‘อีอีซี สปิริต’ กุญแจความสำเร็จเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

‘อีอีซี สปิริต’ กุญแจความสำเร็จเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

Twitter@nakarin_kt

...กว่า 3 ปีแล้วที่แนวคิดของการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี”ปรากฎสู่การรับรู้ของสาธารณะชน 

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 มิ.ย.2559 เส้นทางระหว่างโตเกียวมุ่งหน้าไปยังสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ขณะขบวนรถของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจกำลังมุ่งหน้าไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และประธานคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนเอกชนของรัฐบาล ก้าวขึ้นมาบนรถเขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่าจะเล่าแนวคิดเรื่องการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดระยะที่2 ให้ฟัง ถือว่าเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนได้ฟังแนวคิดนี้ก่อนที่จะกลายมาเป็นโครงการอีอีซีในเวลาต่อมา

นับตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันโครงการอีอีซีมีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะมีกฎหมาย และ พ.ร.บ. มีหน่วยงานและคณะกรรมการที่รับผิดชอบโดยตรง ลักษณะการทำงานของอีอีซียังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกัน รวมทั้งมีกฎหมาย กฎระเบียบของหน่วยงานตัวเอง ดังนั้นต้องอาศัยการหันหน้าเข้าหากันนั่งลงพูดคุยหารือและแก้ปัญหาเพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้

ล่าสุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่าการลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาทเตรียมที่จะมีการลงนามในสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนผู้ชนะการประมูลในเร็วๆนี้ ระยะเวลาการขับเคลื่อนโครงการใช้เวลาเกือบ 24 เดือนหรือ 2 ปี ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของการทำงานโดยใช้รูปแบบการทำงานแบบอีอีซีที่รัฐบาลตั้งใจให้เป็นตัวอย่างในการปลดล็อกปัญหาและอปุสรรคการทำงานโครงการขนาดใหญ่โครงการอื่นๆต่อไป 

ตัวอย่างล่าสุดก็คือการแก้ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่งเมื่อลงรายละเอียดของการส่งมอบพื้นที่พบว่าจะต้องแก้ปัญหาในการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภคจำนวนมากทั้ง แก้จุดตัดเสาไฟแรงสูง 230 จุด ย้ายอุโมงค์ระบายน้ำ 1 จุด ย้ายท่อน้ำมัน 4 กิโลเมตร ย้ายเสาโทรเลขของ รฟท.กว่า 80 กิโลเมตร ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปานครหลวง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) และ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัดซึ่งไม่ง่ายนักว่าจะแก้ปัญหานี้ได้โดยเร็ว

แต่เมื่อทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาคุยกันว่าภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่สามารถทำอะไรได้บ้างก็ทำให้แผนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคสามารถทำได้และทำให้แผนกำหนดการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กับภาคเอกชนสามารถทำได้ภายในระยะเวลาที่สั้นลงจากเดิม 4 ปี เป็น 2 ปี 3 เดือน 

ลักษณะการทำงานแบบนี้ที่ ดร.คณิศเรียกว่า “อีอีซีสปิริต”

ซึ่งนอกจากแก้ปัญหาในพื้นที่อีอีซียังเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในพื้นที่และโครงการอื่นๆที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจในการทำงานโดยเอาประโยชน์ประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้งมากกว่าที่จะคิดถึงแต่ประโยชน์ของหน่วยงานใดหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น 

...ได้แบบนี้ความสำเร็จจึงเกิดขึ้นเป็นอีอีซีสปิริตที่แท้จริง