ระบบที่ให้เท่ากันแบบถ้วนหน้า ไม่ได้แก้ความเหลื่อมล้ำ

ระบบที่ให้เท่ากันแบบถ้วนหน้า ไม่ได้แก้ความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำ(Inequality) เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ในสังคม ถ้าติดตามรายงานข่าวจากต่างประเทศจะพบว่าเกือบทุกวันจะมีรายงานขององค์กรต่างๆ ทั่วโลก

ที่รายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันของคนในสังคมในเรื่องต่างๆ มากมาย นิยามของความเหลื่อมล้ำนี้ นำมาซึ่งปัญหาสังคมอีกหลายอย่างตามมา และสรุปว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง และดีที่สุดคือไม่มีความเหลื่อมล้ำเลย

สภาวะไม่มีความเหลื่อมล้ำเลยนี้ น่าจะเป็นเพียงอุดมคติของผู้ที่เชื่อในยุคพระศรีอาริย์ และเมื่อเป็นอุดมคติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับในความเป็นจริงว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เท่ากันทั้งหมด ระดับของความไม่เท่าเทียมนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมชาติที่ต้องยอมรับ ขอเพียงว่า อย่าให้ความเหลื่อมล้ำเกิดจากความมีอคติ ลำเอียง เลือกปฏิบัติ ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบที่ไม่เป็นธรรมในสังคม นอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องความแตกต่างในศักยภาพของมนุษย์ที่แม้จะเกิดมามีสองมือสองเท้าเหมือนกัน แต่สมองและสติปัญญานั้นย่อมไม่เท่ากัน

ตั้งแต่สมัยเริ่มเรียนหนังสือ เราคงได้ยินคำพูดของนักวิทยาศาสตร์อย่างเช่น อดัม สมิทธิ์ (Adam Smith) ที่พูดถึง การอยู่รอดของผู้ที่ฟิตที่สุด หรือ the survival of the fittest เพราะเป็นความจริงที่มนุษย์และสัตว์ตั้งแต่เกิดมามีความแข็งแรงต่างกัน สมองสติปัญญาต่างกันมีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน มีความสามารถในการแข่งขันต่างกัน จึงขึ้นอยู่กับว่าการแข่งขันนั้นเกิดในมหาสมุทรแบบไหน ผู้ที่กุมชัยชนะในสงครามรูปแบบหนึ่งอาจจะเป็นผู้แพ้เมื่อทำสงครามในอีกรูปแบบหนึ่ง ในทางธุรกิจ มักพูดว่า ใครเล่นตามเกมของใคร

การที่รัฐบาลหรือนักการเมืองออกมาพูดว่าจะแก้ไขไม่ให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นคำพูดที่เกินเลยความเป็นจริง แม้ว่าจะมีปรัชญาทางการเมืองของบางประเทศแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยการกำหนดให้ประชาชนทำงานเหมือนกัน เช่นระบบคอมมิวนิสต์ แล้วเอาผลผลิตมารวมกันเป็นกองกลาง ก่อนแบ่งให้ทุกคนคนละเท่าๆ กัน โดยไม่พิจารณาว่าใครสร้างผลผลิตมากกว่ากัน มองเผินๆ ดูเหมือนว่า นี่เป็นการแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้แล้ว เพราะทุกคนได้เท่ากันหมด แต่แท้ที่จริงนั้น ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ตั้งแต่กระบวนการการได้มาซึ่งผลผลิตที่ไม่เท่ากัน เพียงแต่รัฐเอามาจัดสรรใหม่ให้ทุกคนได้เท่ากัน ในที่สุดระบบคอมมูนิสต์ก็ล่มสลาย เพราะขัดกับหลักธรรมชาติ คนเก่งคนมีความสามารถไม่มีความกระตือรือล้นที่จะสร้างผลผลิตเยอะๆ ให้คนจำนวนมากมีกินมีใช้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเมื่อใช้สมองและแรงงานทุ่มเทลงทุน แต่เมื่อทำแล้วถูกรัฐจำกัดให้ได้ผลตอบแทนเท่ากันหมด ในที่สุดก็หมดแรง หมดกำลัง ไม่มีขวัญกำลังใจ ไม่รู้จะทุ่มเทไปเพื่ออะไร

ส่วนคนที่สร้างผลผลิตน้อยเพราะไม่มีศักยภาพ ไม่มีความสามารถ ก็ไม่ต้องกระตือรือล้นขวนขวาย พัฒนาตัวเอง เพราะไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้เหมือนกัน ได้เท่ากัน รัฐจัดให้อยู่แล้ว แบบนี้ศักยภาพของบุคคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ ทั้งๆ ที่ในบางครั้งบางคน มีบางศักยภาพที่ซ่อนอยู่ แต่ระบบที่ให้ทุกคนเท่ากันหมด ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องไปขุดค้น ไม่มีแรงจูงใจ

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพียงอยากเสนอแนวคิดเรื่องนโยบายที่รัฐจัดให้ประชาชนแบบถ้วนหน้า โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของคนที่ไม่เท่ากัน เพียงเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในการได้รับการดูแลจากรัฐ แต่รัฐไม่ได้ดูว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ำคืออะไร

ในโลกของทุนนิยม สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ (Income inequality) สูงที่สุดในโลก และสหรัฐเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง (Wealth inequality) สูงที่สุดในโลกเช่นกัน แต่ก็เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มสังคมนิยมเล็กๆ แถบแสกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันตก ที่มีความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้และความมั่งคั่งไม่มาก

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ประเด็นก็คือ ไม่ว่าจะมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ หรือความมั่งคั่งเพียงใด แต่ถ้ารัฐสามารถจัดให้บริการและสวัสดิการในระดับที่ประชาชนระดับล่างของประเทศสามารถมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดขึ้น คำตอบสุดท้ายในเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงไม่ได้อยู่ที่ความแตกต่างของตัวเลขรายได้หรือความมั่งคั่ง แต่อยู่ที่คุณภาพชีวิตของมนุษย์ในสังคมเดียวกัน

ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด ก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่อยู่ในมาตรฐาน ทั้งการมีชีวิตอยู่และการทำงาน อีกทั้งรัฐต้องเปิดโอกาสให้สร้างเสริมความสามารถ นำศักยภาพมาของแต่ละคนออกมาใช้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้มนุษย์ในสังคมนั้นๆก็จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตไม่ต่่ากว่ามาตรฐาน มีโอกาสเงยหน้าอ้าปากเท่าๆกัน ไม่มีคำว่าอคติ ลำเอียง เลือกปฏิบัติ