มาเลเซียทำได้ ไทยก็น่าจะทำได้

มาเลเซียทำได้ ไทยก็น่าจะทำได้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ท่านมหาเธร์ มูฮัมหมัด ในปัจจุบันมีอายุกว่า 90 ปีแล้ว

แต่ก็ยังมีความเฉลียวฉลาด สามารถตัดสินใจในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศของตนได้อย่างน่าชื่นชม

เราคงจำกันได้ว่า ในปี 2540 ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลไทยในยุคนั้นตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ในขณะที่เงินทุนไหลออกนอกประเทศอย่างมากมาย จึงมีผลทำให้ค่าเงินบาทลดลงอย่างรวดเร็ว และนำมาซึ่งการล้มละลายของธุรกิจจำนวนมากที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศ สร้างความยากลำบากให้กับคนไทยเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งกลายเป็นโรคติดต่อลุกลามข้ามไปถึงหลายประเทศในภูมิภาครวมทั้งมาเลเซีย

นายกฯ มาเลเซียขณะนั้นก็คือคนเดียวกันกับคนปัจจุบัน ท่านมหาเธร์ตัดสินใจป้องกันปัญหาเงินทุนไหลออกที่มีผลกระทบจากวิกฤติของไทย ด้วยวิธีการที่แหวกแนวจากความเชื่อและข้อเสนอแนะของไอเอ็มเอฟ คือท่านออกกฎห้ามนำเงินทุนออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว โดยไม่ยอมลดหรือลอยตัวค่าเงินริงกิตปรากฏว่า มาตรการดังกล่าวได้ผลดีทำให้มาเลเซียรอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้งได้โดยไม่ต้องสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศ และธุรกิจก็ไม่ล้มละลายจากการลดค่าเงิน นับได้ว่ามาเลเซียแก้ปัญหาวิกฤติการเงินได้ดีกว่าไทยเพราะความเฉลียวฉลาดของผู้นำ

ในปัจจุบันท่านมหาเธร์กลับมาเป็นนายกฯ อีกเป็นรอบที่สอง และได้ขอชะลอโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลก่อนหน้าตกลงกับรัฐบาลจีนไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่าโครงการนี้ใช้เงินมากจะทำให้ฐานะการเงินของรัฐบาลมีปัญหา

ฝ่ายจีนก็คงอยากจะขายของและเห็นความสำคัญของโครงการซึ่งจะเชื่อมท่าเรือฝั่งตะวันตกเข้ากับท่าเรือฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย จึงยอมเจรจาและในที่สุดก็ตกลงลดราคาค่าก่อสร้างให้

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทน 2 ประเทศเพิ่งลงนามโดยรัฐบาลจีนจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าเรือกลังกับเมืองโกตาบารู ระยะทาง 640 กิโลเมตร(กม.) ที่ราคา 44,000 ล้านริงกิต หรือ 330,000 ล้านบาท (คือลดลงจากเดิม 65,500 ล้านริงกิต หรือ 492,000 ล้านบาท) คิดเป็นกิโลเมตรละ 69 ล้านริงกิต หรือ 516 ล้านบาท สรุปแล้วจีนใจดีลดราคาถึง 33%

ไทยก็มีข้อตกลงกับจีนในการร่วมมือลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพกับหนองคาย โดยในช่วงแรกจะก่อสร้างเฉพาะช่วงบางซื่อ-โคราช ระยะทาง 253 กม. และได้เริ่มลงมือก่อสร้างช่วงแรกที่ ต.กลางดง อ.ปากช่อง เมื่อปลายปี 2560 ไทยตกลงใช้เทคโนโลยีและซื้อของส่วนใหญ่จากจีน โดยจ่ายค่าลงทุนเกือบ 180,000 ล้านบาท หรือประมาณ 712 ล้านบาทต่อ กม.

ประเมินกันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงสายบางซื่อ-โคราช จะขาดทุนรวมกันคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเกือบ 300,000 ล้านบาท ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำและอาจไม่คุ้มค่า ในกรณีที่จำนวนผู้โดยสารค่อนข้างต่ำ (ดูบทความที่ผมเคยเขียนไว้ในโพสทูเดย์ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2561)

โปรดสังเกตความแตกต่างในต้นทุนต่อ 1 กม. จีนลดให้เหลือ 516 ล้านบาทต่อกม. สำหรับโครงการในมาเลเซีย แต่จีนคิดราคา 712 ล้านบาทต่อกม. ในโครงการของไทย ต่างกันถึง กม.ละเกือบ 200 ล้านบาทหรือประมาณ 30% ......ไม่น้อยเลยนะครับ

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมชื่นชมท่านมหาเธร์ว่ามีชั้นเชิงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เฉลียวฉลาด ที่พูดเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นำของไทยจะโง่นะครับ เพียงแต่เราอาจจะฉลาดน้อยกว่าเขา และไม่มีชั้นเชิงในการเจรจาต่อรองกับจีน โดยอาจจะมีความเกรงอกเกรงใจจีนมากเกินไปก็ได้

คราวนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลใหม่ไทยจะขอให้รัฐบาลจีนทบทวนราคาค่าก่อสร้างฯ สายบางซื่อ-โคราชเสียใหม่ ให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงไปกว่าที่จีนคิดกับโครงการลักษณะเดียวกันในมาเลเซีย

ณ ราคาต่อกม.เดียวกันกับโครงการในมาเลเซีย โครงการฯ บางซื่อ-โคราชจะมีต้นทุนลดลงเหลือประมาณ 130,000 ล้านบาท ลดลงจากในปัจจุบันประมาณ 37.5% คือลดลงเป็นเงินเกือบ 50,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้ภาระการเงินของรัฐบาลไทยลดลงไปได้มาก และอาจทำให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการกลายเป็นบวกได้

ผมคิดว่าเรามีมูลเหตุที่จะไปขอเจรจาต่อรองราคาใหม่กับจีน เพราะไม่มีเหตุผลอันใดที่จะอธิบายได้ว่าราคาค่าก่อสร้างในไทยจะสูงกว่าในมาเลเซียมากถึงขนาดนี้ ประเทศที่เป็นมิตรและมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นไม่ควรจะขายของให้เพื่อนในราคาที่แพงเกินไป อย่าลืมว่าไทยกับจีนก็ไม่ใช่อื่นไกล มีสายสัมพันธ์เป็นพี่น้องกันอยู่บ้าง ผู้นำทางเศรษฐกิจของไทยเอง (ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน) ก็มีเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าคนไทยกับคนจีนเป็น “กากี่นั้ง” กันก็ว่าได้

เอาเลยครับ แสดงฝีมือเลยครับ ท่านผู้บริหารด้านเศรษฐกิจของไทย อย่ามัวแต่แสดงโวหารในรัฐสภา ท่านมีโอกาสอันดีแล้วที่จะช่วยให้ประเทศประหยัดเงินไปได้หลายหมื่นล้านบาท และเราก็จะได้ไม่ต้องรู้สึกน้อยหน้าท่านมหาเธร์อีกต่อไป

โดย... พรายพล คุ้มทรัพย์