จุดเจ็บของคนจน

  จุดเจ็บของคนจน

นักเศรษฐศาสตร์มักถูกหยอกเย้าอยู่บ่อยๆว่า ถามอะไร ก็ไม่ค่อยจะได้คำตอบที่ชัดเจน

บางคนบอกว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล มีมากมาย แต่ทำไมคนจนก็ยังมีทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ค้นพบอะไร ที่แก้ปัญหาความยากจน ได้บ้างเลยหรือ

 สัปดาห์นี้ เราได้รับคำตอบที่น่าสนใจ เพราะ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนา” (Development Economics) กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่เห็นผลยิ่งขึ้น ในการแก้ปัญหาความยากจน เพราะมีนักเศรษฐศาสตร์ 3 คน ที่ร่วมกันวิจัยหาคำตอบที่ชัดเจน พวกเขา ละเว้นปัญหาใหญ่ ที่จับต้องลำบาก ที่เรียกว่า ความยากจน แล้วเน้นแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง เป็นเรื่องๆไป

 เช่น รัฐควรจะใช้วิธีใด ในการส่งเสริมเด็กยากจนให้มีสุขภาพดีขึ้น หรือ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค ควรเป็นเช่นใด หรือ ทำอย่างไรคนจนจะเข้าถึงเครดิต หรือ เทคโนโลยี ได้มากยิ่งขึ้น  ทำอย่างไรเด็กยากจนจะมีผลการเรียนดีขึ้น เป็นต้น

 คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายรุ่น ก็เคยถามและมีคำตอบต่างๆกันมาแล้ว เพียงแต่ความแตกต่าง อยู่ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนนี้ หาคำตอบด้วยวิธีการ วิจัยภาคสนาม (Field Research) โดยตรง ทำให้ได้คำตอบชัดเจนหลายอย่าง เช่นพบว่าการปรับราคายา แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะได้ผลลัพท์ที่แตกต่างกันอย่างมาก ในการดูแลสุขภาพของเด็กยากจน

 ถ้าหากลูกติดเชื้อปาราสิต หรือโรคพยาธิ พวกเขาพบว่า 75% ของพ่อแม่ที่ยากจน จะให้ลูกทานยารักษา ถ้าหากว่ายารักษานั้นได้รับมาฟรีๆ แต่ถ้าต้องจ่ายเงินซื้อยา แม้ราคาไม่ถึง $1.00 ก็จะมีพ่อแม่เพียง 18% เท่านั้น ที่ยอมซื้อยาให้ลูกทาน 

 การค้นพบเช่นนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้แจกยาฟรี แก่เด็กยากจนทั่วโลก ถ้าหากพบว่าเด็กอยู่ในพื้นที่ที่มีเด็กมากกว่า 20% ติดเชื้อพยาธิ และทดสอบภาคสนาม ยังทำให้สามารถกำหนด นโยบายราคายาที่เหมาะสม สำหรับคนยากจน ได้ด้วย นอกจากนั้น เมื่อมีปัญหาครูที่ อินเดีย ขาดการสอนหนังสือบ่อยครั้ง งานวิจัยภาคสนามก็พบว่า ถ้าหากเปลี่ยนสัญญาจ้างครูเป็น สัญญาระยะสั้น และต่ออายุเมื่อผลการสอนออกมาดี ผลการสอบของนักเรียนก็ดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น

 การวิจัยภาคสนามของทั้งสามคน สามารถนำมาใช้กำหนดนโยบายได้หลากหลาย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ นักเศรษฐศาสตร์ระดับศาสตราจารย์ทั้งสามคน คือ Abhijit Banerjee และ Esther Duflo สองสามีภรรยาจาก MIT และ  Michael Kremer จาก Harvard จึงได้รับการยกย่องให้ได้รับ รางวัลโนเบล ประจำปี 2562" โดยคณะกรรมการฯ กล่าวว่า "เพียง 2 ทศวรรษ เท่านั้น การวิจัยเศรษฐศาสตร์ภาคสนาม ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ ของนักเศรษฐศาสตร์ ในสาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ไปแล้ว และ ผลงานของพวกเขา เพิ่มความสามารถของเราได้อย่างชัดเจน ในการปฎิบัติการต่อสู้เพื่อลดความยากจน"

 ในฐานะที่ผมเป็นนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ยุคเก่า ซึ่งได้ติดตามวิวัฒนาการใหม่ๆของวิชาเศรษฐศาสตร์มาตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การคลัง การลงทุน การผลิต ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องก็เป็นประโยชน์ ในการขับเคลื่อนความคิดทางเศรษฐศาสตร์ไปข้างหน้า แต่บอกตรงๆว่า ครั้งนี้ ผมรู้สึกประทับใจ ที่ได้เห็นวิชาเศรษฐศาสตร์ ได้รับการยกย่องว่า กำลังเกิดประโยชน์ที่จับต้องได้ คือนำไปสู่มาตรการที่ช่วยลดความยากจน ของคนที่ยากจนที่สุดทั่วโลก

 Abhijit เป็นหนุ่มชาวอินเดีย ส่วน Esther เป็นสาวชาวฝรั่งเศส คนแรกเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ในการทำวิทยานิพนธ์ของคนที่สอง โดยมี Michael ร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย หลังจากนั้นทั้งสามคนก็บุกเบิกการวิจัยภาคสนาม เพื่อนำไปสู่นโยบายลดความยากจนของคนทั่วโลก 

 Esther อายุ 46 ปี เป็นหญิงคนที่สอง ที่ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ และยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ เธอกล่าวว่าเธอหวังว่ารางวัลที่เธอได้รับ จะเป็น แรงบันดาลใจ ให้กับสตรีอีกจำนวนมาก

 เมื่อ 25 ปีก่อน Michael Kramer เดินทางไป เคนยา แทนที่เขาจะคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม คือศึกษานโยบายแก้ปัญหาความยากจนของเคนยา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เขากลับเลือกประเด็นที่จะศึกษาที่ย่อยลงมา เช่นเจาะเรื่องนโยบายการศึกษา สำหรับเด็กยากจนที่นั่น ทุกเรื่องที่ศึกษา เขาเริ่มด้วยการแสวงหา “นโยบายต่างๆ ที่น่าจะใช้แก้ปัญหาได้ แล้วจึง ลงภาคสนามเพื่อทดสอบว่า ในบรรดานโยบายที่คิดไว้นั้น วิธีใดได้ผลดีที่สุด

 หลังจากนั้น การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดย การทดสอบภาคสนาม ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว บางคนบอกว่าระยะเวลาเพียง 20 ปี ที่พวกเขาทั้งสาม  สามารถสร้างความกระเพื่อม และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐศาสตร์ได้ขนาดนี้ ถือว่าเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วอย่างมาก ส่วน Esther เองก็บอกว่า คุณค่าของรางวัลนี้ มิได้อยู่ที่พวกเขา 3 คนได้รับมา แต่อยู่ที่การศึกษาเศรษฐศาสตร์ ด้วยการทดสอบภาคสนาม ได้กลายเป็นกระแสใหม่ ที่ชัดเจนแล้ว

ถ้าหากว่าคนไทยเราจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้บ้าง ก็น่าจะอยู่ที่การเข้าใจว่า ปัญหาใดก็ตาม ถ้าเราจับปัญหาที่ใหญ่เกินไป ก็อาจแก้ปัญหาได้ไม่มากนัก แต่ถ้าเราใช้วิธีแยกเป็นปัญหาย่อย ทีละเรื่อง ที่พอจะจับต้องได้ จากนั้นก็ ทดสอบภาคสนามเพื่อหาคำตอบว่า วิธีใดได้ผลดีที่สุด ในการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างน้อยอะไรๆก็น่าจะได้ผลเร็วขึ้น

 รัฐบาลไทยทุกรัฐบาล ต่างมุ่งมั่นแก้ปัญหาความยากจน เช่นถ้าจะให้ให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีง่ายขึ้น ก็ต้อง แจกแทปเบล็ต ถ้าอยากให้เด็กได้รับการศึกษา ก็ต้องให้เรียนฟรี ถ้าอยากให้คนยากจนมีรายได้ ก็ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเริ่มทำการค้า ฯลฯ ซึ่งทุกวิธีก็คงได้ผลบ้าง มากน้อยต่างกันไป

 แต่ก็ไม่มีใครรู้จริงๆว่าวิธีไหนดีที่สุด เช่นการที่เด็กเรียนไม่ดี อาจเป็นเพราะไม่สบาย ขาดเรียนบ่อยๆ ถ้ากำหนดราคายาให้เหมาะสม เด็กยากจนสุขภาพดีขึ้น  ผลการเรียนอาจดีขึ้นก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น คงถึงเวลาแล้ว ที่นักเศรษฐศาสตร์จะเข้ามาช่วยได้ โดยใช้วิธีการทดสอบภาคสนาม เพื่อเปรียบเทียบว่าวิธีใด ได้ผลดีที่สุด

 ค่อยๆลดความยากจนลงไป ทีละเรื่อง... ทีละเปลาะ... แล้วจุดเจ็บของคนจน ก็จะคลี่คลายลงเสียที

 อย่างนี้ น่าจะดีไหมครับ