จัดทัพรับตลาดหุ้นผันผวน

จัดทัพรับตลาดหุ้นผันผวน

ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ SET Index เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน  

สำหรับประเด็นสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกานั้น ได้ยืดเยื้อมากว่า 1 ปีแล้ว หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2018 โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มขั้นต้นและขั้นกลาง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินค้าเกษตร เป็นต้น ปัจจุบัน สินค้านำเข้าจากจีนวงเงินกว่า 3.6 แสนล้านเหรียญได้ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราตั้งแต่ 10% - 25% ในฝั่งของจีนเอง มีการตอบโต้โดยขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน รวมวงเงินประมาณ 1.1 แสนล้านเหรียญ ในอัตราภาษี 5 - 25% โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู และถั่วเหลือง เป็นต้น และในการเจรจารอบล่าสุด สหรัฐฯ มีการระงับการขึ้นภาษีจาก 25% เป็น 30% วงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญ จากกำหนดการเดิมในวันที่ 15 ตุลาคม 2019 ขณะที่จีนตกลงซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ในวงเงิน 4-5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นสัญญาณของพัฒนาการในทางบวก ทว่า นักลงทุนไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากสำหรับการขึ้นภาษีทั้ง 3 รอบก่อนนั้น ก่อนการขึ้นภาษีแต่ละครั้ง นายทรัมป์มักจะมีการขู่เตรียมขึ้นภาษี หลังจากนั้นจะมีการนัดเจรจากันกับฝ่ายจีน มีการให้ข้อลดหย่อนบางส่วน ก่อนจะเริ่มบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ในระยะเวลาต่อมา ตลาดหุ้นจึงมีความเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน เนื่องจากมีข่าวดีข่าวร้ายมากระทบเป็นรายวัน โดยเฉพาะจากทวิตเตอร์ของนายทรัมป์นั่นเอง

เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีขนาดใหญ่ ทำให้การขึ้นกำแพงภาษีของทั้งสอง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากตัวเลขล่าสุดของทาง IMF ได้มีการปรับลดประมาณจีดีพีของโลกในปีนี้จาก 3.2% เหลือ 3.0% และจีดีพีของไทยเองก็มีการเติบโตลดลง เหลือ 2.3% ในไตรมาสที่ 2 และคาดว่าทั้งปีอาจเติบโตต่ำกว่า 3% โดยผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำไรในไตรมาส 2 ลดลงกว่า 17% เมื่อเทียบกับในไตรมาส 2 ของปี 2018 และแนวโน้มของกำไรในไตรมาส 3 ก็มีแนวโน้มเพียงทรงตัว มีเพียงกลุ่มท่องเที่ยวที่อาจเห็นการฟื้นตัวของกำไร จากสาเหตุของฐานกำไรต่ำในปีที่แล้ว

เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจึงมีการดำเนินนโยบายทางการเงิน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% - 2.00% ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.10% เหลือ 0.50% รวมถึงจะมีการซื้อคืนพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป สำหรับในประเทศไทยเอง ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน จาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.5% นักวิเคราะห์มีการคาดการณ์กันว่าเฟด น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอย่างน้อย 1 ครั้งในปีหน้า ส่วนในไทยนั้น คาดว่ากนง.อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี

 ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน นักลงทุนควรลงทุนหุ้นที่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่ำ มีพัฒนาการของผลประกอบการในเชิงบวก มีอัตราผลตอบแทนดี และมีราคาที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่า “YARP: Yield at Reasonable Price” ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เริ่มเห็นการแข่งขันด้านราคาและโปรโมชั่นดึงลูกค้าลดน้อยลง อัตราค่าบริการรายเดือนต่อเลขหมายเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และการที่เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่ ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราส่วนการทำกำไรที่สูงขึ้น นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มนี้มักมีการจ่ายเงินปันผลดี และคิดเป็นอัตราผลตอบแทนปันผลที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย หุ้นในอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (REITS and Infra Fund) เนื่องจากในการรับรายได้ค่าเช่าที่ค่อนข้างแน่นอน บางแห่งมีสัญญาระยะยาวรองรับ มีความผันผวนต่ำ และยังมีอัตราเงินปันผลที่น่าพอใจ ส่วนหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้านั้น แม้จะมีรายได้ที่แน่นอน และไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยราคาที่ปรับขึ้นมาแล้วค่อนข้างมาก ทำให้หากคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล จะอยู่ในระดับเพียง 1% ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลงไปครับ