฉบับกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกจากเวียดนามไปยังตลาดสำคัญๆ ของโลกนั้นปลอดภาษี และทำให้ผู้ผลิตที่ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามสามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกลงได้

ข้อตกลงการค้าที่เวียดนามทำกับนานาประเทศที่สำคัญ ได้แก่ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และ EU-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) ซึ่งยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้ากว่า 98% ที่ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก และลดภาษีศุลกากรกว่า 99% ระหว่างกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและเวียดนามเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี

ในปีที่ผ่านมา เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในเวียดนามเพิ่มขึ้น 9.1% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 19,100 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้เราคาดว่าเม็ดเงินลงทุนของเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 4.7% เป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลพวงจากสงครามการค้า

สำหรับมุมมองในระดับจุลภาค จากความสำเร็จของการทดลองระบบ 5G ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประกอบกับปัจจุบันเวียดนามมีไฮเทคปาร์ค 3 แห่ง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำเรื่องวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมและการเติบโตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (value-based)

จากข้อมูลของ Central Institute for Economic Management (CIEM) การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ หรือ อุตสาหกรรม 4.0 นั้นจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสูงขึ้นถึง 7-16% ต่อปี และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 315-640 ดอลลาร์ ภายในปี 2573 ซึ่งตัวเลขนี้นับว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับข้อมูลจาก IMF ที่ระบุว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของเวียดนามในปีที่แล้วอยู่ที่ 2,551 ดอลลาร์

ในระยะกลางถึงระยะยาว เวียดนามยังคงเดินหน้าปักธงการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยโมเดลอุตสาหกรรม 4.0 ที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไปพร้อมกัน เห็นได้จากการที่ภาครัฐออกนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยผลักดันและส่งเสริมศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม