สื่อไทยต้องช่วยลดความรุนแรง:วันละความรุนแรงสากล

สื่อไทยต้องช่วยลดความรุนแรง:วันละความรุนแรงสากล

2 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันละความรุนแรงสากล (The International Day of Non-Violence Day)

 เป็นโอกาสให้สำรวจตัวเองและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดที่ยังแอบแฝงความรุนแรงอยู่ในการเสนอข่าวสาร เช่น ภาษา รูปภาพ วิธีเขียน ทัศนคติ ฯลฯ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้

สื่อมีหน้าที่สำคัญในการช่วยลดความรุนแรงในมิติต่างๆ ซึ่งในด้านเสนอรูปภาพ สื่อไทยพัฒนาขึ้นมากจากเมื่อ 2 - 3 ทศวรรษก่อน การเสนอภาพผู้ประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตจากเหตุใดก็ดี ผู้เสียหายจากคดีทางเพศก็ดีโดยเฉพาะเด็ก ฯลฯ แสดงเจตนารมณ์ละความรุนแรงในลักษณะประจานหรือเพื่อประโยชน์ค้ากำไรอย่างไร้การเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อย่างที่เคยทำมาก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี ด้วย ‘การหาข่าว’ และการนำเสนอขณะนี้ของสื่อมวลชนจำนวนมากมากคือการลอกหรืออ่านสดข้อความชนิดตัวอักษรต่อตัวอักษรที่ปุถุชนธรรมดา“โพสต์”ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้โพสต์จะมีเจตนาให้สื่อมวลชนนำไปขยายผลหรือไม่ก็ตามหากสื่อมวลชนเห็นควรนำมาเสนอ จะต้องทำหน้าที่กลั่นกรองและเซ็นเซอร์ได้ในสื่อของตน เพราะนั่นคืออาณาบริเวณพื้นที่ในความรับผิดชอบ จะต้องไม่ ลอกและอ่านทุกตัวอักษรอย่างไร้วิจารณญาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแหล่งต้อตอข่าวสารใช้ความรุนแรงในถ้อยคำภาษาและเนื้อหาที่ผิดขนบสังคมเราอย่างยิ่ง โดยสื่อสามารถบอกแหล่งต้นตอของข่าวสารได้ ใครอยากรู้ไปหาอ่านเอง

ตัวอย่างเช่นในการโพสต์ข้อความตำหนิผู้หนึ่งในโซเชียลมีเดียเมื่อไม่กี่วันมานี้ นอกจากเต็มไปด้วยคำผรุสวาท มีการกระทบกระเทียบถึงบุพการี  หรือใช้ “hate speech” ซึ่งหลังการเลือกตั้งมี.ค. เป็นต้นมา มีปรากฏบ่อยมาก มีการใช้ภาษาพาดพิงไปถึงเชื้อชาติ เช่น เจ๊ก ตี๋ ฮ่องเต้ซินโดรมฯ การตั้งข้อหา "ไม่รักชาติ“ ”ไม่รักสถาบัน"

ไม่เพียงในโซเชียลมีเดีย สื่อมวลชนบางแห่งเป็นตัวตั้งตัวตีเสียเอง ไม่มีใครปฏิเสธว่าหน้าที่การเสนอข่าวสารต่างๆ ของสื่อเมื่อมีหลักฐานสามารถวิเคราะห์สามารถชี้แนะชี้นำได้อย่างมีหลักการ โดยต้องไม่เป็นการปลุกปั่นอคติหรือสาเหตุเฉพาะตนใดๆ เช่น เพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา กำเนิด ความพิการ เป็นต้น ส่วนการตั้งข้อหาใดๆ อย่างเป็นสาธารณะเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม

2 ต.ค. วันแห่งการละความรุนแรงสากลปีนี้ เป็นวาระครบ 150 ปีชาตกาลของ มหาตมะ คานธี ริเริ่มโดย ชิริน เอบาดี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2546 ก่อนหน้าที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 2 ต.ค. เป็นวันละความรุนแรงสากลเมื่อ 15 มิ.ย.2547 เมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา อินเดียเฉลิมฉลองมหาบุรุษของประเทศและของชาวโลกเป็นพิเศษกว่าปีอื่น ๆ

โมฮันดัส คารามจัน คานธีเป็นชื่อจริงของคานธี Mahatama มหาตมะ เป็นสมญานาม หมายความว่าจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ (The Great Soul)

มีการศึกษาวิจัยที่เห็นว่า คานธีเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้วย สื่อสำคัญของคานธีที่ใช้เผยแพร่อุดมคติและแนวคิดในการไม่ใช้ความรุนแรง ตลอดจนร้องขอผู้อ่านให้ใช้วิจารณญาณรวบรวมจัดตั้งและวางแผนงานเพื่อกอบกู้เอกราชของอินเดีย คือ สิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาอังกฤษ ชื่อYoung Indiaที่ ตีพิมพ์ช่วง 2462- 2474 ข้อความจำนวนมากที่คานธีเขียนในสื่อนี้ ได้กลายมาเป็นข้อความอมตะสร้างแรงบันดาลใจแก่ชาวโลก รวมทั้ง ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และ เนลสัน แมนเดอลา

เกี่ยวกับการรักชาติการเป็นชาตินิยม คานธี เขียนใน Young India ว่า "เป็นไปไม่ได้ที่จะมีนักสากลนิยมโดยที่จะไม่เป็นผู้นิยมชาติ ความเป็นสากลนิยมจะมีได้ก็ต่อเมื่อชาตินิยมเป็นความจริงเรื่องจริง เช่น ประชาชนของประเทศต่างๆ สามารถรวมตัวกันและกระทำการใดได้เสมือนเป็นคนเดียวกัน( It is impossible for one to be internationalist without being a nationalist. Internationalism is possible only when nationalism becomes a fact, i.e., when peoples belonging to different countries have organized themselves and are able to act as one man.")

สิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ของคานธีมีอีกสี่หัว ใช้ภาษาอังกฤษหัวหนึ่งและที่เหลือใช้ภาษาฮินดี เน้นปัญหาสังคมเศรษฐกิจของอินเดียและของโลก

ชิริน อีบาดี (Shirin Ebadi) อายุ 72 ปี เป็นสตรีผู้พิพากษาคนแรกของอิหร่าน หลังการปฏิวัติอิสลาม พ.ศ.2522 ถูกลดบทบาทให้ทำงานเสมียนศาล จึงรวมตัวกับเพื่อนร่วมงานเรียกร้องจนในที่สุดมีการจัดตั้งกลุ่มสตรีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายขึ้นในกระทรวงยุติธรรม โดยมีเธอเป็นประธาน แต่ไม่นานนักเธอลาออกจากราชการและเริ่มหันมาทำงานให้คำปรึกษากฎหมายเพื่อสาธารณชน เริ่มเขียนหนังสือและบทความในวารสารวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิว่าความกระทั่ง ได้รับใบอนุญาตว่าความและจัดตั้งสำนักงานกฎหมาย ปี 2535 พร้อมกับรับว่าความคดีเกี่ยวข้องกับเด็ก สตรี และสิทธิมนุษยชน จากนั้นเธอทำงานไม่หยุดยั้งแม้ถูกข่มขู่และในสถานการณ์ยากลำบาก

ปี 2548 ชิริน เอบาดี มาปาฐกถาที่หอประชุมจุฬาฯ เรื่อง พหุนิยมทางวัฒนธรรมและประชาธิปไตย ในรายการชุดปาฐกถา โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ชื่อThe Bridges จัดโดย The International Peace Foundation ผู้เขียนได้ไปฟังเธอด้วย ช่างเป็นสุภาพสตรีที่เป็นทั้งนักต่อสู้ในสนามและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนในตัวคนเดียวกันอย่างแท้จริง มีกิริยาและใช้ถ้อยคำสุภาพนุ่มนวล เช่นเดียวกับสตรีนักสิทธิมนุษยชนของไทย อังคณา นีละไพจิตร 1 ใน 4 ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซปีนี้