“การถ่อมตน” คือหัวใจของความสัมพันธ์

“การถ่อมตน” คือหัวใจของความสัมพันธ์

สังคมไทยปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาดีและเป็นคนเก่งอยู่เป็นจำนวนมากขึ้นทุกที คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นคนที่น่ารักและน่าชื่นชม

แต่มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่คนไม่ชอบซึ่งจะทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ยาก น่าเสียดายที่เขาไม่รู้ว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย และการเป็นคนถ่อมตนคือหัวใจของความสัมพันธ์ที่ดี

ผู้เขียนชอบข้อความจากอินเตอร์เน็ตที่บอกว่า “เก่งแบบไหน ที่คนไม่เกลียด (Speaking.co.th อ.ณัฎฐ์กานต์ ธรรมสุนทร) ซึ่งได้แก่ (1) รู้จักรับฟังความเห็นของผู้อื่น (2) รู้จักขอบคุณอย่างจริงใจ (3) รู้จักขอโทษเวลาผิด (4) ไม่ยกตนข่มท่าน หรือดูถูกใคร (5) มีความอ่อนน้อมถ่อมตน (6) ยอมรับว่าบางเรื่องตนก็ไม่รู้ (7) ไม่ทำตนเป็นน้ำเต็มแก้ว (8) ให้เกียรติผู้อื่นเสมอ (9) มีอัธยาศัยดี และรักการแบ่งปัน

เมื่อพิจารณาทั้ง 9 ข้อแล้วจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นทั้งสิ้น ต่อให้เก่งลงมาจากสวรรค์ ถ้าไม่ปฏิบัติข้อแนะนำเหล่านี้แล้ว ยากนักหนาที่จะไปถึงดวงดาวได้ในสังคมไทย

เกือบทั้ง 9 ข้อข้างต้นโยงใยกับการเป็นคนถ่อมตน ผู้เขียนได้พบหนังสือเก่าเล่มหนึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2443 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว มีชื่อว่า ธรรมจริยา เขียนโดย หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ นายตรวจฝ่ายศึกษาธิการ กรมศึกษาธิการ เป็นหนังสืออ่านสำหรับกุลบุตรหญิงชายทั่วไป ขอนำมาให้อ่านโดยปรับใช้ตัวสะกดสมัยใหม่เพียงเล็กน้อย เนื้อหายังคงทันสมัยด้วยภาษาที่ทรงพลังจนเห็นได้ชัดว่าข้อแนะนำเรื่องการถ่อมตัวนั้นเป็นอกาลิโก บทที่ 5 ชื่อ “กิจของมนุษย์ที่จะต้องกระทำสำหรับตนเอง ความถ่อมกาย หรือความรู้จักประมาณกาย” มีข้อความดังต่อไปนี้

“ยก ตน ข่ม ท่าน” เป็นสุภาษิตโบราณ ชาวเราก็ย่อมทราบและใช้ปราศรัยกันอยู่เสมอมิได้ขาดจนฤทธิ์อำนาจของคำเหล่านี้จะเสื่อมสูญไปเสียสิ้นแล้วด้วยความชิน

มนุษย์เรามักดูผู้อื่นด้วยตาหน้า แต่ดูตนเองด้วยตาหลัง ความผิดของผู้อื่นเห็นปรากฏแก่ตาได้ง่าย แต่ความผิดของตนนั้นเห็นได้โดยยาก เมื่อเป็นดังนี้แล้วจึงทำให้สำคัญตนว่าไม่ผิดเท่าผู้อื่น จึงทนงตนว่าตนดีกว่าท่าน แลจึงยกตนขึ้นข่มท่าน บางคนยังหาได้เห็นความผิดของท่านไม่ แต่เพียงเห็นทานเผินๆ ความทนงในตัวก็พาให้ยกตนประมาณตนจนเลยค่าของตนเสียแล้ว

โลกนิติสุภาษิตไทยนั้นมีว่า

โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา

ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น

โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง

ป้องปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหาญสูญ

ความโอ่อวดเป็นสิ่งที่จะพาให้ตนต่ำเพราะเมื่อบุคคลอวดตน หรือกล่าวถึงแต่ตนมากเกินไปที่จะทำให้ปรากฏแก่ผู้อื่นว่าตนนิยมตนเป็นพ้นแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเป็นเครื่อง (ขบ) ขันสำหรับผู้อื่นแย้มสรวลเล่น ชาวเราควรจะกระทำตน แลกระทำกิริยากายให้สุภาพอ่อนน้อมไม่กระด้างกระเดื่อง แลประมาณค่าของตนแต่น้อย ๆ จงดูเยี่ยงรวงเข้า “รวงที่มีเมล็ดลั่งแลเต็มที่สุดย่อมห้อยต่ำลงมาใกล้พื้นพสุธาที่สุด”

