PISA เปรียบกับหอเอนปิซา ความเอนเอียงที่ไม่สวยงาม

PISA เปรียบกับหอเอนปิซา ความเอนเอียงที่ไม่สวยงาม

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมการศึกษาไทยถึงดูเหมือนตกต่ำลงทุกวัน แม้แต่ในงานวิจัย หรือข่าวสารการศึกษาเอง ก็มักอ้างคะแนน PISA

ที่เราเชื่อกันว่า เป็นคะแนนที่บอกสมรรถนะนักเรียนไทยในระดับมาตรฐานสากล 

นักการเมือง นักออกแบบนโยบาย หรือนักการศึกษา มักใช้คะแนน PISA(Programme for International Student Assessment)  เป็นตัวตั้งในการบอกถึงปัญหาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการของระบบโรงเรียน การสอนของครู หรือแม้แต่ความพร้อมของนักเรียน จนเราลืมมองปัญหาในระดับห้องเรียน และในระดับโรงเรียน แต่กลับเคยชินกับการคิดแบบเหมารวม ใช้คะแนน PISA เป็นตัวบอกว่าโรงเรียนหรือห้องเรียนมีปัญหา ทั้งๆ ที่ทั่วโลกก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบ PISA อย่างจริงจังในหลากหลายประเด็น

การวิเคราะห์ที่จะกล่าวต่อไป เป็นเพียงการนำบทวิเคราะห์ของศาสตราจารย์กิตติคุณทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ นามว่า Svein Sjøberg มาตีแผ่ให้เราได้มองเห็นประเด็นปัญหาของข้อสอบ PISA ให้ชัดขึ้น อาทิ เป็นข้อสอบที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของผู้นำและผู้บริหารองค์กร OECD (หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) การออกข้อสอบ การจัดสอบและการแปลความหมายข้อมูลที่ย้อนแย้งกับคำนิยามของความสามารถที่องค์กรตั้งไว้ ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญกับนักการศึกษาวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก 

โดยในปี 2016 ทาง OECD ได้ให้นิยามของคำว่า การรู้วิทยาศาสตร์ (Science literacy) คือ “ความสามารถในการมีส่วนร่วม และข้อคิดทางวิทยาศาสตร์ อย่างพลเมืองผู้ไตร่ตรองทางความคิด (reflective citizen) เป็นผู้รู้วิทยาศาสตร์จะเต็มใจในการมีส่วนร่วมอย่างมีเหตุผล ในวงสนทนาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องอาศัยความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์อย่างนักวิทยาศาสตร์ สามารถประเมินและออกแบบการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสามารถแปลข้อมูลและหลักฐานอย่างนักวิทยาศาสตร์ได้”

อย่างไรก็ตาม คะแนนการรู้วิทยาศาสตร์ในข้อสอบ PISA กลับไม่ได้วัดตรงตามนิยามข้างต้นนี้ การคำนวณคะแนนที่นักเรียนทำข้อสอบ จะวัดเพียงความรู้ และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้วัดทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ ว่า ความรู้นั้นเป็นจริงและมีความหมายต่อชีวิตประจำวันของเขาจริงหรือไม่

การถามข้อมูลที่สำคัญที่สุดเหล่านี้ กลับไปอยู่ในแบบสอบถามข้อมูลภูมิหลังของนักเรียน ซึ่งพอนำข้อคำตอบตรงนี้มาพิจารณา เรากลับพบว่า ในบางประเทศ นักเรียนที่ทำคะแนน PISA ได้ดีกลับมีความสนใจ มีความต้องการมีส่วนร่วมในประเด็นที่เกี่ยวข้องทางวิทยาศาสตร์น้อยมาก

ฟินแลนด์ คือหนึ่งในประเทศเหล่านั้น ซึ่งในปี 2006 ได้คะแนน PISA สูงสุด แต่่นักเรียนกลับมีความสนใจในทางวิทยาศาสตร์ต่ำสุด

ประเด็นที่นักการศึกษาวิทยาศาสตร์ต้องตื่นตัว เห็นจะเป็นประเด็นการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-Based Science Education, IBSE) ซึ่งนักการศึกษาเห็นพ้องว่า เป็นการสอนที่ครูควรใช้ ในข้อสอบ PISA ได้มีการสอบถามประสบการณ์ของนักเรียนว่าเคยได้รับการสอนในลักษณะนี้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า หากครูของนักเรียนคนนั้นสนับสนุนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ ให้นักเรียน และทำการทดลอง เด็กนักเรียนคนนั้นมักจะได้คะแนน PISA ต่ำ

ฟินแลนด์ ก็คือประเทศที่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ หรือการสอนแบบสืบสอบในทางวิทยาศาสตร์

พอมามองดูการออกข้อสอบ PISA ก็จะพบว่าเฉพาะประเทศที่เป็นสมาชิก OECD เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการออกข้อสอบ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก และไม่มีส่วนร่วมในการออกข้อสอบนี้ โดยการออกข้อสอบจะต้องเป็นไปตามกรอบความคิดที่องค์กรวางไว้ เพื่อตัดสินว่า นักเรียนมีความพร้อมสำหรับโลกอนาคตมากน้อยเพียงใด สามารถเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต วิเคราะห์ ให้เหตุผลและสื่อสารความคิดออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ ในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน ได้ดีเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ในการประเมินข้อสอบที่แต่ละประเทศสมาชิก OECD ออกมา จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับบริบทจริงที่เฉพาะของแต่ละประเทศ เพื่อให้ยุติธรรมสำหรับนักเรียนทุกชาติที่ทำข้อสอบ และหากข้อสอบมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน หรือหลักสูตรที่นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนหนึ่งในประเทศใด ข้อสอบข้อนั้นก็จะถูกตัดออกทันที ซึ่งการออกข้อสอบให้ยุติธรรมในลักษณะนี้ ทำให้เกิดข้อกังขาว่า สามารถวัดคุณภาพการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนของแต่ละประเทศได้อย่างไร และหากข้อสอบไม่เกี่ยวข้องกับบริบทในชีวิตประจำวันจริง การทำข้อสอบนั้นได้ จะสื่อว่านักเรียนเข้าใจวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร หรือข้อสอบ PISA ที่ให้นักเรียนนั่งเขียนตอบเป็นเวลา 2 ชม. โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เป็นแหล่งข้อมูล จะสามารถทดสอบชีวิตจริง หรือความสามารถของเขาในการเผชิญปัญหาในสถานการณ์ชีวิตประจำวันได้อย่างไร

อันนี้ยังไม่กล่าวถึงปัญหาของข้อสอบ PISA อื่น ๆ อีก เช่น ปัญหาการใช้ภาษาที่ซับซ้อน หรือเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ

ฟินแลนด์ ก็คือประเทศที่นักเรียนหญิงทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนชายในทุกวิชาของ PISA ทั้งทางด้านการอ่าน เลขและวิทยาศาสตร์ อีกทั้ง ความพยายามในการได้คะแนน PISA ดี แต่กลับไม่มีความมั่นใจในตนเอง และมีการรับรู้ความสามารถตนเอง (self-efficacy) ต่ำ ก็เกิดขึ้นแล้วในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง

สรุปได้ว่าเราไม่สามารถเหมารวมได้ว่า นักเรียนอายุ 15 ปี ในประเทศฟินแลนด์ ประเทศไทย ญี่ปุ่น หรืออเมริกา เผชิญปัญหาสังคมและข้อท้าทายที่เหมือนกัน ดังนั้นการวัดความพร้อมของนักเรียนในแต่ละประเทศ ก็ควรจะแตกต่างกันออกไป คะแนน PISA จึงไม่สามารถบ่งชี้นโยบายและปัญหาในระดับประเทศได้ เราจึงควรหันกลับมามองปัญหาในบริบทของเราเองก่อน เป็นไปได้ว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทยเรากำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง 

นั่นคือ ผู้นำประเทศทางการศึกษาของเขาไม่ให้ความสำคัญกับตัวเลขที่บอกคะแนน PISA ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปทางการศึกษาได้ ฟินแลนด์มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ที่เราเรียกย่อจาก Global Educational Reform Movement (GERM) ที่คนทั่วโลกมักตื่นตระหนกกับการปฏิรูปการศึกษา หลังจากทราบผลคะแนน PISA

หวังว่าประเทศไทยเรา จะมีภูมิคุ้มกันต่อ GERM หรือคะแนน PISA ไม่ตื่นตระหนกเกินความจำเป็น ในช่วงที่คะแนน PISA 2018 ของทุกประเทศ กำลังจะถูกตีแผ่ในเดือนธันวาคม 2019 นี้