มาตรการกระตุ้นศก.ของรัฐ ช่วยเอสเอ็มอีได้น้อยมาก

มาตรการกระตุ้นศก.ของรัฐ ช่วยเอสเอ็มอีได้น้อยมาก

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือน ก็จะสิ้นไตรมาสสุดท้ายของการดำเนินธุรกิจของท่านผู้ประกอบการในปี 2562 แล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 จากร้อยละ 3.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 โดยประเมินจากเครื่องชี้วัดที่สำคัญ เช่น การบริโภคภาคเอกชน การบริโภคของรัฐบาล การลงทุนเอกชน การลงทุนภาครัฐ การส่งออกและการนำเข้า เครื่องชี้วัดทุกตัวมีค่าลดลงจากกรอบประมาณการ ณ เดือนต.ค. 2562 เทียบกับตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ณ เดือนมิ.ย. 2562 สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ของธนาคารโลกปี 2562 ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.5 

การปรับประมาณการดังกล่าว มาจากหลายปัจจัยสำคัญที่ผมได้นำเสนอมาแล้ว เช่น การส่งออกที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในรอบทศวรรษ ตามด้วยปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำส่งผลเหนี่ยวรั้งการลงทุนภาครัฐ

ปัจจัยความเสี่ยงที่ยังมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยยะสำคัญคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยอ่อนแรง และการแข็งค่าของเงินบาทไทย โดยเงินบาทขยับแข็งค่าทดสอบแนว 30.30 บาทต่อดอลล่าร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปี แข็งค่าขึ้นแล้วในปีนี้ประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เป็นการแข็งค่าขึ้นในลักษณะที่เป็นการสวนทางเงินสกุลเอเชียอื่น ๆ

จากการที่ตลาดประเมินว่าเงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัยในยามที่ต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยง !

ทั้งจากสงครามการค้าและจากกรณี Brexit การแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ไทยเสียเปรียบเรื่องความสามารถในการแข่งขันของของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน เคยมีเอกภาพในการดำเนินการได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเกือบ 5 ปี ใช้งบประมาณในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุด เป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นหนี้ NPL สูงสุดของสถาบันการเงิน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่มาจากหลายพรรคการเมืองออกมาในเดือนส.ค. 2562 มุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็ก-ขนาดกลางและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยโดยผ่านการโอนเงินให้โดยตรง ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การคืนเงินภาษีจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การขยายยกเว้นค่าวีซ่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนด เชื่อกันว่าคงจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ไม่มาก การขยายมาตรการที่มุ่งเป้าไปที่ภาคเกษตร เช่น การประกันรายได้ การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และการปรับระดับผลิตภาพการผลิตในภาคธุรกิจการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ก็เป็นมาตรการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษกิจระยะปานกลางเท่านั้น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดคือมาตรการ “ชิมช้อบใช้ เฟสที่ 1 ผ่านพ้นไปแล้ว มีการประเมินกันว่า กระตุ้น จีดีพี ได้เพียง 0.03 % เท่านั้น เมื่อพิจารณาระดับหนี้ของประเทศที่อยู่ในระดับที่สูง จะทำให้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้นโยบายทางการเงินและการคลังมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น

ผู้ประกอบการ SMEs ที่เจ๊งในเดือนส.ค. 2562 สูงขึ้น 10% เป็นเครื่องชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการการต่าง ๆ มีผลความอยู่รอดของ SMEs น้อยมาก และจากรายงานของบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด รายงานครึ่งปีหลังของปี 2562 ได้มีการทบทวนอันดับเครดิต บจ หลายแห่ง ได้ปรับลดอันดับเครดิต 6 บริษัท และพบว่า 43 บริษัทมีหนี้สินต่อทุน ทะลุ 3 เท่า จากปีก่อนที่มีเพียง 30 บริษัท 23 บริษัทมีหนี้สูง สภาพคล่องต่ำ มีผลประกอบกอบการขาดทุน

ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน คู่ค้า และผู้ประกอบการ SMEs คงต้องหันหน้ามาคุยกันอย่างจริงจังแล้วครับ ว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษกิจมีผลต่อการอยู่รอดของ SMEs ที่กำลังลำบากมาก เหลือเวลาน้อยแล้ว...