เมื่อเราได้รับความสรรเสริญจากผู้ใด เราก็ควรรับความสรรเสริฐนั้นด้วยยินดีภายใน นี่แหละคือ ความถ่อมกาย ความถ่อมกายเป็นสง่า เป็นเครื่องเชิดชูความดีให้เด่นขึ้น ประดุจเรือนทองหนุนเพ็ชรให้รุ้งพรายกระจ่าง หรือประดุจลูกไม้ชายครุยอันวิจิตรเป็นเครื่องประดับของผืนผ้าที่อย่างดี

คนโฉดเขลามักกอบด้วยความโอ่อวด จะรู้วิชานั้นสักนิดวิชานี้สักหน่อย ก็กำเริบเหิมหื่นอวดอ้างตนให้ผู้อื่นเห็นลายต่างๆ แต่คนที่มีความรู้จริงมักถ่อมกาย แลคิดถึงอนาคตมากกว่าอดีต คือ คิดถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เรียนมากกว่าสิ่งที่ได้เรียนมาแล้ว

อันความรู้ในโลกนี้มีมากนัก หาที่สิ้นสุดมิได้ ใครเลยจะทราบว่าวิชาในโลกนี้ยังมีอีกกี่มากน้อย ที่มนุษย์เรายังไม่รู้ และยังไม่ได้เรียน แลใครเลยจะอาจกะได้ว่าสิ่งที่มนุษย์รู้แล้วเป็นเศษหนึ่งส่วนร้อย หรือเศษหนึ่งส่วนแสน หรือส่วนโกฏิ หรือส่วนอสงไขยก็ว่าได้ของวิชาทั้งหมดในโลกย แพทยศาสตร์ของเราบอกสรรพคุณยาแต่เพียงนี้ แต่ก็เราจะทราบได้หรือว่าจะยังมีสรรพคุณยาอะไรอีก ที่เรายังไม่รู้จักที่ยังไม่ได้รวบรวมเข้าไว้ในแพทยศาสตร์ มนุษย์เราได้มีความอุตสาหะค้นคว้าหากำลังของไฟฟ้า ใช้ทำการแทน แรงคนได้ถึงเพียงนี้ (เช่น รถไอ เป็นต้น เดินไปได้โดยกำลังไฟฟ้า) แต่ถึงกระนั้นเรายังเชื่อกันอยู่เสมอว่า ไฟฟ้ายังจะทำการได้มากกว่านี้อีกมาก แลท่านนักปราชญ์ในทางไฟฟ้าก็ยังทดลองสืบเสาะค้นคว้ากันอยู่เสมอมิได้ขาด

เหตุฉะนี้คนที่มีความรู้ยิ่งมากขึ้นไป จึงยิ่งมีความรู้สึกว่าคงมีสิ่งที่ตนยังไม่รู้มากขึ้น จึงมีความเจียมตนแลถ่อมตน

สุภาษิตอังกฤษกล่าวไว้ว่า ความรู้ยิ่งมาก ยิ่งสอนให้มนุษย์รู้สึกว่าความรู้ของตนยิ่งน้อยลง

ฉันใดก็ดีคนที่มีความรู้เช่นเป็ด (คือรู้สิ่งนั้นนิดสิ่งนี้หน่อย) จึงกอบไปด้วยความเหิมหื่นกำเริบทนงกาย เหตุฉะนี้ชาวเราทั้งหญิงแลชาย ผู้ที่ยังมีอายุอยู่ในระหว่างเล่าเรียน จึงควรระวังให้จงหนักที่จะให้มีใจถ่อมลงเท่าส่วนกับที่มีวิชาสูงขึ้น ถ้ามิฉะนั้นน้ำหนักก็จะเอียงไปข้างหนึ่ง จะเป็นดังคำที่เขาว่ากันว่า หย่อนบาทหรือเลยบาท แลจะเป็นโอกาสให้ผู้อื่นเสสรวลเล่น

บางคนมักนิยมในการส่อลวงผู้อื่นที่ตนเชื่อว่าจะไม่รู้เท่าทันด้วยวาจาเท็จต่าง ๆ เพื่อให้เขานับถือตน นี่เป็นความโฉดแท้ เพราะต่อไปภายหน้าเขาคงจะจับปดได้สักครั้งหนึ่ง แล้วตนจะได้รับความละอายแลจะเสียดายวาจาที่ได้ลั่นออกไปเป็นเท็จดังนั้น ส่วนเขาก็จะขาดความเชื่อในตน แลจะไม่นับถือตนยิ่งเสียกว่าถ้าตนจะพูดแต่โดยจริงแลสารภาพ

ความจริงย่อมเป็นความจริงเสมอ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดดังเช่นในเรื่องของการถ่อมตน การเหนือกว่าเพื่อนมนุษย์อื่นๆ ไม่ใช่สิ่งที่สูงส่งแต่อย่างใด ความสูงส่งที่แท้จริงคือการเหนือกว่าตัวตนเองในอดีต (Ernest Hemingway)