ถกเรื่องเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยง

ถกเรื่องเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยง

อาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมประชุมโต๊ะกลมนักวิชาการ 12 คน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จัดโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ร่วมกับสำนักวิจัยด้านเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และสำนักข่าวนิเคอิ เป็นสัมนาเปิดที่ประชาชนทั่วไปเข้าฟังได้ ถกกันในเรื่องความเสี่ยงด้านการเงินในเศรษฐกิจโลก และแนวทางที่ภูมิภาคเอเชียจะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว วันนี้เลยอยากเก็บตกประเด็นสำคัญและความเห็นที่ผมให้ไปมาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

เศรษฐกิจโลกขณะนี้ต้องบอกว่า น่าเป็นห่วงและคาดเดาลำบาก แต่ที่เห็นร่วมกันคือ ความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มสูงขึ้น อย่างที่ทราบ วิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้งจะเกิดจากปัญหาหนี้ และปัจจุบันสัญญาณความเปราะบางที่อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤติมีให้เห็นหลายด้าน กล่าวคือ

ระดับความเป็นหนี้ในเศรษฐกิจโลกขณะนี้สูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากและในหลายประเทศอุตสาหกรรม อัตราดอกเบี้ยติดลบ ทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจอาจทำไม่ได้ นอกจากนี้ ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ และญี่ปุ่น ระดับหนี้ภาครัฐก็สูง ทำให้ภาครัฐมีพื้นที่จำกัดที่จะใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องได้ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับสูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน และในบางอุตสาหกรรม เช่น อสังหาริมทรัพย์ สถานการณ์ในบางประเทศก็หมิ่นเหม่ต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ สิ่งเหล่านี้คือความเปราะบาง ที่สำคัญการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นก็จะยิ่งทำให้ความเปราะบางมีมากขึ้น สร้างแรงกดดันต่อความสามารถของบริษัทและครัวเรือนที่จะชำระหนี้

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเมืองโลกก็มีมากที่จะกระทบความสามารถในการแก้ไขและรับมือกับปัญหา เช่น ข้อขัดแย้งและการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน นโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้นแพร่หลาย สถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลางและสงครามไซเบอร์ระหว่างประเทศใหญ่ สิ่งเหล่านี้ทำลายความไว้วางใจของภาคธุรกิจและนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มและการรักษาเสถียรภาพในเศรษฐกิจโลก นำมาสู่คำถามว่า เศรษฐกิจโลกมีเครื่องมือและความสามารถพอหรือไม่ ที่จะรับมือกับปัญหา ถ้าความเสี่ยงเหล่านี้ถูกยกระดับและนำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจ นี่คือโจทย์ของการสัมนา

ผมได้ให้ความเห็นไปว่า ในกรณีของภูมิภาคเอเชีย ช่วง 20 ปี หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 ความสามารถของภูมิภาคเอเชียที่จะตั้งรับ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้เพิ่มสูงขึ้นมากเพราะเอเชียเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นและได้ปฏิรูปเศรษฐกิจหลายด้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสร้างกลไกป้องกันเพื่อไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีก ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ

หนึ่ง การปฏิรูปการดำเนินนโยบายการเงิน และระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้การทำนโยบายเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น เอื้อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวต่อแรงกระทบจากภายนอก เช่น การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว มีการปฏิรูปการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ตลาดพันธบัตร และตลาดทุน รวมถึงปรับปรุงธรรมาภิบาลในบริษัทเอกชนเพื่อลดความเสี่ยงต่อระบบที่อาจเกิดจากการทำธุรกิจที่ไม่ระมัดระวัง

สอง ความสามารถในการบริหารผลกระทบจากความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าออกก็มีมากขึ้นจากฐานะทุนสำรองทางการที่เข้มแข็งขึ้นและความพร้อมของประเทศในเอเชียที่จะใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน รวมถึงการวางระบบให้ความช่วยเหลือระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารกลางในกรณีฉุกเฉิน

สาม ความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อสร้างกลไกสอดส่องดูแลความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจร่วมกัน พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประเทศที่ประสบปัญหาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งของเอเชียก็คือ กลไกความริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (CMIM) โดยประเทศอาเซียนสิบประเทศร่วมกับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เชื่อมกับการให้ความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟ สิ่งเหล่านี้ ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนถึงความสามารถของภูมิภาคเอเชียที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น

นี่คือกลไกตั้งรับที่ภูมิภาคเอเชียมี แต่คำถามที่ยังไม่มีคำตอบคือ กลไกเหล่านี้จะเพียงพอและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในเอเชียในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติ

ในประเด็นนี้ ที่ประชุมได้หารือกันมาก และเห็นเหมือนกันว่า กลไกป้องกันเหล่านี้ ยังไม่เคยถูกทดสอบ และสำหรับกลไก CMIM ก็ยังมีหลายประเด็นที่สามารถปรับปรุงได้ เพื่อให้สามารถนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์จริงเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะประเด็นความรวดเร็วในการตัดสินใจ และกระบวนการเบิกจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือ แต่ที่สำคัญคือการสร้างกลไกให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องระยะสั้น ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ประเทศในอาเซียนมักประสบที่จะเสริมกลไก CMIM ที่มีอยู่ แต่คำถามสำคัญที่ยังไม่มีใครตอบได้คือ กลไกเหล่านี้จะสามารถรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่

ในเรื่องนี้ ที่ประชุมมองคล้ายกันว่า วิกฤติคราวหน้าถ้าเกิดขึ้นคงจะเป็นวิกฤติใหญ่เพราะความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้มีมาก และหลายความเสี่ยงสัมพันธ์กัน ขณะที่ระบบการป้องกันความเสี่ยงและระบบแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่มี ตั้งแต่ระดับโลกลงมาถึงระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ก็กระจัดกระจายและไม่ประสานกัน นอกจากนี้ความพร้อมที่ประเทศต่างๆ จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาก็ไม่เข้มแข็งเหมือนในอดีต ทำให้การระดมพลังจากประเทศต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาอาจเกิดขึ้นยาก

ดังนั้น การป้องกันไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นหรือลดทอนผลกระทบของวิกฤติ ต้องเริ่มจากแต่ละประเทศที่ต้องดูแลเศรษฐกิจของตนให้มีเสถียรภาพด้วยการทำนโยบายที่มีวินัย และปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวและบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้น

จากนั้นคือการร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างแนวป้องกันและกลไกช่วยเหลือระหว่างประเทศร่วมกันเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสของการเกิดปัญหาอย่างที่ประเทศในเอเชียกำลังทำอยู่ เช่น กรณีของกลไก CMIM ท้ายสุด คือ การรวมตัวกันเป็นเสียงเดียวในเวทีโลกที่จะผลักดันให้กลไกพหุภาคีกลับมาเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจโลกแทนที่จะให้เศรษฐกิจโลกหลุดไปตามกระแสการเจรจาต่อรองระหว่างคู่กรณี หรือBilateral deal อย่างที่กำลังเกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้จะทำให้กลไกต่างๆ ที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่หวัง เพื่อลดความเสี่ยงและหรือผลกระทบของวิกฤติ ซึ่งผมเห็นด้วย