ทิศทางภาวะผู้นำธุรกิจสถานพยาบาล 2019+

ทิศทางภาวะผู้นำธุรกิจสถานพยาบาล 2019+

นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลกแล้ว หนึ่งในจุดเด่นทางธุรกิจของประเทศไทยคือเรื่องของการรักษาพยาบาล

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราได้มีการผูกเรื่องของการท่องเที่ยวเข้ากับการรักษาพยาบาล (Medical Tourism) เพื่อดึงดูดให้คนไข้จากนานาชาติมารักษาตัวในบ้านเราและถือโอกาสพักผ่อนท่องเที่ยวไปด้วย ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด

ทั้งนี้จากการจัดอันดับเรื่องประสิทธิภาพด้านการดูแลรักษาสุขภาพของบลูมเบิร์กเมื่อเดือนกันยายนของปี 2018 รายงานว่าในการสำรวจ 56 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 ซึ่งเป็นการไต่อันดับอย่างรวดเร็วจากตำแหน่งที่ 41 ในปี 2017 ส่วนมาเลเซียตามหลังไทยมาติดๆอยู่ที่อันดับ 29

และจะเชื่อหรือไม่ว่าอันดับหนึ่งของโลกคือ ฮ่องกง อันดับสองคือ สิงคโปร์ อันดับสาม สเปน อันดับสี่ อิตาลี อันดับห้า เกาหลีใต้ อันดับหก อิสราเอล อันดับเจ็ด ญี่ปุ่น อันดับแปดมีสองประเทศ คือออสเตรเลียและไต้หวัน และอันดับสิบคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือว่าเป็นม้าฝีเท้าแรงที่มีเงินอัดฉีดมากมายจนสามารถพัฒนาการรักษาพยาบาลให้มาอยู่ในระดับแนวหน้าได้ และมีผลทำให้จำนวนคนไข้ชาวตะวันออกกลางที่เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรักษาตัวลดน้อยลงไปมาก 

ในการจัดสำรวจของบลูมเบิร์กจะคัดเลือกประเทศที่จะสำรวจโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆต่อไปนี้คือ ค่าเฉลี่ยของช่วงชีวิต (Life span) ของประชากรในประเทศที่อย่างน้อยที่สุดต้องมีอายุถึง 70 ปี มีผลิตผลมวลรวมในประเทศต่อหัวเกิน 162,000 บาทต่อปีและจำนวนประชากรของประเทศต้องไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน จากอันดับของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคและทั่วโลก

จัดได้ว่าประเทศไทยมีความหวังมากที่จะก้าวหน้าพัฒนาให้เป็นหนึ่งใน Medical Hub ของอาเซียนและเอเซียได้ เพราะความสามารถของแพทย์และพยาบาลของเราก็ไม่น้อยหน้า เพียงแต่ว่ามีจำนวนน้อยไม่พอเพียงต่อความต้องการ และยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเรื่องของการบริหารจัดการและเทคโนโลยีต่างๆเพื่อผลักดันให้ไทยเราติดอันดับกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานการรักษาพยาบาลในระดับโลกได้อย่างแท้จริง และปัจจัยสุดท้ายก็คือเรื่องของค่าครองชีพและค่าแรงของเราก็ยังต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก (ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่ยั่งยืนในระยะยาว)  หากเรามีความสามารถในการจัดการที่ดี เป็นไปได้สูงที่ความฝันของเราจะเป็นจริง

เมื่อพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการก็ต้องอดพูดไม่ได้เรื่องความสามารถของผู้นำในธุรกิจการรักษาพยาบาล เพราะผู้นำมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลกระทบอย่างสูงต่อความสำเร็จขององค์กร หลายโรงพยาบาลมักมีแพทย์ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลด้วย ซึ่งหลายท่านก็ทำหน้าที่ด้านการบริหารจัดการได้ดี และหลายท่านก็ยังทำได้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามดิฉันไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเขียนบทความในครั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ว่าแพทย์สามารถทำหน้าที่บริหารได้ดีหรือไม่อย่างไร โดยวัตถุประสงค์ในการเขียนบทความครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าใครก็ตามที่จะมารับบทบาทเป็นผู้นำบริหารสถานพยาบาลในปัจจุบันต่อเนื่องจนถึงอนาคตอันใกล้พึงมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

เพราะในอนาคตนั้นเทคโนโลยีจะหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว จึงมีประเด็นท้าทายมากมายสำหรับผู้ที่จะบริหารธุรกิจสายนี้ ไหนจะเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีราคาสูง ไหนจะต้องบริหารต้นทุนและบริการให้ดีเพื่อแข่งขันให้ได้ อีกทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพและประสบการณ์ในสายนี้ก็หายาก แล้วยังจะมีเรื่องความแตกต่างของรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อีก ฯลฯ

จากการสำรวจข้อมูลของดิฉันพบว่าสถาบันการศึกษา โรงพยาบาลและสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพด้านนการรักษาพยาบาลที่มีชื่อเสียงติดอันดับท้อปเท็นของสหรัฐอเมริกาและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น เมโยคลินิค คลีฟแลนด์คลินิค จอห์นส์ ฮอปกิ้นส์ และ ACHE (The American College of Healthcare Executives) เป็นต้น ล้วนมีข้อมูล งานวิจัยและหลักสูตรในการพัฒนาผู้บริหารมืออาชีพของธุรกิจสถานพยาบาลไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

โดยในกรณีนี้ดิฉันขออ้างอิงข้อมูลที่ศึกษามาจากหลักสูตรและแบบประเมินความสามารถของผู้นำธุรกิจสถานพยาบาลของ ACHE เป็นหลัก เพราะมีความครอบคลุมเนื้อหาต่างๆดี เข้าใจง่ายและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของบรรดาแพทย์ พยาบาลและมืออาชีพสายบริหารสถานพยาบาลในสหรัฐอเมริกาและนานาประเทศ

สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นหูกับชื่อ ACHE ขอเรียนให้ทราบคร่าวๆว่า ACHE คือสถาบันหรือนัยหนึ่งคือสมาคมของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการรักษาพยาบาล เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคคลในสาขาวิชาอื่นที่ทำงานบริหารสถานพยาบาล ก่อตั้งมา 85 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณเกือบห้าหมื่นคน เป็นผู้นำจากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วโลก และในปี ค.ศ. 2519 นี้ ACHE ระบุว่าความสามารถ (Competencies) ที่ผู้บริหารระดับสูง (Executives) ในสายธุรกิจสถานพยาบาลพึงมี มีอยู่ 5 ประการหลัก คือ

1.การสื่อสารและการบริหารความสัมพันธ์ (Communication and Relationship Management) คงแปลกใจนะคะว่าทำไม ACHE จึงให้ปัจจัยเรื่องนี้มาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ถ้าได้ไปศึกษาเรื่อง Competencies ของผู้นำธุรกิจระดับโลก ท่านจะไม่แปลกใจ เพราะสิบปีหลังมานี้แนวโน้มการบริหารธุรกิจระดับโลกโดยทั่วไปจะให้ความสำคัญกับความสามารถด้านนี้มากขึ้นๆ จนสองสามปีหลังมานี้ เรื่องของการสื่อสารมาเป็นอันดับหนึ่งเลยค่ะ ยิ่งเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัยมากขึ้นเพียงใด ปรากฏว่าความสามารถของคนในการสื่อสารจูงใจคนกลับไม่ก้าวหน้าตามไปด้วย ยิ่งองค์กรมีบุคลากรจากหลายหลายสาขา จากต่างเชื้อชาติวัฒนธรรมและต่างวัย ก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนยุ่งยากให้กับผู้นำที่จะบริหารคน มีพนักงานคนเก่งเป็นร้อยเป็นพันแต่ทำงานเป็นทีมเดียวกันไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรสักเท่าไรค่ะ

2.ภาวะผู้นำ (Leadership) คือมีวิสัยทัศน์ที่เฉียบคม รู้จักสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในการทำงานที่สนับสนุนในคนทำงานภายในกรอบแนวความคิดความเชื่อเดียวกันได้ และต้องมีความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ด้วย

3.ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) คือต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมของวิชาชีพ ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสามารถสูงสุดในการให้บริการทางวิชาชีพ มีความรับผิดชอบสูงเป็นที่เชื่อถือได้ และมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

4.ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของสถานพยาบาล (Knowledge of the Healthcare Environment) กล่าวคือมีความเข้าใจระบบงานต่างๆของสถานพยาบาลและสิ่งแวดล้อมในที่ซึ่งทำการประกอบการ เข้าใจถึงผลกระทบที่สิ่งแวดล้อมมีต่อสถานพยาบาลและที่สถานพยาบาลมีต่อสิ่งแวดล้อม

5.ความรู้และทักษะธุรกิจ (Business Skills and Knowledge) หมายถึงความรู้และทักษะในการบริหารจัดการโดยทั่วไป (General Management) การบริหารการเงิน (Financial Management) การบริหารบุคลากร (Human Resource Management) การบริหารทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดผลงานสูงสุด การสร้างกลยุทธ์การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งในภาษาอังกฤษหมายถึงหัวข้อเรื่อง Organizational Dynamics and Governance การบริหารสารสนเทศ (Information Management)การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) การบริหารคุณภาพ (Quality Improvement) และความปลอดภัยของคนไข้ (Patient Safety)