“เน็ตผ่านดาวเทียม”งานใหญ่ ก่อนพิชิตดวงดาว

“เน็ตผ่านดาวเทียม”งานใหญ่ ก่อนพิชิตดวงดาว

ความพยายามที่ช่วยให้ผู้คนในทุกพื้นที่ทั่วโลกสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ถูกนำมากล่าวถึงอย่างมากเมื่อค่ายดิจิทัลรายใหญ่อย่าง กูเกิล

เปิดตัวโครงการ “Loon” ในปี 2011 เพื่อส่งบอลลูนให้ลอยอยู่เหนือท้องฟ้าและควบคุมให้เคลื่อนที่อยู่ในบริเวณที่ยังขาดการเชื่อมต่อด้านอินเตอร์เน็ต อาทิ ในขุนเขา มหาสมุทร ทะเลทรายหรือเขตพื้นที่กันดารในแอฟริกา รวมถึงโครงการ “Aquila” ของเฟซบุ๊คซึ่งทดลองส่งเครื่องโดรนให้ล่อนอยู่ในท้องฟ้าเป็นเวลานาน เพื่อส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล แต่โครงการทั้งสองก็ยังไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ได้ทันกาล

จึงเป็นโอกาสให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอวกาศอย่างบริษัท SpaceX ของอีลอน มัสก์และ Blue Origin ของเจฟฟ์ เบโซส์ ที่ต่างเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อพามวลมนุษยชาติไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในต่างดาว แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้นผลผลิตทางนวัตกรรมที่สร้างขึ้นอาจกำลังช่วยให้บริษัทสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากการสร้างโครงข่ายดาวเทียมเพื่อใช้รับส่งสัญญาณอินเน็ตให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในโลก

 

SpaceX กับรายได้ที่ต้องการ

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX มีความฝันที่พามวลมนุษยชาติไปสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอังคาร ได้เริ่มการพัฒนาจรวด Falcon ที่สามารถขึ้นจากฐานยิงและกลับมาลงจอดยังผิวโลก (Reusable Rocket) ได้สำเร็จ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งจรวดต่ำลงจนสร้างความหวังที่เป็นไปได้ในการเดินทางออกสู่อวกาศ โดยล่าสุดในปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา อีลอนได้เปิดตัวต้นแบบยาน SpaceShip ที่จะขับเคลื่อนพามนุษย์เดินทางสู่อวกาศให้เห็นเป็นครั้งแรก แต่แผนการเดินทางสู่ดาวอังคารยังคงต้องใช้เงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก

ในปี 2015 SpaceX ได้เริ่มต้นโครงการ “Starlink” เพื่อให้บริการไฮสปีดอินเตอร์เน็ตกับทุกพื้นที่ในโลกโดยเฉพาะในพื้นที่ที่สายไฟเบอร์ออฟติกไปถึงได้ยาก รวมถึงในพื้นที่กันดารในเครื่องบินหรือในเรือเดินสมุทร ด้วยแผนการส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit, LEO) จำนวนเกือบ 12,000 ดวงเข้าสู่วงโคจรของโลกให้เสร็จสิ้นภายในปี 2027 ซึ่งอาจใช้เงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะได้ไฮสปีดที่เร็วกว่าการใช้สายไฟเบอร์ออฟติกถึงเกือบ 50% โดยไม่เกิดความหน่วง ซึ่งความเร็วของข้อมูลที่ได้จาก Starlink จะให้ประโยชน์อย่างมากกับการเทรดในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ห่างออกไป

ในเดือนพฤษภาคม 2019 SpaceX ได้ส่งดาวเทียมทดสอบที่มีขนาดเท่าหน้าโต๊ะทำงานและน้ำหนักประมาณ 227 กิโลกรัมจำนวน 60 ดวงไปกับจรวด Falcon 9 เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรของโลกที่ความสูง 550 กิโลเมตร โดยในระหว่างการทดสอบครั้งนี้ดาวเทียมทุกดวงสื่อสารกลับมายังสถานีที่พื้นโลก แต่เมื่อใช้งานจริงดาวเทียมแต่ละดวงจะเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายกับดาวเทียมอีก 4 ดวงด้วยเลเซอร์ซึ่งไม่เคยมีการใช้เทคโนโลยีในลักษณะนี้มาก่อน

เพื่อส่งดาวเทียมจำนวน 12,000 ดวงเข้าสู่วงโคจรภายในปี 2027 SpaceX ต้องใช้จรวด Falcon 9 ลำเลียงดาวเทียมสองเที่ยวบินต่อเดือน แต่อาจสร้างรายได้ให้กับ SpaceX ถึง 30,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยล่าสุดมีข่าวว่า SpaceX กำลังขออนุญาตจาก International Telecommunication Union (ITU) ที่จะเพิ่มจำนวนดาวเทียมขึ้นอีก 30,000 ดวงรวมเป็น 42,000 ดวง

 

Amazon ท้าชิง

อเมซอน (amazon.com) ซึ่งเจฟฟ์ เบโซส์เป็นซีอีโอและยังเป็นเจ้าของบริษัท Blue Origin ผู้ซึ่งมีความฝันที่จะพาผู้คนนับล้านล้านคนไปตั้งถิ่นฐานยังดวงดาวอื่น โดยใช้ดวงจันทร์เป็นฐานที่ตั้งสำคัญ เนื่องจากดวงจันทร์มีน้ำซึ่งแยกออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนที่เป็นธาตุสำคัญของการเป็นเชื้อเพลิงในอวกาศ และจะขุดแร่ธาตุจากดาวต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับอาณานิคมใหม่

อเมซอนได้เปิดเผยโครงการ “Project Kuiper”ที่ต้องการสร้างเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) จำนวน 3,236 ดวงเพื่อให้สัญญาณอินเตอร์เน็ตกับผู้คนในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพิกัด 56 องศาเหนือถึง 56 องศาใต้ หรือระหว่างสก๊อตแลนด์และบริเวณอเมริกาใต้ ซึ่งคาดว่าครอบคลุมพื้นที่การใช้งานของประชากรกว่า 95%

โครงการดังกล่าวยังต้องผ่านการอนุมัติจาก FCC และใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ตลอดจนใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายนานหลายปี โดยยังไม่มีรายละเอียดว่าจะสร้างดาวเทียมขึ้นเองหรือทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่น

 

ทำอย่างไรกับขยะอวกาศ

เครือข่ายดาวเทียมอาจทำให้เกิดเศษขยะอวกาศที่ลอยอยู่รอบวงโคจรของโลกอีกมาก มีการประมาณว่าอาจมีเศษวัสดุที่มนุษย์ทำขึ้นซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าลูกฟุตบอลลอยอยู่รอบวงโคจรมากถึง 23,000 ชิ้น เศษวัสดุเหล่านี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 280,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงเศษขยะขนาดเล็กที่เรียกว่า “Micrometeoroids” ที่ลอยอยู่อีกหลายล้านชิ้น ซึ่งพร้อมจะสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียม ยานอวกาศตลอดจนนักบินอวกาศหากเกิดการปะทะขึ้น ในปัจจุบันได้มีหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ติดตามเศษขยะอวกาศ (Space Junk) เหล่านี้ ตลอดจนเกิดข้อตกลงในการกำจัดยานอวกาศหรือดาวเทียมที่ไม่ใช้แล้วเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพราะผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศอาจยากเกินเยียวยา