ปัญหาบริษัทร้าง ตามกฎหมายเก่าและที่บัญญัติใหม่

ปัญหาบริษัทร้าง ตามกฎหมายเก่าและที่บัญญัติใหม่

การถอนทะเบียนบริษัทร้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) มาตรา 1246 บริษัทจำกัด อาจถูกเพิกถอนทะเบียนบริษัทร้างได้

หากปรากฏต่อนายทะเบียนว่าไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว โดยตามระเบียบปฏิบัตินายทะเบียน พิจารณาจากการที่ไม่ได้ส่งงบการเงินติดต่อกัน3 ปี นายทะเบียนจะดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1246(1 ) (2) (3) และเมื่อไม่ปรากฏเท็จจริงเป็นอื่นว่าบริษัทยังประกอบกิจการอยู่ ถือได้ว่าเป็นบริษัทร้างนายทะเบียนจะเพิกถอนชื่อบริษัทนั้น ออกจากทะเบียนและเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว บริษัทนั้นเป็นอันเลิกกัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กฎหมายถือว่าบริษัทยังคงมีอยู่ เพื่อการชำระบัญชี

ถึงแม้จะถูกเพิกถอนทะเบียนบริษัทร้างแล้ว บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ ก็ยังสามารถร้องขอต่อศาลให้ฟื้นบริษัทกลับเข้าสู่ทะเบียน เพื่อดำเนินการที่ยังค้างอยู่หรือให้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนได้

การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทร้างตามกฎหมายใหม่

ในปี พ.ศ.2551 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท โดยยกเลิกมาตรา 1246 และเพิ่มหมวด 6 การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้าง มาตราที่เพิ่มขึ้นในหมวดนี้ คือมาตรา1273/1 มาตรา1273/2 มาตรา1273/3 และมาตรา1273/4 เพิ่มเติมให้มีการเพิกถอนทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ไม่ประกอบกิจการงาน ที่เข้าข่ายเป็นห้างร้างด้วย

ข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่

หลักการในการดำเนินการเพิกถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นจำกัดบริษัทจำกัดที่ไม่ประกอบกิจการงานเข้าข่ายเป็นห้างหรือบริษัทร้าง หลักทั่วไปคล้ายกับที่บัญญัติในมาตรา1246เดิม แต่หลักการสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่คือ ตามมาตรา1273/3 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลนับแต่นายทะเบียนขีดชื่อออก แต่ความรับผิดของของหุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนกรรมการ ผู้จัดการและผู้ถือหุ้นยังคงมีอยู่เสมือนห้าง บริษัทนั้นยังไม่สิ้นสภาพนิติบุคคล

ส่วนการร้องขอต่อศาลขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นคืนสู่ทะเบียนนั้น ตามมาตรา 1273/4 วรรค ท้ายได้กำหนดระยะเวลาลักษณะคล้ายอายุความไว้คือ ต้องร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อออดจากทะเบียน ซึ่งตามกฎหมายเดิม ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้

ปัญหา  เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายใหม่มีข้อแตกต่างจากกฎหมายเก่าดังกล่าว จึงมีข้อพิจารณาว่า

ในกรณีที่มีการถอนทะเบียนบริษัทร้างตามกฎหมายเก่า และเมื่อกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว มีปัญหาต้องพิจารณาคือ

1 การดำเนินการร้องขอให้บริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน จะดำเนินการอย่างไร ต้องอยู่ในบังคับของอายุความตามกฎหมายใหม่หรือไม่ อายุความในการยื่นคำร้องขอนับแต่เมื่อใด

2 จะถือว่าบริษัทที่ถูกเพิกถอนทะเบียนร้าง สิ้นสภาพนิติบุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายใหม่หรือไม่ หากสิ้นสภาพนิติบุคคล ถือว่าสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อใด

บรรทัดฐานตามคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่4883/25601 วินิจฉัยว่าในกรณีที่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัท ซ. ออกจากทะเบียน ป.พ.พ.มาตรา 1246 (เดิม) แต่บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยมีการเพิ่มข้อความเป็นหมวด 6 การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดร้าง มาตรา 1273/1 มาตรา 1273/2 มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 ในการร้องขอให้บริษัท กลับคืนสู่ทะเบียนจึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 1273/4 มาใช้บังคับแก่คดี แต่การนับระยะเวลาในการร้องขอให้บริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนภายในสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากจากทะเบียนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1273/4 วรรคสอง สำหรับบริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างไปก่อนแล้วนั้นจะต้องเริ่มนับแต่วันที่บทบัญญัติมาตรานี้มีผลใช้บังคับ ไม่ใช่เริ่มนับนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5506/2561 นายทะเบียนขีดชื่อบริษัท ต. ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2543 แต่ต่อมาบทบัญญัติมาตรา 1246 ถูกยกเลิก และมีการเพิ่มความเป็นหมวด 6การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้าง หุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดห้างนำมาใช้บังคับแทนตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.(ฉบับที่ 18) ปี 2551 ซึ่งบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2558 ภายหลังบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจึงต้องนำมาตรา 1273/4 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ซึ่งตามมาตรา 1273/4วรรคสอง บัญญัติว่า การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน แต่ตามมาตรา 1273/4 วรรคสองดังกล่าว กรณีใช้บังคับกับบริษัทที่ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้างตามบทบัญญัติมาตรา 1246 เดิม จะต้องเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่บทบัญญัติมาตรา 1273/6 มีผลใช้บังคับ มิใช่นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อตามมาตรา 1246 เดิม เพื่อให้เป็นคุณแก่ผู้ที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อนับระยะเวลาด้วยวันเริ่มต้นเช่นนี้จนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2561 จำเลยเป็น บริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (เดิม) ซึ่งขณะนั้น บทบัญญัติตามมาตรา1273/3 ที่ให้บริษัทร้างที่นายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนสิ้นสภาพนิติบุคคล ยังไม่มีผลใช้บังคับ บริษัทร้างนั้นยังไม่สิ้นสภาพนิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่1810/2559 จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกเสียจากทะเบียนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1273/3 ภายหลังบทบัญญัติ มาตรา 1273/3 มีผลใช้บังคับ ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกเสียจากทะเบียน เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลที่จะให้โจทก์ฟ้องได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเสียก่อนที่จะฟ้อง ตามมาตรา1273 แต่อย่างใดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง