ประกันรายได้พื้นฐานแบบถ้วนหน้า อาจไม่ใช่คำตอบ

ประกันรายได้พื้นฐานแบบถ้วนหน้า อาจไม่ใช่คำตอบ

มีบางประเทศกำลังทดลองระบบสวัสดิการแบบให้ทุกคนถ้วนหน้าในเรื่องต่างๆ แล้วศึกษาว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้สังคมดีขึ้นหรือไม่

อาทิที่ประเทศหนึ่งในแถบแสกนดิเนเวีย (ไม่แน่ใจว่าเป็นสวีเดนหรือเปล่า) ได้ทดลองแจกเงินให้คนว่างงงานทุกคนประมาณคนละ 500 ยูโร แล้วติดตามผลการทดลองว่าการแจกเงินแบบถ้วนหน้า โดยไม่ต้องทำงานจะช่วยกระตุ้นให้คนว่างงานเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ ผ่านมา 2 ปี (การทดลองใช้เวลา 3 ปี) พบว่า ไม่สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ หรือพูดง่ายๆก็คือไม่ได้ทำให้คนว่างงานอยากทำงานเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

World Economic Forum ได้ทำรายงานเรื่องนี้ เพราะในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยหน้า มีผู้สมัครบางคนจากพรรคเดโมแครตเสนอให้แจกเงินทุกคนแบบถ้วนหน้า ไม่มีข้อยกเว้น คนจนคนรวยได้เท่ากันหมด โดยสูงสุดเป็นเงินถึง 1,000 เหรียญ เป็นประจำทุกเดือน สำหรับประชาชน 350 ล้านคน คิดเป็นเงินปีละหลายล้านล้านเหรียญ แน่นอนว่าเป็นเรื่องการหาเสียง แต่ก็ต้องพิสูจน์กันว่าการแจกเงินแบบถ้วนหน้านั้นจะเป็นผลดีหรือผลเสีย สร้างการรับรู้เห็นชอบแค่ไหน

ที่สวิทเซอร์แลนด์ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้ทำประชาพิจารณ์ว่า ถ้าแจกเงินให้ทุกคนเดือนละ 500 ยูโร ประชาชนคิดว่าอย่างไร ปรากฎว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ ทำให้โครงการหลักประกันรายได้แบบถ้วนหน้าตกไป ส่วนใหญ่จึงพบว่า เรื่องการให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้านี้ ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมากๆ ประชาชนไม่ยอมรับ และไม่เห็นด้วย

แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่เหมือนประเทศพัฒนาแล้วที่มีความมั่งคงมีเงินเหลือเกินความต้องการ ประชาชนได้รับสวัสดิการแบบไม่ต้องควักกระเป๋าไม่ว่าเรื่องการศึกษา สุขภาพ การใช้บริการขนส่งมวลชน แต่ก็ต้องแลกมากับภาษีเงินได้ที่ประชาชนทุกคนที่มีเงินได้ต้องจ่ายให้กับรัฐบาล 30-40% ไม่ใช่เก็บภาษีต่ำๆแค่ไม่ถึง 10% และมีคนเสียภาษีจริงๆไม่ถึง 5% แบบบ้านเรา

ประเทศกำลังพัฒนาแบบบ้านเรา ประชาชนมีรายได้น้อย รัฐเก็บภาษีได้ไม่มาก ในขณะที่มีรายจ่ายคงที่มหาศาลจากการให้การศึกษาฟรีถ้วนหน้า ให้หลักประกันสุขภาพฟรีถ้วนหน้า ให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยฟรีเกือบทุกอย่าง เช่นนี้ ในที่สุดรายจ่ายก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่รายได้ของรัฐไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และเมื่อรายจ่ายมากกว่ารายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดสินทรัพย์ก็จะหมด และประเทศก็คงตกอยู่ในภาวะล้มละลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อแตกต่างนี้ทำให้รัฐบาลไทยต้องคิดให้ดี และต้องหาทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานะภาพและระดับการพัฒนาของประเทศ

ทางเลือกนั้นมีมากมาย ไม่ว่าการให้สวัสดิการถ้วนหน้าในกลุ่มเป้าหมาย (Universal -Targeting Coverage) การให้มีการร่วมจ่าย (Co-payment) หรือการจัดลำดับการมีส่วนร่วมแบบขั้นบันได เช่นนี้เป็นต้น

ประเทศญี่ปุ่นเคยใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็เกิดปัญหาเหมือนที่เกิดที่บ้านเราในขณะนี้ ในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นระบบร่วมจ่าย และมีการควบคุมค่าบริการอย่างเข้มงวด ที่ฝรั่งเศสก็ดี เยอรมันก็ดี เป็นระบบร่วมจ่าย 20-30% โดยทั้งผู้รับบริการและองค์กรต่างๆเข้ามาร่วมสนับสนุน ซึ่งทำให้เป็นประเทศแนวหน้าที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก

จะมีก็แต่ประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถให้สวัสดิการฟรีถ้วนหน้า โดยไม่เก็บภาษีสูงๆ หรือประเทศพัฒนาแล้วเล็กๆในแถบแสกนดิเนเวียที่เก็บภาษีสูงมาก 30-40% อย่างนี้ ก็สามารถให้สวัสดิการฟรีแบบถ้วนหน้าได้ แต่ไม่ใช่ประเทศไทยแน่นอน